xs
xsm
sm
md
lg

แห่ชม "ดาวเสาร์" ใกล้โลกชัดสุดในรอบปีแน่นสมาคมดาราศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาเฝ้าดูดาวเสาร์ตั้งแต่ช่วงเย็น
ประชาชนหอบลูกจูงหลานเฝ้าชมปรากฏการณ์ "ดาวเสาร์ใกล้โลก" ชัดสุดในรอบปี ช่วงหัวค่ำวันที่ 23 พ.ค. แน่นสมาคมดาราศาสตร์ พร้อมพ่วงดูดาวศุกร์-ดาวพฤหัส ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก

น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าในค่ำคืนวันที่ 23 พ.ค. 2558 นี้ ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Opposition) ในลักษณะที่ดาวเสาร์ โลกและดวงอาทิตย์เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,341 ล้านกิโลเมตร คนบนโลกจะสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมากได้อย่างชัดเจน

"ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ตั้งแต่ 8.00น. ของวันนี้ (23 พ.ค.) แต่เนื่องจากเป็นเวลากลางวัน ดวงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า เราจึงเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำที่เวลาประมาณ 19.22 น. โดยดาวเสาร์สุกสว่างจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกประมาณ 11 องศา บริเวณช่วงหัวของดาวแมงป่องยาวนานทั้งคืน และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 24 พ.ค." นายกสมาคมดาราศาสตร์กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทั้งนี้ สามารถสังเกตปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกได้ด้วยตาเปล่าและกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งช่วยให้เห็นรายละเอียดของดวงดาวได้ชัดเจนกว่า โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงไว้ให้บริการแก่ประชาชนด้วย ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ไปจนถึงเวลา 21.00 น. ณ ด้านหน้าสมาคมดาราศาสตร์ไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการ เอกมัย กรุงเทพฯ (ท้องฟ้าจำลองเอกมัย) พร้อมกับการบรรยายให้ความรู้จากนักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิก และนักดาราศาสตร์จากสมาคมดาราศาสตร์ไทยในวันดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ นายกสมาคมดาราศาสตร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากค่ำคืนที่ 23 พ.ค.มีปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกให้ได้สังเกตแล้ว ยังมีดาวเคราะห์ที่น่าสนใจบนท้องฟ้าอีก 2 ดวงด้วยคือ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ที่จะออกมาให้ยลโฉมในช่วงหัวค่ำ โดยดาวศุกร์จะปรากฏทางทิศตะวันตก มีความสว่างที่อยู่อยู่เคียงข้างดวงจันทร์ ส่วนดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่บริเวณกลางท้องฟ้าในกลุ่มดาวปูซึ่งมีความสว่างพอให้สังเกตได้ด้วยตาเปล่าเช่นกัน โดยปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกครั้งล่าสุดเกิดขึ้นวันที่ 10 พ.ค. 2557 และครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 มิ.ย. 2559

ด้าน นายอุดม ปิ่นบุตร อายุ 52 ปี ประชาชนผู้สนใจมาร่วมชมปรากฏการณ์กับสมาคมดาราศาสตร์ไทยเผยกับทีมขืาววิทยาศาตร์ ASTv-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เขาเดินทางมาจากบ้านย่านฝั่งธนบุรีเพื่อมาชมปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกโดยเฉพาะ เขาไม่เคยเห็นดาวเสาร์ด้วยตาตัวเอง และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้ชมดาวเสาร์จากกล้องโทรทรรศน์ เพราะปกติเขาจะศึกษาดาวจากภาพถ่ายและภาพกราฟฟิกในเว็บไซต์ดาราศาสตร์ของต่างประเทศ

นอกจากนี้อุดมยังกล่าวด้วยว่า จะใช้โอกาสที่ได้มาชมดาวเสาร์ในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาดาราศาสตร์แบบจริงจัง เพราะมีความชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก และมีภาพ Starry night ที่เป็นภาพวาดดวงดาวของ "วินเซนต์ แวนโกะ" เป็นรูปภาพประจำดวงใจ ซึ่งเขาเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่สายเกินไปแม้ตัวเองจะอายุมากแล้วก็ตาม

ในส่วนของ นายมงคล พิทักษ์หมู่ นักดูดาวสมัครเล่นวัย 54 ปี เผยว่า เขาดูดาวอยู่บ่อยครั้งและจะมาร่วมกิจกรรมกับทางสมาคมฯ ทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ สำหรับดาวเสาร์ใกล้โลกครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเขา แต่เขาก็จะพลาดชมไม่ได้ เพราะเป็นความชอบส่วนตัวที่ถ้าไม่ได้มาดูจะถือว่าตัวเองพลาดสิ่งสำคัญ

