xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...มาตรวัด "แผ่นดินไหว" ใช้หน่วยอะไรดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในเนปาล (PHOTO REUTERS/ Nita Bhalla)
หลากหลายแหล่งข่าวเผยแพร่ข้อมูลผู้บาดเจ็บและความเสียหายเพิ่มเติม ตลอดจนระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้มาตราริกเตอร์ บ้างก็ใช้โมเมนต์แมกนิจูด บ้างก็แมกนิจูด ไปจนถึงไม่มีการระบุมาตรา สร้างความสับสนให้แก่ผู้รับชมข่าวสารถึงเหตุการณ์ทางภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แล้วรู้หรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วมาตรวัดแผ่นดินไหวมีอะไรบ้าง? คนทั้งโลกนิยมใช้มาตราแบบไหน? แล้วแต่ละแบบมีความแตกต่างและวัดขึ้นจากค่าของอะไร? ที่นี่มีคำตอบ

มาตรวัดแผ่นดินไหวมีกี่ประเภท ?
-มาตรวัดแผ่นดินไหวมี 2 ประเภท คือ มาตรที่แบ่งด้วยความรุนแรง (Intensity) และมาตรที่แบ่งด้วยขนาด (Magnitude) ของแผ่นดินไหว ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้ให้ความหมายของความรุนแรงและ ขนาดของแผ่นดินไหวไว้ดังนี้
ความรุนแรง (Intensity) คือ ผลกระทบของแผ่นดินไหวที่มีต่อความรู้สึกของคน ต่อความเสียหายของอาคาร สิ่งก่อสร้าง ธรรมชาติข้างเคียง โดยความรุนแรงจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละแห่งที่ถูกรบกวนขึ้นกับว่าสถานที่นั้นอยู่ห่างจากตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว (Epicenter) มากน้อยขนาดไหน
ขนาดของแผ่นดินไหว (Magnitude) เป็น ปริมาณที่มีความสัมพันธ์กับพลังงานที่พื้นโลกปลดปล่อยออกมา ณ ตำแหน่งจุดกำเนิดแผ่นดินไหว (Hypocenter) ในรูปแบบของการสั่นสะเทือน ถ้าอยู่ใกล้จุดดเกิดแผ่นดินไหวก็จะมีขนาดใหญ่ แต่ถ้าอยู่ไกลออกไปขนาดก็จะเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งค่าของขนาดแผ่นดินไหวคำนวณได้จากค่าความสูงของคลื่นแผ่นดินไหว (Amplitude) ที่บันทึกได้ด้วยเครื่องตรวจวัด(Seismograph) ดังนั้นขนาดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งจึงมีได้เฉพาะค่าเดียวซึ่งได้จากการตรวจจับด้วยเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวเท่านั้น 

มาตรวัดขนาดของแผ่นดินไหวมีอะไรบ้าง ?
-มาตราริกเตอร์ (The Richter Magnitude Scale)
เป็นมาตราที่วัดขนาดของแผ่นดินไหว ซึ่งบันทึกได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismograph) วัดได้จากความสูงของคลื่น (Amplitude) แสดงผลในรูปแบบจำนวนเต็มและจุดทศนิยมทำให้สามารถเปรียบเทียบขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นคนละเหตุการณ์กันได้ โดยคลื่นแผ่นดินไหวที่ปรากฎในเครื่องตรวจวัด และคำนวนได้จากสูตรทางคณิตศาสตร์เป็นลอการิทึมฐานสิบของความสูงของคลื่นแผ่นดินไหว

ขนาดจะเป็นตัวเลขจำนวนเต็มและจุดทศนิยมที่บ่งชี้ความร้ายแรงของแผ่นดินไหวเมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวที่ระดับเป็นศูนย์ ที่กำหนดให้แผ่นดินไหวที่เกิดที่ระดับเป็นศูนย์มีค่าความสูงของคลื่น 0.001 มม. ที่ระยะทาง 100 กิโลเมตร จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว (Epicenter) ซึ่งเมื่อคำนวนจากสูตรทางคณิตศาสตร์เป็นลอการิทึมของความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่บันทึกไว้ จะทำให้ทราบว่าแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ มีความรุนแรงเป็น 10 เท่าของแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ และมีความรุนแรงเป็น 100 เท่าของแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์

