วิศวกรแจงถนนเมืองสุรินทร์ยกตัวเป็นผลจาก "ความร้อน” คาดเว้นช่วงรอยต่อถนนน้อยไป ไม่มีพื้นที่ให้คอนกรีตขยายตัว ย้ำชัด! ไม่เกี่ยวแผ่นดินไหวคนเพราะสุรินทร์อยู่นอกโซน แนะทำแนวยางอุดรอยต่อถี่ขึ้นรับมือสภาพอากาศร้อนเลวร้าย
เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 13 พ.ค.58 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุถนนคอนกรีตยกตัว เกิดรอยแตกร้าวเป็นแนวยาวเผยให้เห็นโพรงใต้ถนน ในพื้นที่บ้านนาเกาและบ้านบึง ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ จนชาวบ้านต่างพากันออกมากราบไหว้เชื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสันนิษฐานถึงสาเหตุต่างๆ นานา ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์จึงสอบถามไปยังรองเลขาธิการสภาวิศวกร เพื่อไขความข้องใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร รองเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า จากภาพข่าวถนนยกตัวที่เห็น เบื้องต้นสันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากความร้อนที่ทำให้พื้นคอนกรีตเกิดการขยายตัวชนกันจึงแอ่นขึ้นเป็นโพรง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าบริเวณที่เกิดรอยแตก คือส่วนของรอยต่อระหว่างแผ่นถนน ซึ่งเป็นแนวปะทะระหว่างส่วนปลายของแผ่นคอนกรีตแต่ละแผ่น
"ปกติจะต้องใช้วัสดุอุดรอยต่อเพื่อรองรับกับการขยายตัวของถนน ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีนี้น่าจะเกิดจากปลายแผ่นคอนกรีตของถนนบริเวณนั้นเกิดการขยายตัวมาก จนสุดช่องว่างของถนน ทำให้วัสดุอุดรอยต่อที่ทำเอาไว้เอาไม่อยู่ ทำให้แผ่นคอนกรีตทั้ง 2 แผ่นต่างขยายตัวจนปะทะกันเกิดเป็นรอยแตกร้าวและโพรงใต้ถนนตามภาพที่เห็น" ศ.ดร.อมร อธิบาย
ส่วนการยกตัวจนโก่งขึ้นเผยให้เห็นโพรงใต้ดิน ศ.ดร.อมร ระบุว่า เป็นเพราะการกระจายความร้อนที่ไม่สม่ำเสมอของแผ่นคอนกรีต กล่าวคือแผ่นคอนกรีตด้านบนที่รับแสงอาทิตย์โดยตรงจะได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์สะสมไว้มากกว่าด้านล่าง ดังนั้น แผ่นคอนกรีดด้านบนจึงขยายตัวมากกว่าด้านล่าง และการขยายตัวที่ไม่เท่ากันนี้จึงทำให้ส่วนปลายของแผ่นคอนกรีตถนนด้านบนชนกันก่อนจึงค่อยๆ ส่งแรงปะทะต่อกันจนยกตัวโก่งขึ้นและเกิดรอยแตกบนผิวถนนในที่สุด ซึ่งโพรงที่เห็นก็คือส่วนต่อระหว่างชั้นคอนกรีตและชั้นดินปกติ เมื่อถนนโก่งตัวขึ้นจึงเผยให้เห็นช่องว่างที่อยู่ระหว่างชั้นคอนกรีตและชั้นดินก็เท่านั้น
“การเกิดถนนยกตัวนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ปกติมากแค่เราอาจจะคุ้นเคยกับถนนทรุดมากกว่า อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานเรื่องนี้น่าจะเกิดจากความร้อนค่อนข้างชัดเจน เราต้องเข้าใจก่อนว่าแผ่นคอนกรีตที่สร้างถนนมันหนา แล้วมันก็ขยายตัวได้เมื่อได้รับความร้อนตามหลักการขยายตัวเนื่องจากความร้อน (Thermal Expansion) ดังนั้นเราจะเห็นว่าในทุกๆ 4-5 เมตรของถนนจะมีเส้นยางมะตอยชนิดพิเศษ สีดำๆ คล้ำๆ ป็นวัสดุอุดรอยต่อเชื่อมระหว่างแผ่นถนน หรือไม่ก็ช่องว่างระหว่างแผ่นคอนกรีตอยู่ นี่คือสิ่งที่วิศวกรออกแบบไว้เพื่อรองรับการขยายของถนนเมื่อได้รับอุณหภูมิสูงๆ" รองเลขาธิการสภาวิศวกรกล่าว
ศ.ดร.อมร ให้ข้อสันนิษฐานแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเพราะมีการวางช่วงรอยต่อถนนที่สั้นเกินไป หรือถนนมันขยายตัวมากเกินไปเพราะความร้อนสูงมากเพียงเท่านั้นครับ เพราะแดดประเทศไทยก็ไม่ธรรมดา อุณหภูมิกว่า 40 องศาเซลเซียสเกือบ 50 องศาเซลเซียส ด้านบนคอนกรีตที่ได้รับแดดจึงสะสมความร้อนไว้มาก เมื่อได้รับความร้อนมากก็ขยายมากจนคอนกรีตเกิดการบวมและยกตัวขึ้นมา