ส่วนครอบครัวหรรษาอย่างครอบครัวพยงค์ศรี ที่ยกกันมาทั้งบ้านตั้งแต่พ่อ แม่ ลูก กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ได้ทราบข่าวจากสังคมออนไลน์ว่าวันนี้มีปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกจึงเดินทางมายังสมาคมดาราศาสตร์เพื่อชมดาวเสาร์โดยเฉพาะ ซึ่งคุณพ่อเผยว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยเห็นดาวจากกล้องมาก่อน เคยแต่ชมจากสารคดี การมาชมครั้งนี้จึงเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับเขาและจะพาลูกมาชมดาวให้ได้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

ในส่วนของ นายสมคิด สินห์ทอง พ่อบ้านวัย 32 ปี ที่พาลูกสาวอย่างน้องนาโน ด.ญ.เสาวรินทร์ สินห์ทอง วัย 7 ขวบ และน้องโดนัท ด.ญ.จิรภิญญา สินห์ทอง น้องคนเล็กวัย 6 ขวบ มาร่วมชมดาวเสาร์ในครั้งนี้ เผยว่า สำหรับเขาการดูดาวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เพราะชื่นชอบการดูดาวจนตัดสินใจซื้อกล้องโทรทรรศน์มาไว้ที่บ้าน แต่นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับลูกสาวทั้ง 2 คน ที่จะได้ชมดาวเคราะห์ร่วมกับคนอื่นๆ และได้มาเห็นบรรยากาศดารดูดาวของจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการปลูกฝังให้ลูกๆ ได้รู้จักวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง

สมคิด เผยว่า ตัวเขาดูดาวทุกวัน บางทีก็เรียกลูกมาดูด้วย สอนบ้างบอกบ้าง แต่เด็กคงยังจำอะไรไม่ได้มากนั่นเป็นสิ่งที่พ่อทราบดี เพื่อให้ลูกได้เจอบรรยากาศใหม่ๆ พอทราบข่าวว่ามีกิจกรรมดูดาวจึงพาเด็กๆ มาดู อยากให้ลูกเห็นสังคมวิทยาศาสตร์ เห็นดวงดาวของจริง

"หนูเคยเห็นดาวเสาร์ที่พ่อตั้งกล้องให้ดูค่ะ แต่หนูจำไม่ได้แล้วว่าหน้าตามันเป็นยังไง พ่อเลยพามาที่นี่" น้องนาโนลูกสาวคนโตของครอบครัวสินห์ทองกล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

สำหรับบรรยากาศโดยรอบของสมาคมดาราศาสตร์ไทยเป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนทยอยเดินทางมาชมดาวนับ 50 ชีวิตตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ที่แม้ว่าดาวเสาร์จะยังไม่ปรากฏตัวก็ยังไม่ย่อท้อ ดูดาวอื่นๆ เช่น ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ กระจุกดาวและพื้นผิวดวงจันทร์ที่วิทยากรจัดตำแหน่งกล้องให้อย่างตั้งอกตั้งใจ

อย่างไรก็ดีจนถึงเวลา 20.30 น. ดาวเสาร์ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็น คนส่วนใหญ่จึงเดินทางกลับเหลือเพียงกลุ่มครอบครัวเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เนื่องจากสภาพท้องฟ้ามีเมฆมากและมีตึกสูงอยู่มาก การตั้งกล้องเพื่อสังเกตดาวเสาร์ใกล้โลกบริเวณเอกมัยจึงยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องรอให้ดาวเสาร์เคลื่อนขึ้นจากขอบฟ้าจนพ้นตึกสูงเสียก่อน ขณะที่วิทยากรคาดคะเนว่า ก่อน 22.00 น.น่าจะได้เห็นดาวเสาร์ใกล้โลกอย่างชัดเจน
สมาคมดาราศาสตร์ไทยตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้บริการประชาชนบริเวณด้านข้างของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ครอบครัวพยงศ์ศรี
ครอบครัวสินห์ทอง
ภาพจำลองทางคอมพิวเตอร์ของดาวเสาร์ที่ได้จากการนำภาพนำพันๆ ใบที่ถ่ายได้จากยานอวกาศแคสสินีทำให้เห็นพื้นผิวและวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน (CREDIT PHOTO: CASSINI TEAM, NASA)
ภาพถ่ายดาวเสาร์จากกล้องโทรทรรศน์ที่ถูกบันทึกไว้โดยนักดาราศาสตร์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย








*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น