“ถุงเพาะต้นไม้ย่อยสลาย” หายลงดินสลายตัวภายใน 30 วัน ไม่ทิ้งพิษ-ขึ้นรูปง่าย-สลายตัว 100% ด้วยตัวเร่งจากธรรมชาติ เด่นกว่าเคยมีที่ย่อยสลายบ้าง ไม่ย่อยสลายบ้าง เริ่มนำร่องแล้วในแปลงผักโครงการหลวง คาดอีก 3 ปีได้เห็นจริงในท้องตลาด
“ถุงของเราพิเศษกว่าใคร เพราะมีสารช่วยย่อยจากธรรมชาติ ที่ได้จากการนำสารพวก "แซคคาไรด์" (โมเลกุลคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง) มาดัดแปลงทางเคมี ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมให้แป้งและกรดโพลีแลคติก ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวัสดุประสานกันได้ดีขึ้น และถูกย่อยตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งวัสดุเพาะต้นไม้แบบเดิมๆ ที่นิยมใช้กันอยู่ ทำแบบนี้ไม่ได้” รศ.ดร.เมธา รัตนากรพิทักษ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในนักวิจัยผู้พัฒนาพลาสติกทางการเกษตรที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์ เกริ่นถึงงานวิจัยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
รศ.ดร.เมธา กล่าวต่อไปว่า ถุงเพาะที่เขาและทีมได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เป็นนวัตกรรมต่อยอดจากงานวิจัยเดิม ที่เคยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อปี 2551-2552 โดยครั้งนั้นได้เริ่มศึกษาสูตรพลาสติกย่อยสลายได้บางส่วนเพื่อพัฒนาเป็นวัสดุปลูกทางการเกษตร
การวิจัยและพัฒนาถุงเพาะย่อยสลายครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้จากการแก้ไขข้อจำกัดการย่อยสลายทางชีวภาพ พร้อมกับใช้องค์ความรู้เดิมเรื่องสูตรพลาสติกย่อยสลายได้ จนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ถุงเพาะย่อยสลายที่เหมาะกับการใช้งานทางการเกษตร และการเพาะพืชระยะสั้น ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีกว่าถุงพลาสติกเพาะต้นไม้ทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาดหลายประการ
“เราทำต่อยอดจากงานวิจัยแรกๆ ที่พัฒนาถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้บางส่วน มาเป็นถุงที่ย่อยสลายได้ 100% แล้วก็ย่อยได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย เพราะเราพัฒนางานวิจัยด้านเคมีจนสามารถสร้างสารช่วยย่อยพิเศษ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการย่อยสลายของพลาสติก จากการดัดแปลงสูตรโครงสร้างทางเคมีของแซคคาไรด์ที่เป็นสารอินทรีย์ ทำให้เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ ตัวถุงพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลัง และกรดโพลีแลกติค (Poly Lactic Acid: PLA) จะถูกบังคับให้สลายตัวไปตามธรรมชาติ แบบไม่มีสารพิษตกค้างในดิน โดยสารควบคุมการย่อยสลายจะเข้าไปเติมแต่งให้สารตั้งต้นทั้ง 2 ชนิดทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น และจะแยกสลายออกจากกันเมื่อถึงกำหนดเวลา ช่วยให้การย่อยสลายเกิดขึ้นเร็วกว่าถุงที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังและกรดโพลีแลกติกธรรมดา ที่ไม่ได้เติมสารควบคุมการย่อยสลายถึง 25 %” รศ.ดร.เมธาเผยหลักการ
รศ.ดร.เมธา เผยเพิ่มเติมว่า ถุงเพาะย่อยสลายได้ที่พัฒนาขึ้น แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ถุงเพาะกับถุงปลูก ซึ่งถุงเพาะจะใช้กับพืชระยะสั้น ที่ต้องปลูกด้วยการฝังลงในดิน เช่น ไหลสตอร์เบอร์รี่ และผักกาด ถุงชนิดเพาะจึงมีเวลาสั้นกว่าอยู่ที่ 1-3 เดือนแล้วจึงสลายไป ส่วนถุงปลูกจะใช้กับพืชระยะยาวหรือพืชยืนต้นที่ไม่จำเป็นต้องฝังลงในดิน โดยถุงชนิดปลูกนี้จะมีอายุการใช้งานมากกว่า 3 เดือนเป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ถุงเพาะพลาสติกที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น ยังคงอยู่ในขั้นการทดลองกับแปลงปลูกทางการเกษตร ซึ่งในขณะนี้ได้ทดลองใช้แล้วในโครงการหลวง, โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ และโครงการปลูกป่าต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้ผลตอบรับค่อนข้างดีจากเกษตรกร แต่นักวิจัยก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าทดลองใช้ต่อไปอีก 3 ปีก่อนจะผลิตออกขายในเชิงพาณิชย์ เพราะต้องการขยายผลจากเกษตรกรให้ได้มากกว่านี้ เพื่อพัฒนาถุงเพาะพลาสติกที่ตอบโจทย์กับความต้องการของเกษตรกร
“สำเร็จแล้วก็จริง แต่จะยังไม่ขายครับ เราต้องขยายผลกับเกษตรกรจนแน่ใจก่อนว่าเขาพอใจหรือต้องพัฒนาอะไรเพิ่มหรือไม่ คิดว่าอีกประมาณ 3 ปีน่าจะได้เห็นตามท้องตลาด ซึ่งตอนนี้กำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรอยู่ ส่วนเรื่องราคายังคงสูงกว่าถุงพลาสติกปกติประมาณ 2 เท่า แต่ก็มั่นใจว่าหากมีการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาก็จะถูกลง และน่าจะเป็นที่นิยมของเกษตรกรในอนาคต” รศ.ดร.เมธา กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ผลงานวิจัยพลาสติกทางการเกษตรที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์นี้ ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2557 ด้านพาณิชย์ ที่ประสบความสำเร็จ และใช้งานได้จริงจนเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมด้วย
*******************************