- มาตราโมเมนต์แมกนิจูด ( moment magnitude scale; MMS, Mw)
เป็นมาตราที่วัดขนาดของคลื่นแผ่นดินไหว ซึ่งบันทึกได้จากเครื่องบันทึกแผ่นดินไหวในลักษณะคล้ายคลึงกับค่าที่บันทึกได้ในมาตราริกเตอร์แต่มีความละเอียดและแม่นยำกว่า เพราะเป็นมาตราที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่พร้อมๆ กับเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่มีการบันทึกผลด้วยระบบฟังก์ชันเวลาในปี พ.ศ.2513 เพื่อใช้แทนมาตราริกเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2473

ขนาดของโมเมนต์ที่ได้จากการวัดคลื่นแผ่นดินไหว (Seismograph) จะถูกเปลี่ยนไปเป็นตัวเลขแมกนิจูด ด้วยการคำนวณกับสูตรมาตรฐาน ซึ่งผลสุดท้ายจะได้ค่าที่เรียกว่า โมเมนต์แมกนิจูด ที่เป็นหน่วยบ่งบอกขนาดการเกิดแผ่นดินไหว ที่แม้ว่าสูตรในการคำนวณจะต่างกัน แต่มาตราใหม่นี้ยังคงให้ขนาดของแผ่นดินไหวใกล้เคียงกับขนาดแผ่นดินไหวในมาตราริกเตอร์ แต่จะไม่เหมือนกับมาตราริกเตอร์เสียทีเดียวโยจะให้ขนาดที่ใกล้เคียงกับมาตราริกเตอร์เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดหลาง (3-6)

มาตรวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว มีอะไรบ้าง?
-มาตราเมอร์คัลลี่ (Mercalli Intensity Scale) 
เดิมทีมาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว มีด้วยกันหลายมาตรา บางมาตรามีมานานนับร้อยปี แต่ที่นิยมใช้กันที่สุด คือ มาตราเมอร์คัลลี่ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตามมาตราเมอร์คัลลี่มี 12 ระดับ จากระดับความรุนแรงที่น้อยมากจนไม่สามารถรู้สึก ต้องตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวเท่านั้น ไปจนถึงขั้นรุนแรงสุดจนทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ โดยมาตราเมอร์คัลลีใช้หน่วยวัดระดับเป็นตัวเลขโรมัน ซึ่งแบ่งระดับต่างๆ ออกได้ ดังนี้

