ใครๆ ก็ทายได้จะเกิด “แผ่นดินไหว” ขนาดเท่าไร เพราะเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกทุกวัน แต่จะเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไรนั้น ยังไม่มีเทคโนโลยีที่คาดการณ์ได้
หลังข่าวคราวโศกนาฏกรรมจากแผ่นดินไหวทั้งในและต่างประเทศ ก็มีหลายคนพยายามเกาะกระแสด้วยการทำนายว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่านั้นเท่านี้ หรือเลยไปเถิดไปถึงคาดเดาว่าจะเกิดสึนามิ แน่นอนว่าโอกาสนั้นเกิดขึ้นได้ แต่เราคาดการณ์ได้แม่นยำขนาดนั้นจริงหรือ?
ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานของโลก (SEIS-SCOPE) ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลไว้ว่าในรอบ 1 ปีนั้นมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นขนาดต่างๆ ในจำนวนที่ค่อนข้างคงที่
ข้อมูลจาก ผศ.ดร.ภาสกรระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 2.0 นั้นเกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ยปีละประมาณล้านครั้ง ส่วนแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8.0 เกิดขึ้นปีละครั้ง ขณะที่แผ่นดินไหวขนาด 6.0 นั้นเกิดขั้นเฉลี่ยปีละประมาณ 200 ครั้ง และแผ่นดินไหวขนาด 5.0 นั้นเกิดถี่ปีละกว่า 600 ครั้งหรือเฉลี่ยวันละ 2 ครั้ง ดังนั้น หากมีใครทายว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นตามนั้น แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่คาดการณ์แผ่นดินไหวล่วงหน้าได้อย่างเจาะจงว่าจะเกิดขึ้นที่ใดและขนาดเท่าไรเมื่อไร
สำหรับประเทศไทยโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 นั้นเป็นไปได้น้อยมากหรือมีโอกาสเป็นศูนย์ โดยแผ่นดินใหญ่ขนาดนั้น ผศ.ดร.ภาสกรระบุว่า มักเกิดตามขอบเปลือกโลก ซึ่งไทยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่จากการศึกษาพบว่ารอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยทางภาคเหนือนั้นจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสุดขนาด 7.2 และหลังจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ก็ไม่ได้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 ทำให้นักวิชาการมีข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในประเทศไทยมากขึ้น ผศ.ดร.ภาสกรว่า แผ่นดินไหวเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ทราบว่าในพื้นที่ภาคเหนือไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่เราคิด เนื่องจากมีแผ่นดินไหวขนาดกลางเกิดขึ้นบ่อย และหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวตามมากกว่า 500 ครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องปกติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
ในส่วนพื้นที่ อ.แม่ลาวนั้น นักวิชาการทราบข้อมูลแนวโน้มของแผ่นดินไหวตามมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และจำนวนเกิดขึ้นลดลง และกำลังจะเข้าสู่สภาพปกติ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกหรือไม่เพราะยังทำนายไม่ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นอีกก็มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง หนึ่งคือรอยเลื่อนยังปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ไม่หมด สองคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งก่อนหรือแผ่นดินใหญ่ในพื้นที่ใกล้ๆ ส่งพลังงานมาถึงรอยเลื่อนในแถบนี้และทำให้เกิดการสะสมพลังงานมากขึ้น
นักวิชาการยังมีข้อมูลตำแหน่งแผ่นดินไหวตามหลังเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว ซึ่งบอกถึงรอยเลื่อนว่าแผ่นดินนั้นมีรอยแตกตรงไหน ทำให้ทราบถึงลักษณะการวางตัวของรอยเลื่อนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ และกำลังจะได้ข้อสรุปว่าตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวนั้นเป็นระยะทางไกลเท่าไรและลึกเท่าไร ซึ่งรอยแตกดังกล่าวเป็นหนึ่งของรอยเลื่อนย่อยแม่ลาว ซึ่งอยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาตามการแบ่งกลุ่มของกรมทรัพยากรธรณี
สำหรับรอยเลื่อนใน จ.เชียงรายนั้น ผศ.ดร.ภาสกรกล่าวว่า ยังต้องมีการศึกษาอีกมาก เนื่องจากเรามีความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนในพื้นที่ดังกล่าวน้อย และต้องศึกษาด้วยว่ารอยเลื่อนนั้นเข้าใกล้ตัวจังหวัดมากแค่ไหน มีหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตหรือไม่ ส่วนรอยเลื่อนในไทยที่มีการศึกษาอยู่มากคือรอยเลื่อนแม่จันที่ส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนอยู่ใน จ.เชียงราย และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์กับรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
รอยเลื่อนแม่จันมีการศึกษามากเนื่องจากเป็นรอยเลื่อนที่มีความยาวมากเป็นร้อยกิโลเมตร และมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวปานกลางค่อนใหญ่ขนาด 6.0 ขึ้นไปได้มาก ส่วนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์กับรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะในอดีต จ.กาญจนบุรีเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบได้มาก อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องเขื่อนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
*******************************