มทส.จับมือ สสวท.และ สพฐ. จัดแถลงข่าวโชว์ความพร้อมจัดการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับนานาชาติ ครั้งแรกในไทย ช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค. 58 เล็งหัวกะทิ 28 ประเทศกว่า 260 คนเข้าร่วม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สถาบันการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แถลงข่าวความพร้อมการจัดแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์นานาชาติครั้งที่ 28 (The 28th International Young Physicists' Tournament) หรือ IYPT 2015 เพื่อเฟ้นหาแชมป์โลกด้านฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-4 ก.ค.58 ณ อาคารเรียนรวม มทส. จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558
ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. กล่าวว่า มทส.เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ มีการเรียนการสอนเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสาขาวิชา "ฟิสิกส์" ที่ได้รับผลประเมินจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในระดับดีเยี่ยมเป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกัน 3 รอบการประเมินจนถึงปัจจุบัน มทส.จึงได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ สสวท.และ สพฐ.จัดการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับนานาชาติครั้งที่ 28 ขึ้น ณ มทส. ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัยปีที่ 25 ในช่วงเดือน ก.ค.
อธิการบดี มทส. ระบุว่า การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ครั้งที่ 28 ที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นครั้งแรกที่มีจัดในไทย เป็นเวทีท้าทายความสามารถของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อหาแชมป์โลกด้านฟิสิกส์ ซึ่งผู้จัดประเมินไว้ว่าจะมีผู้เข้าแข่งขันจาก 28 ประเทศทั่วโลกกว่า 260 คน และจะเป็นแหล่งรวมผู้สนใจด้านฟิสิกส์ทั่วประเทศที่จะเดินทางมาร่วมชมอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คน นอกจากนี้ยังจะมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ครูและนักเรียนสังกัด สพฐ.จาก 207 โรงเรียนขึ้นด้วย
"การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์จะไม่เหมือนการแข่งขันฟิสิกส์ทั่วไป เราจะมีโจทย์ 17 ข้อที่เป็นปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันให้เยาวชนมาร่วมกันหาคำตอบโดยการแสดงแนวทางแก้ปัญหาตามหลักวิชาการฟิสิกส์ ซึ่งจะเป็นการแข่งขันที่สนุก ท้าทาย ได้รสชาติบนพื้นฐานแห่งวิทยาศาสตร์ โดยเราจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนต่างๆ นำนักเรียนร่วมสังเกตการแข่งขัน จำนวน 5 รอบ รอบละ 450 คน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงส่งเพื่อกระตุ้นให้ครูและนักเรียนเห็นความน่าสนใจในแง่มุมใหม่ๆ ของวิชาฟิสิกส์" อธิการบดี มทส.กล่าว
ด้าน ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท. เผยว่า การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2522 ที่ประเทศรัสเซีย ก่อนจะหมุนเวียนไปแข่งขันตามประเทศต่างๆ ที่เทียบได้กับการแข่งขันชิงถ้วยฟิสิกส์ระดับโลก (Phusics world cup) เป็นโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพเชิงวิชาการผ่านกิจกรรมระดับนานาชาติ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกรรมการตัดสินจากนานาประเทศ โดยลักษณะการแข่งขันจะคล้ายกับการโต้วาทีทางวิชาการ หรือการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ผ่านโจทย์ปัญหาปลายเปิด 17 ข้อที่ทุกทีมต้องทำการศึกษา ค้นคว้าทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาอธิบายเพื่อหาคำตอบ
การแข่งขันจะแบ่งเป็นทีม ทีมละ 3-5 คน แบ่งการแข่งเป็นรอบ แต่ละรอบจะมีทีมเข้าแข่งขันพร้อมกันบนเวที 3 ทีม ซึ่งจะผลัดกันเป็นผู้นำเสนอ ผู้ซักค้าน ผู้วิพากษ์เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการและทีมอื่นยอมรับในทฤษฎีและผลการทดลองของตัวเอง และฟังข้อคัดค้านจากทีมอื่นและหาเหตุผลมาอธิบายหักล้างและยังมีการซักค้านและการวิพากษ์ที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่จนครบทีม ดร.พรชัย ไล่เรียง
"ผมไม่ห่วงเด็กไทยเลยเรื่องฟิสิกส์ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นเป็นที่ประจักษ์ดีในเวทีโลก ว่าเด็กของเรามีศักยภาพ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของภาษาอังกฤษ เพราะเวทีนี้จะใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เด็กที่เป็นตัวแทนไปแข่งของประเทศจึงจะต้องถูกฝึกการใช้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีที่นอกจากเราจะได้กระตุ้นในเรื่องของฟิสิกส์ในเด็กไทยแล้ว ยังอาจจะได้เรื่องความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษตามมาด้วย" รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท.
ในส่วนของ นางพุทธชาต ทองกร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ สพฐ. เผยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การเรียนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะสาขาวิชาฟิสิกส์ได้รับความสนใจจากเยาวชนคือ การสื่อสารจากของจริงและการสร้างความตะหนักรู้โดยครูและสื่อมวลชน ให้เห็นว่าฟิสิกส์ไม่ใช่เรื่องที่ยาก ซึ่งการแข่งขันฟิสิกส์แบบสัประยุทธ์น่าจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เรื่องของฟิสิกส์ดูน่าสนใจ
สำหรับตัวแทนของประเทศไทยที่เข้าร่วมแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ในปีนี้มีทั้งสิ้น 5 คนได้แก่ น.ส.ชนาธิป ธนสารตั้งเจริญ โรงเรียนสตรีศรีน่าน, นาย นนทพัทธ์ สินสันธิเทศ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, นายนราวิชญ์ วงศ์คำมูล โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นาย ปณิธาน จิรสุวรรณกุล โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย และนาย เพียร ภวัครพันธ์ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย
ตัวแทนจากแต่ละประเทศต้องฝ่าฝันกับตัวอย่างโจทย์ฟิสิกส์ดังต่อไปนี้
-ถ้าเทียนที่กำลังลุกไหม้อยู่ถูกครอบด้วยแก้วโปร่ง เปลวไฟจะดับลงและเกิดกลุ่มควันขึ้น จงสืบเสาะลักษณะของกลุ่มคงันที่กำลังขยายต่างๆ
-สร้างฟิล์มสบู่เหนือโครงลักษณะแบนราบ ให้สนามไฟฟ้าในทิศขนานกับฟิล์มผิว จากนั้นจึงปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านตัวฟิล์ม ฟิล์มจะหมุนในนะนาบของมันเอง จงสืบเสาะและอธิบายปรากฏการณ์
-เราสามารถสร้างเสียงด้วยการเป่าลมจากใบหญ้า แถบกระดาษหรือของที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ จงสืบเสาะปรากฏการณ์
-นักฟิสิกส์รักการดื่มกาแฟ แต่การเดินไปมาระหว่างห้องปฏิบัติการพร้อมกับถ้วยกาแฟอาจสร้างปัญหาได้ จงสืบเสาะว่ารูปร่างของแก้ว อัตราเร็วในการเดินและปัจจัยอื่นๆ ส่งผลต่อความเป็นไปได้ที่กาแฟจะหกระหว่างเดินอย่างไร
*******************************