I เป็นอันดับที่อ่อนมาก ตรวจวัดได้โดยเครื่องมือตรวจแผ่นดินไหวเท่านั้น คนไม่สามารถรู้สึกได้
II รู้สึกได้เฉพาะบางคนที่อยู่นิ่ง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอาคารชั้นบน สิ่งของที่บอบบาง ประณีต กระจุ๋มกระจิ๋มที่แขวนไว้อาจแกว่งไกวได้
III ผู้ที่อยู่ในอาคารจะรู้สึกค่อนข้างชัดว่ามีแผ่นดินไหว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ชั้นบน ๆ แต่คนส่วนใหญ่จะยังไม่ทราบว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น รถยนต์ที่จอดอยู่อาจขยับเขยื้อนได้บ้างเล็กน้อย การสั่นสะเทือนคล้าย ๆ กับเมื่อมีรถยนต์บรรทุกแล่นผ่านสามารถกำหนดระยะเวลาของการสั่นไหวได้
IV ถ้าเกินในเวลากลางวันผู้ที่อยู่ในบ้านจะรู้สึกได้ แต่ผู้ที่อยู่นอกบ้านมีผู้รู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวน้อยคน ถ้าเป็นตอนกลางคืนผู้ที่นอนหลับอยู่จะตกใจตื่น ถ้วยชามจะขยับ หน้าต่าง ประตู จะสั่น ฝาผนังจะมีเสียงลั่น มีความรู้สึกคล้าย ๆ กับรถยนต์บรรทุกของหนักชนอาคาร รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหวสังเกตได้ชัดเจน
V เกือบทุกคนรู้สึกว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น หลาย ๆ คนตื่นตระหนก ถ้วยชามตกแตก หน้าต่างพัง สิ่งของที่ตั้งไม่มั่นคงล้มคว่ำ นาฬิกาที่ใช้ลูกตุ้มอาจหยุดเดิน
VI รู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวกันได้ทุกคน หลาย ๆ คนตกใจวิ่งออกจากบ้าน เครื่องประดับบ้านหนัก ๆ บางชิ้นเคลื่อนได้ กรณีน้อยมากที่ปูนฉาบผนังจะล่วงหล่นลงมาความเสียหายยังจัดว่าเล็กน้อย
VII ในอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างไว้ดีจะเสียหายเล็กน้อยมาก ส่วนอาคารก่อสร้างไว้ดีตามปกติจะเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลาง อาคารที่ก่อสร้างและออกแบบไว้ไม่ดีจะเสียหายค่อนข้างมาก ปล่องไฟบางปล่องแตกหัก
VIII สิ่งก่อสร้างที่ออกแบบไว้ดีเป็นพิเศษจะเสียหายเล็กน้อย อาคารที่สร้างอย่างมั่นคงตามปกติจะเสียหายค่อนข้างมาก และบางส่วนอาจพังทลายลงมาด้วย สำหรับสิ่งก่อสร้างที่สร้างอย่างไม่สมบูรณ์ จะเสียหายใหญ่หลวง ปล่องไฟ บ้าน โรงงาน เสาหิน อนุสาวรีย์ และกำแพงจะหักล้มพังลงมา
IX สิ่งก่อสร้างที่ออกแบบดีเป็นพิเศษ เสียหายมาก โครงของสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบไว้ดีเสียศูนย์หมด อาคารที่มั่นคงเสียหายมากซึ่งบางส่วนพังทลายลงมาด้วย ตัวอาคารต่าง ๆ ขยับเคลื่อนออกจากฐานรากเดิม
X อาคารไม้ที่ก่อสร้างไว้อย่างดีบางหลังถูกทำลาย สิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยปูน และมีโครงพังทลายพร้อมกับฐานรากด้วย รางรถไฟบิดงอไป
XI สิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยปูนถ้ามีจะยังคงเหลือตั้งอยู่ได้น้อยมาก สะพานถูกทำลาย ทางรถไฟบิดงอมาก
XII เสียหายหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แนวและระดับต่างๆ บิดเบี้ยวหมด วัตถุทุกอย่างกระดอนกระเด็นปลิวขึ้นไปในอากาศ

คนทั่วโลกนิยมใช้มาตราแบบไหน

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานของโลก (SEIS-SCOPE) ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คนไทยมักเคยชินกับมาตราวัดแผ่นดินไหวแบบริกเตอร์ ซึ่งไม่ถือว่าผิด แต่ถือว่าเชย เพราะนักธรณีวิทยาและผู้คนเกือบทั่วทั้งโลก หันมาใช้ “มาตราโมเมนต์แมกนิจูด” แทบทั้งสิ้น

“แต่ถ้าจะยังใช้มาตราริกเตอร์ก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ คำนี้มันเข้าใจง่ายแล้วคนไทยก็รู้จักดี แต่ผมจะเพิ่มเติมนิดนึงว่าถ้าจะใช้ริกเตอร์ ต้องใช้กับแผ่นดินไหวที่มีขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 ถ้ามากกว่านั้นจะไม่ใช้ริกเตอร์ ให้ใช้มาตราโมเมนต์แมกนิจูดแทน ตามหลักสากลจะนิยมใช้คำว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่าไร แค่นั้นพอ เขาไม่ใส่หน่วยข้างหลัง เพราะ "แมกนิจูด" แปลว่า "ขนาด" เช่น ฝรั่งรายงานว่าเกิดแผ่นดินไหว 7.3 แมกนิจูด ก็แปลเป็นไทยได้ว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 เป็นต้น” นักธรณีวิทยาชำนาญการให้ข้อเสนอแนะแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

**เรียบเรียงจากข้อมูลของเว็บไซต์องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (U.S. Geological Survey: USGS), กรมทรัพยากรธรณี และกรมอุตุนิยมวิทยา
เครื่องวัดคลื่นแผ่นดินไหว (Seismogram) (องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ)






*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น