นักวิจัย สกว.ลงพื้นที่สำรวจถนนคอนกรีตยกตัว จ.สุรินทร์ ชี้เกิดจากอากาศร้อนจัดและการออกแบบก่อสร้างไม่ได้มรตรฐาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบซ่อมแซม และตรวจสอบถนนที่มีความเสี่ยงพร้อมพิจารณาการควบคุมคุณภาพก่อสร้างเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ พร้อมระบุ ข้อสังเกตถนนคอนกรีตยกตัว 6 ประการ
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และรองเลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวถนนคอนกรีตที่บ้านนาเกา ต. แกใหญ่ อ.เมือง จ. สุรินทร์เกิดการยกตัวโค้งนูนขึ้นคล้ายหลังเต่าจนเกิดเป็นโพรงด้านล่าง เมื่อวันที่ 12 พ.ค.58 ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างเดินทางมาดู โดยนำดอกไม้ธูปเทียนมาเซ่นไหว้ตามความเชื่อและศรัทธาโดยหลายรายเชื่อว่ามีพญานาคเลื้อยผ่านใต้ถนนดันให้ถนนยกตัวสูงขึ้น จึงมีการจัดพิธีบรวงสวงเพื่อให้เกิดความสบายใจ
ล่าสุด ศ.ดร.อมรได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวร่วมกับ ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัดจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเผยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ มีข้อสังเกต 6 ประการเกี่ยวกับถนนคอนกรีตที่ยกตัว คือ 1.มักเกิดขึ้นในฤดูร้อนซึ่งพื้นจะอมความร้อนจากแสงแดดไว้มากที่สุด 2.พื้นถนนอาจยกตัวขึ้นได้หลายสิบเซนติเมตรและมักพบรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ที่ด้านบนของถนน 3.การยกตัวของพื้นถนนคอนกรีตมักเกิดขึ้นใกล้ๆ รอยต่อกับถนนแผ่นถัดไป 4.ถนนจะยกตัวสูงสุดในช่วงบ่ายแก่ๆ ซึ่งอากาศร้อนจัด และจะยุบตัวลงในช่วงเช้ามืดเมื่อความร้อนหมดไป โดยการเคลื่อนที่ของถนนจะมีลักษณะขึ้นลงเป็นจังหวะตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปในรอบวัน 5.มักมีฝนตกก่อนหน้าถนนยกตัว 3-5วัน และ 6.ถนนนั้นมักก่อสร้างมาแล้วเกิน 7 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ การยกตัวและของพื้นถนนดังกล่าว (Blowup effect) มีสาเหตุจากความร้อนของแสงแดดทำให้ถนนขยายตัวจนเกิดการชนและปะทะกับถนนแผ่นข้างเคียง เกิดแรงอัดมหาศาลบีบพื้นถนนเข้าหากันและทำให้พื้นถนนแอ่นตัวขึ้นและแตกหักหากนึกภาพว่าเมื่อเรานำไม้บรรทัดมาแล้วออกแรงกดที่ปลายไม้บรรทัดทั้งสองด้าน ไม้บรรทัดจะหักงอภายใต้แรงอัดซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการแอ่นตัวขึ้นของพื้นถนน และจะแอ่นขึ้นด้านบนเสมอเพราะด้านล่างมีดินรองรับอยู่
ศ.ดร.อมร เผยต่อไปว่าปัจจัยที่ทำให้ถนนยกตัว ได้แก่ 1.วันที่อากาศร้อนจัดอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส 2.พื้นถนนที่ก่อสร้างในเขตชนบทมักออกแบบให้มีความหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร เพราะรองรับการจราจรไม่หนาแน่นเท่าถนนในเมืองซึ่งย่อมจะต้านแรงบีบอัดได้น้อยจึงแอ่นตัวได้ง่าย 3.ระยะห่างระหว่างรอยต่อของพื้นถนนมากเกินไป เช่น ยาวเกิน 8-10เมตรขึ้นไป ปกติการก่อสร้างถนนจะก่อสร้างเป็นแผ่นๆ โดยเว้นระยะรอยต่อระหว่างแผ่นไว้ ซึ่งจะอุดด้วยยางมะตอยหรือวัสดุอุดรอยต่อ รอยต่อดังกล่าวมีไว้เพื่อให้ถนนขยับตัวได้โดยไม่ชนกัน แต่หากก่อสร้างถนนทีเดียวเป็นแผ่นยาวๆ โดยไม่มีรอยต่อหรือทำรอยต่อไว้ไม่ดีก็จะทำให้พื้นถนนขยายตัวมากเกินไปจนเกิดการชนกันดังกล่าว
“ถนนยกตัวเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ อาจทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการซ่อมแซม และตรวจสอบถนนที่มีลักษณะดังกล่าวโดยเร็ว และควรพิจารณาการควบคุมคุณภาพก่อสร้างโดยเฉพาะการทำรอยต่อระหว่างแผ่นถนนในงานก่อสร้างด้วย” นักวิจัย สกว.กล่าวทิ้งท้าย
*******************************