ส่วนควันก๊าซสีขาวที่ชาวบ้านเห็นและตั้งข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความร้อนหรือกลุ่มก๊าซใต้ดิน แต่ศ.ดร.อมร ไม่ระบุความเห็น เพราะคลิปวิดิโอและรูปภาพที่ได้ชมไม่เพียงพอต่อการตอบคำถามตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะยังไม่ได้ลงพื้นที่ และไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นก๊าซที่เกิดเองหรือเป็นควันธูปที่ชาวบ้านจุดไว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ เขายังไม่เคยเห็นการรายงานหรือ เอกสารวิชาการใดๆ ที่ระบุว่าพบก๊าซจากใต้ดินที่มีแรงดันสูงมากจนทำให้ถนนยกตัว
นอกจากนี้ ศ.ดร.อมร ยังให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักวิธีในการสร้างถนนแนวคอนกรีตเบื้องต้นด้วยว่า จะต้องเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ของวิศวกรโยธาเพื่อดูชั้นดิน ดูความเหมาะสมเพื่อวางแผนการสร้างในแต่ละพื้นที่ก่อน จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการบดอัดชั้นดินด้วยรถล้อเหล็ก เพื่อให้ดินมีความแข็งคงตัวไม่ทรุดหรือโก่งตัวได้ง่ายจึงค่อยทำถนน
"สิ่งสำคัญนอกจากการออกแบบผังถนนก็คือการสร้างให้ถนนให้ถูกต้องตามหลัก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการระบุให้แบ่งถนนออกเป็นช่วงๆ เพื่อรองรับกับการขยายของถนนไว้เป็นที่เรียบร้อย ทั้งถนนคอนกรีตและถนนยางมะตอย เพื่อป้องกันการขยายของถนนที่อาจทำให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ถือเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่สุดของการสร้างถนนทุกสายเลย" ผศ.ดร.อมรกล่าว
ส่วนปัจจัยหลักของการสร้างถนน คือการสำรวจพื้นที่และการคำนึงถึงการขยายตัวและหดตัวของถนน และต้องจำให้ขึ้นใจว่า ถนนไม่มีเสาเข็ม ดังนั้นจะสร้างดี ไม่ดี พัง ไม่พัง ยุบหรือยก ขึ้นอยู่กับดินทั้งสิ้น ดินเดิมต้องแน่น ต้องอัดลงไปให้แน่น เพราะถนนที่ทำใหม่ทำอยู่บนดิน
"ที่ผ่านมาเราเลยได้ยินข่าวว่าถนนทรุด กับถนนแยกมากกว่าถนนยกตัว เช่นที่ผ่านมาไม่นานเกิดถนนแยกที่ จ.เชียงราย กรณีนั้นเกิดจากดินทรุด เพราะน้ำในทรายออกไปทำให้ดินไม่เกาะตัว จึงค่อนข้างมั่นใจว่าที่ถนนบวมเนี่ยเป็นเพราะคอนกรีตขยายไม่ใช่สาเหตุอื่น แต่ยังฟังธง 100% ไม่ได้เพราะยังไม่ได้ลงพื้นที่ แต่ที่แน่ใจสุดๆ คือไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวแน่นอน อย่าเอามาโยงกัน เพราะสุรินทร์ไม่ได้อยู่ในโซนที่จะได้รับอิทธิพลจากแผ่นดินไหวเลย” รองเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ท้ายสุดรองเลขาธิการสภาวิศวกร ยังฝากถึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ด้วยว่า ไม่ต้องตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้หลีกเลี่ยงใช้ถนนเส้นนั้นไปก่อน เพราะพื้นผิวจราจรที่ไม่เรียบอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนการซ่อมบำรุงควรให้เป็นไปตามความรับผิดชอบของหน่วยงานในพื้นที่ตามพิจารณา อาจซ่อมแซมเพียงแค่ผิวถนนในระยะสั้นๆ ที่มีการยกตัว หรือเทคอนกรีตใหม่และเว้นระยะสำหรับวัสดุอุดรอยต่อให้มากขึ้นก็ยิ่งดี โดยตัวเขาจะดำเนินการติดต่อไปยังสภาวิศวกรเพื่อลงพื้นที่ไปดูด้วยตาตัวเองอีกครั้งให้เร็วที่สุดอีกด้วย
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร รองเลขาธิการสภาวิศวกร
*******************************