“ห้องรกหน่อยนะครับ เราเพิ่งกลับจากสำรวจภาคสนามมา” นักฟิสิกส์ธรณีผู้ตอบรับการให้สัมภาษณ์ นำเราเข้าสู่ห้องทำงาน ที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเรียงรายขนาบซ้าย-ขวา และมีอุปกรณ์มากมายอัดแน่นอยู่ภายในห้องแคบๆ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของทั้งอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย
ผลพวงจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เนปาลเมื่อ 25 เม.ย.และ 12 พ.ค.58 ขณะเดียวก็มีแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ในเมืองไทยที่ อ.เกาะยาว จ.ภูเก็ต เมื่อ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวลือและข่าวลวงในจังหวะผู้คนตื่นตระหนกต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ผลักให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ออกไปแสวงหาความกระจ่าง
เราตัดสินใจต่อสายตรงไปยัง ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานของโลก (SEIS-SCOPE) ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาแผ่นดินไหวด้วยเครื่องไม้เครื่องมือสำรวจและวัดค่าต่างๆ ของพื้นดิน และงานกว่าครึ่งของเขาเป็นเรื่องแผ่นดินไหว
“แผ่นดินไหว” ศาสตร์ที่ซับซ้อน
ผศ.ดร.ภาสกรนิยามตัวเองว่าเป็น “นักธรณีฟิสิกส์” ในขอบข่ายการศึกษาของเขานั้นกว้างกว่าแค่เรื่องแผ่นดินไหว ขณะเดียวกันการศึกษาทางด้านแผ่นดินไหวก็ใช้หลายๆ ศาสตร์ ทั้งศาสตร์ทางด้านธรณีวิทยา ศาสตร์ทางด้านธรณีฟิสิกส์ ศาสตร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหว และในบางครั้งต้องใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมร่วมด้วย และเมื่อพูดถึงแผ่นดินไหวในเมืองไทยจะหมายถึง 2 ส่วน คือ ส่วนของการศึกษาทางด้านธรณีวิทยา ดูในเรื่องรอยเลื่อน และส่วนที่ศึกษาข้อมูลแผ่นดินไหวและนำข้อมูลมาวิเคราะห์
“ถ้านิยามตัวเอง ผมเป็นคนที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงโลกในด้านต่างๆ แผ่นดินไหวก็เป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมจึงศึกษาหลายๆ อย่าง ตอนนี้ศึกษาในเรื่องลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว ลักษณะรอยเลื่อน โครงสร้างใต้แผ่นเปลือกโลก โดยเน้นประเทศไทยเป็นหลัก ดูว่ารอยเลื่อนแต่ละรอยเลื่อนมีพลังมากน้อยแค่ไหน มีหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตมาก่อนไหม และมีศักยภาพให้เกิดแผ่นดินไหวในอนาคตมากน้อยแค่ไหน โดยอาศัยเครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์” ผศ.ดร.ภาสกรกล่าว
ศาสตร์ทางด้านแผ่นดินไหวเป็นศาสตร์ที่ซับซ้อน เพราะแผ่นดินไหวเกิดจากการที่โลกไม่ได้เป็นเนื้อเดียว โลกมีหลายแผ่นเปลือกโลก และแต่ละแผ่นเปลือกโลกมีคุณสมบัติทางเคมี คุณสมบัติฟิสิกส์ต่างกัน ดังนั้น เมื่อศึกษาแบบจำลองแผ่นดินไหวของบริเวณหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าแบบจำลองของบริเวณนั้นจะใช้เป็นตัวแทนของบริเวณอื่นได้ โดย ผศ.ดร.ภาสกรได้ยกตัวอย่างลักษณะทางธรณีวิทยาของภูเก็ตที่แตกต่างจากเชียงใหม่ ดังนั้นเราไม่สามารถเอาแบบจำลองแผ่นดินไหวที่ภูเก็ตไปใช้สมมติกับเชียงใหม่ได้
