ก.วิทย์จัดงานแสดงความชื่นชมเยาวชนไทย ที่คว้ารางวัลจากเวทีการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเยาวชนแคนาดาคว้ารางวัลใหญ่จากผลงานระบบปรับคุณภาพอากาศบนเครื่องบิน
การกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงานแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทย ที่ได้รางวัลจากการประกวดโครงการวิทยาศาสตร์ภายในงานอินเทล ไอเซฟ (Intel International Science and Engineering Fair, a program of Society for Science & the Public: Intel ISEF) ครั้งที่ 66 ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐฯ และไอ-สวีพ (I-SWEEP) ครั้งที่ 8 ณ เมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ
งานแสดงความยินดีดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.ทิพากร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตแร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ น.ส.สติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจากองค์กรผู้สนับสนุนการเดินทางไปแข่งขันของเยาวชน ร่วมแสดงความยินดี
ในการประกวดโครงการอินเทลไอเซฟมีนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์กว่า 1,700 คนร่วมส่งโครงงานเข้าประกวด โดยทุกคนผ่านการคัดเลือกมาจากการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์กว่า 422 งานใน 75 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยได้ส่งผลงานเยาวชนเข้าร่วมประกวด 11 โครงงาน ในจำนวนนี้มี 5 โครงงานที่ได้รับรางวัลรวม 9 รางวัล
ผลงานนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลอินเทลไอเซฟ ได้แก่ “การศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหม” โดย นายนัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร นายธนานนท์ หิรัณย์วาณิชชากร และน.ส.สุทธิลักษณ์ รักดี จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสัตวศาสตร์ โดยได้ทุนการศึกษามูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์เยาวชน (Contest for Young Scientists) ที่ประเทศอิตาลี และผลงานนี้ยังได้รางวัลวิทยาศาสตร์กายภาพอันดับ 1 (First Physical Science Award) มูลค่า 2,000 เหรียญสหรัฐ จากสมาคมวิจัยวิทยาศาสตร์ (The Scientific Research Society) พร้อมด้วยเงินรางวัลชนะเลิศประจำสาขาการแข่งขันอีก 3,000 เหรียญสหรัฐ
อีกโครงงานคือ “ผลของสารสกัดหยาบจากหญ้าคาที่มีต่ออัตราการรอดชีวิตและอัตราการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและผลกระทบต่อแมลงตัวห้ำไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล” โดยนายวสุ ชวนะสุพิชญ์, น.ส.วณิชา โคตรวงศ์ษา และ น.ส.ณัชมุกดา ไพบูลย์จากโรงเรียนสาธิต ม.ขอนแก่น (มอดินแดง) คว้ารางวัลอันดับ 3 ในสาขาพฤกษศาสตร์ เป็นทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับรางวัลพิเศษ ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัทมอนซานโต
อีก 2 ทีมจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลอันดับ 3 ในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐ คือผลงาน “บรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากเซลลูโลสในดอกบัว” โดยนายธีรพัฒน์ มาน้อย, นายยุทธศาสตร์ สอนประสม และนายฤทธิกุล ธรฤทธิ์ และผลงาน “การดัดแปลงโครงสร้าง NANO MEMBRANE COMPACT จากคาร์บอนโพรงเซลลูโลสที่ติดด้วยเม็ดสีคอมโพสิตกับ TiO2” โดยนายปัณณวัฒน์ เพียรจัด และ น.ส.อรวรรณ ทัศนเบญจกุล
ส่วนโครงงาน “การพัฒนาสารยึดติดกล้ากล้วยไม้จากยางผลกาฝาก” ของนายวัฒนะ ทำของดี จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ได้รับรางวัลอันดับ 4 เป็นทุนการศึกษามูลค่า 500 เหรียญสหรัฐ ในสาขาพฤกษศาสตร์
ขณะที่รางวัลสูงสุดในการประกวดอินเทลไอเซฟเป็นผลงานของ เรย์มอนด์ หวัง อายุ 17 ปี จากแคนาดา ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ จากผลงานระบบระบายอากาศรูปแบบใหม่สำหรับห้องโดยสารเครื่องบิน เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยระบบระบายอากาศดังกล่าวช่วยให้ห้องโดยสารของเครื่องบินมีปริมาณอากาศที่สดชื่นมากขึ้นถึง 190% ยับยั้งการสูดหายใจเอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้สูงสุดถึง 55 เท่าตัว เมื่อเทียบกับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังสามารถนำไปติดตั้งในอากาศยานต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย และมีราคาถูก และยังได้รับรางวัล กอร์ดอน อี.มัวร์ เป็นทุนการศึกษามูลค่า 75,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ กอร์ดอน อี.มัวร์ นักวิทยาศาสตร์และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล
ส่วนการประกวดไอ-สวีพนั้นประเทศไทยส่งผลงานเข้าประกวด 4 โครงงานในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งคว้ารางวัล 3 เหรียญทองแดงจาก 1.โครงงานการศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ของการลักษณะการเคลื่อนที่ และการเปลี่ยนแปลงปริมาตรฟองอากาศเพื่อการพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจคุณภาพน้ำด้วยกล้องของอุปกรณ์พกพา โดย นายบุณยกร อัศวนิเวศน์และนายกฤต กรวยกิตานนท์จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน 2.โครงงานหมวกกันน็อคสำหรับจักรยานรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยนายจักรพันธ์ กางกรณ์ นายพชรพล อภินันทชาติ และ น.ส.ณัฐชยา แบนเพชร จากโรงเรียนสุราษร์พิทยา และ3.โครงงานโปรแกรม WAM สำหรับวิเคราะห์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อลดผลกระทบจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยนายปริตต์ วงศ์ตระกูล และนายภิวัต จงเจริญ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และรางวัลชมเชยจากโครงงานกระดาษซับน้ำมันทนไฟจากเส้นใยดอกธุปฤษี โดย น.ส.สุวิมล ส่งศรีจันทร์ น.ส.เจนจิรา โตม่วง และ น.ส.สุวนันท์ มานิ่ม จากโรงเรียนพระบางวิทยา
*******************************