เมื่อกษัตริย์ Frederick มหาราชแห่งอาณาจักร Prussia เสด็จประพาสฮอลแลนด์เป็นการส่วนพระองค์ ทรงมีพระประสงค์มิให้ใครรู้ จึงทรงนำมหาดเล็กคนสนิทไปด้วยเพียงสองคน และทรงปลอมพระองค์เป็นนักขลุ่ย เมื่อเดินทางถึง Amsterdam ทรงประสงค์จะพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง และสั่งพระกระยาหารเย็นเป็นขนมปังยัดไส้ (vol-au-vent) ที่มีราคาแพง เมื่อหญิงเจ้าของโรงแรมแสดงอาการอิดออดจะไม่ยกขนมปังมาให้ เพราะหลังจากที่ได้ดูสารรูปคนที่สั่งแล้ว มีท่าทียากจนจนไม่น่าจะมีเงินจ่ายค่าขนมปัง มหาดเล็กที่ตามเสด็จจึงบอกนางว่า เพื่อนคนนี้คือ นักดนตรีอัจฉริยะผู้สามารถเป่าขลุ่ยหาเงินจ่ายค่าขนมปังได้ 10 ก้อน ภายในชั่วโมงเดียว หญิงเจ้าของโรงแรมจึงขอให้เล่นขลุ่ยให้เธอฟัง ทันทีที่ได้ยินเสียงขลุ่ยอันไพเราะจับใจเธอก็ขมีขมันเข้าครัว จัดขนมปังมาให้คนทั้งสามบริโภค โดยไม่ถามไถ่อะไรอีกเลย
คนเยอรมันมีตำนานทำนองนี้ที่เกี่ยวกับกษัตริย์ Frederick ที่สองอีกมากมาย เช่นว่าเมื่อ Prussia ถูกกองทัพฝรั่งเศสรุกราน พระองค์ได้ทรงปลอมเป็นนักดนตรีขลุ่ย และทรงเป่าได้ดีจนข้าศึกคิดว่าเป็นนักดนตรีอาชีพ พระองค์จึงทรงรอดพ้นจากการถูกจับกุม ในเวลาต่อมาวงการโอเปรามีบทละครเรื่อง An Army Camp in Silesia ซึ่งมีเนื้อหาว่า กษัตริย์ Frederick ทรงรอดพ้นจากเงื้อมมือของศัตรูอย่างหวุดหวิด โอเปราเรื่องนี้ได้เปิดการแสดงเป็นครั้งแรกในปี 1844 ที่ Royal Opera House ในกรุง Berlin
อีกหกปีต่อมา Adolf Menzel ก็ได้วาดภาพ Das Flotenkonzert (การแสดงคอนเสิร์ตขลุ่ย) โดย Frederick ที่ 2 ซึ่งภาพวาดขนาด 142x205 เซนติเมตรนี้ ปัจจุบันอยู่ที่ Alte Nationalgalerie (Old National Gallery) ในกรุง Berlin เป็นภาพวาดที่คนเยอรมันชื่นชอบมากที่สุดภาพหนึ่ง
Adolf Menzel เกิดที่เมือง Breslau ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1815 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เป็นลูกคนโตของครอบครัว บิดาซึ่งมีอาชีพเป็นช่างพิมพ์มีความประสงค์จะให้ Menzel เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่ได้สังเกตเห็นว่า Menzel มีทักษะในการวาดภาพมาก
เมื่อ Menzel อายุ 15 ปี ครอบครัวได้อพยพไป Berlin อีกสองปีต่อมา เมื่อบิดาเสียชีวิต Menzel ต้องรับทำธุรกิจงาน lithograph ของบิดาต่อ และต้องดูแลครอบครัวซึ่งประกอบด้วยแม่ น้องชาย และน้องสาว โดยต้องทำงานออกแบบพิมพ์หัวกระดาษ ฉลาก และการ์ดต่างๆ แต่ยังรักที่จะทำงานศิลปะและต้องการมีอาชีพเป็นศิลปิน
ดังนั้นในปี 1833 Menzel วัย 18 ปี จึงเข้าเรียนศิลปะที่ Berlin Academy of Art และได้รับการสอนให้รู้จักสร้างงานประติมากรรมประเภทปั้นปูนพลาสเตอร์ ซึ่งไม่ถูกโฉลกกับความต้องการของ Menzel นัก เขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาและฝึกงานศิลปะด้วยตนเอง จึงได้วาดภาพจำนวนมากที่ล้วนแสดงความสามารถระดับสูงในเทคนิคและการสังเกตของผู้วาดจนชื่อของ Menzel โด่งดัง จึงได้รับเชิญให้วาดภาพพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระเจ้า Frederick มหาราช เช่นภาพ “The Works of Frederick the Great” “The Army of Frederick the Great” และ “The Life and Time of Frederick” เป็นต้น
Menzel เริ่มวาดภาพสีน้ำมันในปี 1837 และเป็นศิลปินสีน้ำมันอย่างเต็มตัวในอีก 3 ปีต่อมา ภาพที่วาดส่วนใหญ่เป็นภาพครอบครัวกับภาพทิวทัศน์ที่เน้นแสงและเงาในแนว Impressionism แต่ในบางเวลาก็วาดภาพประวัติศาสตร์
Menzel เป็นศิลปินที่มีความมั่นใจในตนเองสูงมาก แม้เมื่อ Duchess แห่ง Regensburg ทรงขอให้ Menzel ปรับเปลี่ยนภาพของกษัตริย์ Frederick ที่ Menzel วาดจากท่าสบายๆ เป็นแบบทางการ Menzel ไม่ยอม