“ฉะนั้นเราต้องศึกษาให้เยอะที่สุด นั่นคือสิ่งหนึ่ง แต่ข้อจำกัดในการศึกษาโลกของเราคือ เราศึกษาลงไปไม่ได้ลึกมากนัก เราเจาะหลุมสำรวจลงไปประมาณ 7 กิโลเมตร หลังจากนั้นเจาะไม่ได้แล้ว ดังนั้น ส่วนที่เหลือคือการเอาข้อมูลมาสร้างแบบจำลองเพื่อให้เกิดภาพ และข้อจำกัดในการศึกษาโลกก็เป็นข้อจำกัดในการศึกษาแผ่นดินไหวด้วย” นักธรณีฟิสิกส์ จาก ม.เกษตร กล่าว
อย่างกรณีแผ่นดินไหวเนปาลจากการชนกันของเปลือกโลก 2,000 กิโลเมตรนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ทราบว่าตลอด 2,000 กิโลเมตรนั้น เปลือกโลกชนกันด้วยแรงมากแค่ไหน นักวิทยาศาสตร์รู้แค่ในระดับหนึ่งเพราะการศึกษาเรื่องนี้ใช้งบเยอะ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงศึกษาโดยแบ่งพื้นที่ในระดับที่พวกเขาสามารถศึกษาได้ ภายใต้งบประมาณและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ก็มีน้อย
“แบบจำลอง” เครื่องมืออธิบายแผ่นดินไหว
ผศ.ดร.ภาสกรย้ำว่าการอธิบายเรื่องแผ่นดินไหวจำเป็นต้องมีแบบจำลอง หากไม่มีแบบจำลองก็ทำได้แค่เดา เช่น ถามเรื่องแผ่นดินไหวที่เนปาลซึ่งเขาไม่ได้ลงมือศึกษาเอง เขาก็ทำได้เดาไปตามข้อมูลที่มี ซึ่งจุดนี้เป็นความแตกต่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์ไทยและนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ซึ่งต่างประเทศจะมีข้อมูลเชิงตัวเลขหรือปริมาณกำกับทุกครั้ง
ความแตกต่างดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมเรื่องเครื่องมือสำหรับบันทึกข้อมูลพื้นฐานสำหรับนำไปวิเคราะห์แผ่นดินไหว ซึ่งต่างประเทศเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานกันมาเป็นร้อยปี แต่สำหรับเมืองไทยเพิ่งเริ่มเก็บข้อมูลเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา แม้หลังเกิดสึนามิในปี 2547 จะมีข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวมากขึ้น แต่ ผศ.ดร.ภาสกรระบุว่า ไทยยังขาดข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจัย ซึ่งต้องอาศัยการเก็บข้อมูลจากเครื่องมือที่มีราคาแพง
รวมถึงการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรอยเลื่อนในเมืองไทย แม้เราจะทราบว่ามีรอยเลื่อนมีพลัง 14 รอยเลื่อน แต่ในแต่ละรอยเลื่อนนั้นยังมีรอยเลื่อนย่อยต่อกันเป็นแนวยาว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับต่างชาติที่มีความพร้อมมากกว่าแล้ว จะให้ความสำคัญในการศึกษาข้อมูลของทุกรอยเลื่อนย่อย ขณะที่ไทยอาจศึกษาได้เพียงไม่กี่รอยเลื่อนแล้วใช้สรุปแทนรอยเลื่อนอื่นๆ ในกลุ่มรอยเลื่อนเดียวกัน ส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นเพราะไทยยังขาดทั้งเวลา งบประมาณ และบุคลากร
“สิ่งที่เราขาดคือการวิจัยระดับลึก เรามีการวิจัยระดับพื้นฐานบ้าง แต่เราไม่เคยลงไปในระดับลึกที่จะได้ข้อมูลในเชิงปริมาณ ส่วนหนึ่งเพราะว่าเทคโนโลยีและศาสตร์เหล่านี้เพิ่งมีขึ้นเมื่อสมัย 10 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง เพราะฉะนั้นนักวิชาการที่มีในปัจจุบันจึงเป็นนักวิชาการที่เรียนมาในสมัยก่อน ซึ่งไม่ได้มีทักษะในส่วนนี้ จริงๆ เราต้องการนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ที่จะรับเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทย และใช้ให้มากขึ้น” ผศ.ดร.ภาสกรกล่าว
“แผ่นดินไหวเล็ก” ข้อมูลสู่ความเข้าใจรอยเลื่อน
