xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ชี้เนปาลไหวอีก 7.3 เป็นผลจากปฏิกิริยาลูกโซ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่กู้ภัยคนหาผู้รอดชีวิตใต้ซากปลักหักพังในกาฐมัณฑุ หลังแผ่นดินไหวอีกครั้งขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. (AFP PHOTO / PRAKASH MATHEMA)
นักวิทยาศาสตร์ชี้แผ่นดินไหวเนปาลอีกรอบขนาด 7.3 หลังแผ่นดินไหวรุนแรง 7.8 เพียง 17 วัน เป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาลูกโซ่ในบริเวณที่มีแผ่นดินสั่นสะเทือนอยู่หนาแน่น โดยแผ่นดินไหวใหญ่ได้ย้ายความเครียดไปยังส่วนอื่นของรอยเลื่อนเปลือกโลก เป็นเหตุให้เกิดการแตกออก

อ้างตามรายงานของเอเอฟพี คาร์เมน โซลานา (Carmen Solana) นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) ของอังกฤษ กล่าวว่า แผ่นดินไหวใหญ่มักตามมาด้วยแผ่นดินไหวอื่น บางครั้งมีขนาดใหญ่เท่ากับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อน

“เป็นเช่นนี้เพราะการเคลื่อนไหวที่เกิดการไหวครั้งแรกได้เพิ่มความเครียดไปยังรอยเลื่อนอื่นๆ และทำให้รอยเลื่อนเหล่านั้นไม่เสถียร มันคือปฏิกิริยาลูกโซ่” โซลานาเผยแก่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Media Centre: SMC) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีฐานในลอนดอน

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานของโลก (SEIS-SCOPE) ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 12 พ.ค.นั้นไม่ใช่แผ่นดินไหวตาม (Aftershock) แต่เป็นแผ่นดินไหวอีกเหตุการณ์ที่มีขนาดถึง 7.3 และแตกต่างจากแผ่นดินไหวก่อนหน้าขนาด 7.8 เพียงเล็กน้อย และควรเรียกว่าเป็นแผ่นดินไหวซ้อน (Double shock) มากกว่าแผ่นดินไหวตาม

แผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2015 ปะทะฝั่งตะวันออกของกาฐมัณฑุเมืองหลวงของเนปาลเป็นระยะทาง 76 กิโลเมตรทาง และเกิดแผ่นดินไหวตามขนาด 6.3 หลังจากนั้นอีกชั่วโมงครึ่ง แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 เม.ย.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เป็นระยะทางเดียวกันทางฝั่งตะวันตกของกาฐมัณฑุที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 8,000 คน โดยทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นบนรอยเลื่อนเดียวกันที่แผ่นเปลือกโลกอินเดีย (หรืออินโด-ออสเตรเลีย) และยูเรเซียมาเจอกัน แล้วเกิดการชนและเบียดกัน

“นับแต่แผ่นดินไหวครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. แผ่นดินไหวตามเกิดขยับลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ และมีรอยแยกใต้แผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนจากทิศตะวันตกไปตะวันออกอย่างฉับพลัน และการไหวครั้งที่สองนี้ก็เป็นการขยายของกระบวนการดังกล่าว” ไนเกล แฮร์ริส (Nigel Harris) ศาสตราจารย์ด้านแผ่นเปลือกโลกจากมหาวิทยาลัยโอเพน (Open University) ในอังกฤษเผยแก่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์

สำหรับแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เม.ย.และ 12 พ.ค.นั้นเกิดขึ้นระดับตื้นๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่านั่นทำให้พื้นดินสั่นสะเทือนมากกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในระดับลึกๆ

ทางด้าน ปาสคาล เบอร์นาร์ด (Pascal Bernard) นักแผ่นดินไหวจากสถาบันฟิสิกส์โลก (Institute for Planetary Physics) ในปารีส ฝรั่งเศส ให้ข้อมูลว่า แผ่นดินไหวตามในพื้นที่ดังกล่าวไม่น่าจะมีขนาดเกิน 5.0 โดยกว่า 80 ปีก่อนแผ่นดินไหวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางตะวันออกของเนปาลเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.1 เมื่อปี 1934 และมีคนทั้งในเนปาลและอินเดียที่อยู่ใกล้เคียงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวราว 10,700 คน

“นี่หมายความว่าแรงกดดันระหว่างแผ่นเปลือกโลกในภูมิภาคนีได้ปลดปล่อยไปมากแล้ว” เบอร์นาร์ดเผยแก่เอเอฟพี

ทั้งนี้ ณ จุดที่แผ่นเปลือกโลกมาบรรจบกันแผ่นเปลือกโลกอินเดียได้ขยับสูงขึ้นปีละ 2 เซ็นติเมตร ทว่า การขยับดังกล่าวไม่ได้ราบลื่น แต่หนักไปด้วยแรงเสียดทาน นำไปสู่การสั่นสะเทือนที่รุนแรงและอันตรายเมื่อความเครียดสะสม ขณะที่ทางด้านองค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐ (U.S. Geological Survey) หรือ ยูเอสจีเอส (USGS) รายงานไว้ในเว็บไซต์ว่า ขอบเปลือกโลกทั้งอินเดียและยูเรเซียนั้นมีประวัติเกิดแผ่นดินไหวใหญ่และรุนแรงมาแล้ว เมื่อเทียบเหตุการณ์วันที่ 25 เม.ย.นับย้อนกับไปในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวเคยเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ขนาด 6.0 หรือใหญ่กว่านั้นภายในรัศมี 250 กิโลเมตรมาแล้ว 4 ครั้ง
เจ้าหน้าที่กู้ภัยคนหาผู้รอดชีวิตใต้ซากปลักหักพังในกาฐมัณฑุ หลังแผ่นดินไหวอีกครั้งขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. (AFP PHOTO / PRAKASH MATHEMA)

ญาติๆ ปลอบหญิงชาวอินเดียในเมืองพัฐนา (Patna) รัฐพิหาร (Bihar) ที่สูญเสียสามีจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2015 ในกาฐมัณฑุ เนปาลขนาด 7.3 ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามและส่งผลกระทบถึงชายแดนอินเดียทางตอนเหนือ (AFP PHOTO/STR)
อ่านเพิ่มเติม

รู้ไหมว่า...ใครก็ทายได้ว่าจะเกิด “แผ่นดินไหว” ขนาดเท่าไร?

ดีที่สุดตอนนี้...เตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ 4 วินาที! (คลิป)







*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น