เมื่ออายุ 46 ปีกษัตริย์ William ที่ 1 แห่ง Prussia ทรงโปรดให้ Menzel วาดภาพราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของพระองค์ ภาพนี้มีคน 132 คน และ Menzel ต้องใช้เวลา 4 ปีในการวาด
ความสำเร็จนี้ทำให้ Menzel ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย Berlin และโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี
เมื่ออายุ 80 ปี ได้รับสายสะพาย Order of the Black Eagle ในตำแหน่ง Adolph von Menzel
ในด้านชีวิตส่วนตัว Menzel เป็นคนร่างเตี้ย คือสูงประมาณ 140 เซนติเมตรเท่านั้นเอง ปมด้อยนี้ทำให้ชอบอยู่ตามลำพัง และเป็นคนอ่อนไหวต่อคำสบประมาท แต่ก็เป็นลูกที่กตัญญูต่อบิดามารดา เป็นพี่ชายที่แสนดีต่อน้องๆ และหลาน โดยได้วาดภาพประกอบในหนังสือ Children’s Album ที่อุทิศให้หลาน
Menzel เสียชีวิตเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1905 สิริอายุ 90 ปี
ณ วันนี้ Menzel ได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรเยอรมันหนึ่งในสองคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 (อีกคนคือ Casper David Friedrich) ผู้มีผลงานศิลปะมากมาย ที่ชาวเยอรมันทุกคนรัก จนแทบไม่มีผลงานใดของ Menzel ที่ถูกนำออกขายทอดสู่พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ
ในภาพ “The Flute Concert of Frederick the Great at Sans Saucci” ที่ Menzel วาดในปี 1850 ถึง 1852 มีความสำคัญในประเด็นที่กษัตริย์ Frederick ทรงดนตรีให้พระประยูรญาติและพระสหายฟัง ในห้องดนตรีที่พระราชวัง Sans Soucci (ไร้กังวล) ในเมือง Potsdam
ในภาพเราจะเห็นบรรยากาศตกแต่งและเครื่องประดับที่มีในห้องว่าเป็นแบบ Roccoco และเห็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ทรงเป็นมหาราช ไม่ใช่เพราะความสามารถทางการทหารเหมือนมหาราชองค์อื่นๆ แต่เป็นมหาราชเพราะพระทรงมีปรีชาสามารถด้านวัฒนธรรม และความเป็นอารยะ Menzel วาดภาพนี้ได้เหมือนจริงมาก จนดูเสมือนเป็นภาพถ่าย แสดงห้องดนตรีที่มีแสง และบรรยากาศ จนคนที่ดูภาพเสมือนได้ยินเสียงดนตรี และได้กลิ่นน้ำหอมที่อบอวลอยู่ภายในห้อง
สำหรับปราสาท Sans Soucci นี้ กษัตริย์ Frederick ทรงโปรดให้สร้างในปี 1745 ที่เมือง Potsdam นั้น เป็นพระราชวังที่พระองค์ทรงโปรดปรานมากที่สุด เพราะเสด็จไปประทับบ่อย
ภาพที่ Menzel วาดนี้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณปี 1750 ในภาพเราจะเห็นชายคนที่ยืนซ้ายสุดของภาพมีใบหน้าระรื่น เขาคือ Baron Jacob Friedrich von Bielfeld ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน และขุนนาง ท่านบารอนเป็นแขกที่ได้รับเชิญไปพำนักที่พระราชวัง Rheinberg บ่อย ในสมัยที่ Frederick ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร โดยพระองค์จะทรงดนตรีให้ราชอาคันตุกะฟัง ซึ่งในสมัยนั้นแขกที่ได้รับเชิญให้เข้าฟังต้องเป็นคนสำคัญของชาติ และตามปกติทุกคนจะถือเป็นเกียรติมากที่ได้เข้าฟัง และดูมกุฎราชกุมาร Frederick ทรงขลุ่ยด้วยความชำนาญอย่างหานักดนตรีอื่นใดเทียบเคียงได้ยาก ท่านบารอนได้เอ่ยคำชมว่า พระองค์ทรงขลุ่ยได้อย่างเยี่ยมยอด อีกทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถในทุกเรื่อง
ส่วนบุคคลอื่นๆ เมื่อได้รับบัตรเชิญ แม้จะไม่ชอบดนตรีคลาสสิกก็ต้องไป นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักคณิตศาสตร์ชื่อ Pierre Louis Moreau de Maupertuis ซึ่งเป็นปราชญ์ฝรั่งเศสผู้ได้แสดงให้ทุกคนเห็นเป็นคนแรกว่า โลกมิได้มีสัณฐานกลม แต่แฟบเล็กน้อยที่ขั้วโลก de Maupertuis ได้รับโปรดเกล้าโดย Frederick ให้เป็นนายกของ Academy of Sciences ในฝรั่งเศส เพราะมีความสามารถทั้งศาสตร์และศิลป์ จึงเป็นคู่ปรับของปราชญ์ฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่งชื่อ Voltaire ในภาพเราจะเห็น de Maupertuis เงยหน้าขึ้นดูเพดาน แสดงว่าเบื่อฟังที่สุด โชคดีที่ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ พระองค์จึงทรงไม่เห็น