แม้ไทยมีข้อมูลแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เยอะขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลจากการติดตั้งสถานีเพื่อวัดแผ่นดินไหวระยะไกลและใช้เตือนภัยสึนามิ แต่ข้อมูลที่มีค่ามากๆ และไทยยังขาดคือข้อมูลแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ ซึ่งจะบอกถึงพฤติกรรมของรอยเลื่อนแต่ละรอยเลื่อน และต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัดในบริเวณแนวรอยเลื่อน แต่บางครั้งมีข้อจำกัดในการเข้าไปศึกษา เพราะหลายๆ พื้นที่ที่ถูกพัฒนาไปแล้ว และถูกครอบครองโดยเอกชนซึ่งไม่อนุญาตให้นักวิจัยเข้าไปศึกษา
“ทุกอย่างที่พูดไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปีหรอก แต่เรากำลังพูดถึง 10-20 ปี ข้างหน้าที่สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ลูกหลานเรามาใช้ทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ในตอนนี้ วิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้น เพราะข้อมูลแผ่นดินไหวนั้นค่อยๆ เกิดขึ้น และแผ่นดินไหวในไทยไม่ได้เกิดขึ้นมากมาย ต่อให้เป็นแผ่นดินไหวขนาด 2.0 เองก็ตาม ในเมืองไทยเกิดอย่างมากก็ปีละ 50 ครั้งหรือน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ” หัวหน้าศูนย์ SEIS-SCOPE กล่าว
จากข้อมูลสู่แผนที่เสี่ยงและนโยบาย
ตัวอย่างการศึกษาแผ่นดินไหวในต่างประเทศอย่างในสหรัฐฯ นั้นมีข้อมูลมากพอสำหรับทำนายได้ว่าในอนาคตข้างหน้านั้นมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวกี่เปอร์เซนต์ เช่น มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 มากกว่า 60% ในรอบ 30 ปีข้างหน้า แสดงว่าในอีก 30 ปี มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวมากกว่าจะไม่เกิด เป็นต้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงนโยบายให้รัฐบาลนำไปบริหารจัดการ เช่น การออกกฏหมายสิ่งก่อสร้างรองรับแผ่นดินไหว กฎหมายการประกันภัย เป็นต้น
“ส่วนไทยนั้นเราทราบว่ามีรอยเลื่อนมีพลัง 14 แห่งอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง และทราบว่าบริเวณรอยเลื่อนนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากกว่าบริเวณอื่น เช่น ภาคเหนือ-ภาคใต้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวมากกว่าภาคอีสาน เป็นต้น แต่สิ่งที่เราไม่รู้เลยคือ รอยเลื่อนไหนจะเกิดแผ่นดินไหวก่อน หรือรอยเลื่อนแต่ละตัวสะสมพลังงานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทำให้เราไปต่อไม่ได้ ขณะที่ต่างประเทศจะมีแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหว ตรงไหนมีอันตรายระดับเท่าไร ไทยก็พยายามทำ แต่ยังมีหลายเวอร์ชัน ยังไม่มีหน่วยงานกลางที่รับทำเป็นเจ้าภาพแล้วประกาศใช้ในเชิงกฎหมาย” ผศ.ดร.ภาสกรกล่าว
ในการทำแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวนั้น รศ.ดร.ภาสกรกล่าวว่า ประกอบด้วยงานหลายๆ ด้าน ทั้งด้านธรณีวิทยาและงานวิศวกรรม ซึ่งควรจะมีผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นผู้สั่งการ และอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้านเป็นคณะทำงาน อาทิ นักแผ่นดินไหว นักธรณีวิทยา วิศวกร และต้องใช้บุคลากรมากถึง 50-100 คน แม้ระหว่างทางอาจมีการถกเถียงกันบ้าง แต่สุดท้ายทุกอย่างจะถูกเกลี่ยให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในสหรัฐฯ ก็มีการทำงานในลักษณะนี้และได้มาตรฐานฉบับเดียวที่ใช้กันทั้งประเทศ
“สึนามิ” ซัดสู่ความเข้าใจที่มากขึ้น
“หลังสึนามิปี 2547เรามีพัฒนาการในภาพรวมที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตื่นตัวขึ้นเยอะ เดี๋ยวนี้ทุกครู้จักแล้วว่าแผ่นดินไหวคืออะไร แต่ว่ายังเป็นการรู้จักเพียงผิวเผิน ถามทำไมแผ่นเปลือกโลกถึงเลื่อนไป เลื่อนมา ทราบไหม? คนส่วนมากก็ยังไม่ทราบ ผมมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการให้การศึกษา ซึ่งปัจจุบันทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จัดองค์ความรู้เหล่านี้เข้าไปในระบบการศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะไม่มีช่องว่างตรงนี้แล้ว แต่ช่องว่างเป็นของคนรุ่นก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของเขาเพราะเขาไม่ได้เรียน เหมือนถามผมในสิ่งที่ผมไม่ได้เรียน ผมก็ไม่รู้เรื่อง มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็ต้องค่อยๆ ให้ความรู้เขา”
ส่วนเรื่องความน่ากลัวของแผ่นดินไหวในเมืองไทยนั้น ผศ.ดร.ภาสกรกล่าวว่า ต้องมองที่ความเสียหาย ซึ่งรอยเลื่อนทุกรอยเลื่อนในไทยมีศักยภาพมทำให้เกิดแผ่นดินไหวเกือบ 7 แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่ตรงไหน หากเกิดในป่าเขาก็ไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ถ้าแผ่นดินไหวขยับเข้าใกล้เมืองมากขึ้น ผลกระทบก็เยอะขึ้น แต่เราไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหนขึ้นที่ตรงไหน
“แผ่นดินไหว” ไม่เคยฆ่าคน
“ฝรั่งบอกว่า “แผ่นดินไหวไม่เคยฆ่าคนหรอก อาคารต่างหากฆ่าคน” เพราะฉะนั้นคนที่เสียชีวิตทั้งหมดก็เกิดจากอาคารที่หล่นมาทับ ตรงนี้เป็นส่วนของข้อมูลพื้นฐานที่เราจะใช้บอกแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวและความเสี่ยงแผ่นดินไหว แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านี้คือความพร้อมของเรา เราไม่ต้องเถียงกันหรอกว่าเนปาลจะส่งผลกระทบถึงเมืองไทยหรือเปล่า เถียงไปไปก็ไม่ได้อะไร แต่ถามว่าถ้าวันนี้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 หรือขนาดใกล้ๆ เราพร้อมไหม วันหนึ่งมันเกิดกลางเมืองเชียงใหม่ กลางเมืองเชียงราย ภาคเหนือของประเทศไทย เราพร้อมหรือยัง ถ้าเราบอกว่าเราพร้อม เราก็สบายใจได้ระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เรายังไม่พร้อม”
แม้ว่าทั้งข้อมูลและความพร้อมในเรื่องแผ่นดินไหวของไทยยังมีอยู่น้อย แต่ ผศ.ดร.ภาสกรให้มุมมองว่า พัฒนาการของคนไทยในการรับมือภัยสึนามิซึ่งเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวนั้นดีขึ้นมาก นอกจากความโชคดีที่ไทยมีเวลารับมือกับสึนามิ ถึง 1 ชั่วโมงแล้ว ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยยังทราบถึงวิธีปฏิบัติตัว พร้อมยกตัวอย่างเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ใน อ.เกาะยาว จ.ภูเก็ต ที่ผ่านมา มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งวิ่งขึ้นที่สูงโดยไม่ต้องรอสัญญาณเจ้งเตือน
การสนทนาและซักถามในที่สิ่งที่เราไม่รู้จาก ผศ.ดร.ภาสกร ทำให้ทราบว่าเรายังมีความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวในเมืองไทยน้อยมาก และยังมีช่องว่างให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอีกมาก ซึ่งความรู้และความเข้าใจที่มากขึ้น จะช่วยให้เรารับมือกับภัยพิบัติที่ไม่อาจเตือนได้ล่วงหน้านี้ได้ดีขึ้น
*******************************