ชายคนที่ยืนระหว่างท่าน Baron กับ de Maupertuis ที่สวมผมปลอมแบบโบราณ คือท่าน Count Gustav Adolf von Gotter ผู้เคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุง Vienna และ Frederick ทรงโปรดให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการติดต่อต่างประเทศ
คนสำคัญทั้งสามยืนอยู่ทางซ้ายสุดของภาพ ในห้องทรงดนตรีนี้ตามปกติคนที่ไม่สำคัญมากจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าไป แต่ภาพนี้ไม่มีพระอนุชาในกษัตริย์ Frederick เลย ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงมีพระอนุชาถึง 6 พระองค์ และทุกองค์ยังทรงพระชนม์ชีพ ทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเหล่าพระอนุชาไม่ได้ราบรื่น ด้านพระมเหสีก็ไม่มีในภาพวาด เพราะพระนางไม่เคยเสด็จที่ Sans Soucci เลย และทรงอภิเษกสมรสกับ Frederick เพราะ Frederick ทรงถูกพระบิดา Frederick William ที่ 1 ทรงบังคับ พระนางโปรดการประทับที่ Berlin และ Frederick ชอบประทับที่ Potsdam
สตรีคนที่นั่งใต้โคมระย้า คือ พระเชษฐภคินี Wilhelmina ซึ่งมีพระชนมายุมากกว่าพระองค์ 3 ปี และทรงช่วยพระอนุชาต่างๆ นานา ขณะทรงถูกพระราชบิดาบังคับจิตใจ นางจึงเป็นสตรีคนเดียวในชีวิตของ Frederick ที่ทรงเข้าพระทัยพระองค์ และ Menzel ได้วาดให้นางประทับ ณ ตำแหน่งที่สมควรเป็นของพระราชินี Menzel ยังได้วาดภาพผู้หญิงอีก 4 คนในภาพ ซึ่งในความเป็นจริงกษัตริย์ Frederick ทรงไม่โปรดปรานสตรีนัก เพราะทรงโปรดปรานดนตรี และการเสวนากับปราชญ์มากกว่า
ชายคนที่ยืนขวาสุดของภาพ คือ Carl Emanuel ซึ่งเป็นพระอาจารย์สอนดนตรีถวายพระองค์ นักดนตรีที่ Frederick ทรงโปรดปรานคือ Johann Sebastian Bach แต่เพลงที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด คือเพลงพระราชนิพนธ์ในพระองค์เอง
สำหรับเหตุผลที่ Menzel วาดภาพนี้ นักประวัติศิลปะเชื่อว่า ในเวลานั้นสถานการณ์ทางการเมืองในเยอรมนีค่อนข้างหดหู่ เพราะ Napoleaon เพิ่งทำสงครามชนะเยอรมนี และการเรียกร้องให้ชาวเยอรมันผนึกกำลังกันเพื่อความเป็นปึกแผ่นของประเทศยังไม่บังเกิด
ดังนั้น Menzel จึงดำริให้ Frederick ทรงมีบทบาทในการสร้างสามัคคีของชาวเยอรมันเพื่อให้นานาชาติรู้จักและยอมรับอีกครั้งหนึ่ง
แต่ในความเป็นจริง Frederick เองก็ทรงมิได้เป็นชาวเยอรมันอย่างสมบูรณ์ เพราะพระองค์ทรงโปรดการตรัส และเขียนหนังสือเป็นภาษาฝรั่งเศส อีกทั้งไม่โปรดวรรณกรรมเยอรมันมาก การที่พระองค์ทรงทรงดนตรีที่ Sans Soucci เพราะวงดนตรี orchestra และดนตรี chamber เป็นศิลปะประจำชาติเยอรมัน ดังนั้น เวลาคนเยอรมันเห็นกษัตริย์เยอรมันทรงขลุ่ยในวงดนตรีที่มีทั้งไวโอลิน และแทบเปียโน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีซึ่งชนชั้นกลางนิยมเล่นกัน เขาจึงอาจจะเกิดความรู้สึกรักและมีความหวังในประเทศชาติต่อไป
ภาพ “The Flute Concert” จึงบอกอะไรๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคของ Menzel และกษัตริย์ Frederick ที่ 2 ที่ Menzel รักและเทิดทูน
อ่านเพิ่มเติมจาก Adolph Menzel 1815-1905: Between Romanticism and Impressionism โดย C. Kleisch et al. ที่จัดพิมพ์โดย Yale University Press, London and New Haven ในปี 1996
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์