กิจกรรมดูจันทร์เสี้ยวแรกก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนเป็นกิจกรรมสำคัญของชาวมุสลิมเพื่อกำหนดวันเริ่มถือศีลอดนาน 1 เดือน ทำไมการดูดวงจันทร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ?
รศ.นิแวเต๊ะ หะยีวามิง อาจารย์ดาราศาสตร์และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ปัตตานี อธิบายว่า อิสลามใช้ดวงจันทร์กำหนดวันเดือนปี และถือปฏิทินจันทรคติ แต่เวลาการโคจรของดวงจันทร์นั้นสั้นกว่าดวงอาทิตย์ จึงกำหนดวันที่แน่นอนอย่างปีสุริยคติไม่ได้
เวลาตามปฏิทินจันคตินั้นจะเลื่อนปีละ 10 วัน โดย 33 ปีจะรอบ 1 รอบ ขณะที่ปฏิทินจันคติตามความเชื่อของไทยหรือของจีนนั้นจะมีการชดเวลา ซึ่งบางปีไทยมีเดือน 8 สองครั้ง แต่จันทรคติของอิสลามนั้นไม่ชดเวลา โดยช่วงเวลาจันทร์เพ็ญถึงจันทร์เพ็ญนาน 29.5 วัน แต่ทำเวลาเป็นปฏิทินได้ไม่ลงตัว ดังนั้น บางเดือนจึงมี 29 วัน และบางเดือนมี 30 วัน
รศ.นิแวเต๊ะกล่าวว่าเมื่อถึงวันที่ 29 ของเดือนแล้วจะทราบว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่หรือไม่ ต้องดูสถานะของดวงจันทร์ แต่เราก็ไม่สามารถไล่ดูได้ทุกเดือน ซึ่งถ้าใช้การคำนวณก็จะทราบ อย่างวันที่ 17 มิ.ย.58 เป็นวันที่ 29 ของเดือนเก่าก่อนเริ่มเดือนรอมฎอน ถ้าใช้การคำนวณก็จะทราบว่าวันที่ 18 มิ.ย.เป็นวันแรกของเดือนรอมฎอน
อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมยึดถือคำสอนของศาสดานบีมูฮัมหมัด ที่กำหนดให้ดูดวงจันทร์เพื่อบอกว่าเป็นวันแรกของเดือนใหม่หรือไม่ ถ้ามีดวงจันทร์ก็นับวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 1 ซึ่งการสังเกตจันทร์เสี้ยวหลังจันทร์ดับหรืออิสตีมะฮ์จะเห็นได้เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์แยกกันหรือมีมุมแยกมากกว่า 7 องศา
รศ.นิแวเต๊ะอธิบายว่า มุมแยกคือมุมระหว่างเส้นตรงที่ลากจากผู้สังเกตบนโลกไปยังดวงอาทิตย์กับเว้นตรงที่ลากผู้สังเกตบนโลกไปยังดวงจันทร์ ยิ่งมีมุมแยกมากยิ่งดี ซึ่งการสังเกตจันทร์เสี้ยวเล็กๆ นั้นยาก ถ้ามุมแยกน้อยดวงจันทร์จะตกตามดวงอาทิตย์เร็ว หรือในช่วงจันทร์ดับนั้นมีมุมแยกเป็นศูนย์ดวงจันทร์จะตกพร้อมดวงอาทิตย์
สำหรับช่วงรอมฎอนในปี 2558 นี้ดวงจันทร์ผ่านจุดดับเวลา 21.00 น.ของวันที่ 16 มิ.ย. ซึ่งในวันที่ 17 มิ.ย.ชาวมุสลิมทั่วประเทศจะออกไปสังเกตจันทร์เสี้ยว โอกาสนี้ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศกองทัพอากาศ จึงร่วมกับศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม และศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) จัดกิจกรรมสังเกตดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันวันถือศีลอดเดือนรอมฎอน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ณ กองบิน 56 จ.สงขลา
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเวลา 18.36 น.ซึ่งผ่านช่วงจันทร์ดับประมาณ 22 ชั่วโมง จึงคำนวณตำแหน่งดวงจันทร์เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าได้ 11 องศา และมีเวลาในการสังเกตดวงจันทร์ 44 นาทีก่อนดวงจันทร์ลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ เนื่องจากดวงจันทร์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้า 1 องศาทุกๆ 4 นาที
ด้าน น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการลีซาอธิบายเพิ่มเติมแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลกเป็นมุม 360 องศา ซึ่งดวงจันทร์ โคจรครบโลกใช้เวลา 29.5 วัน คำนวณได้ว่า ตำแหน่งดวงจันทร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าหลังตะวันตกดินจะเปลี่ยนไปทุกวันๆ ละไม่เกิน 12 องศา
"สำหรับประเทศไทยจะเป็นวันใหม่ได้ดวงจันทร์ต้องค้างไม่ต่ำกว่า 40 นาที ส่วนมาเลเซียกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 12 นาที ขณะที่ซาอุดิอารเบียกำหนดเป็นวันใหม่เมื่อดวงอาทิตย์ตกก่อนดวงจันทร์ ซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการสังเกตจันทร์เสี้ยวที่ปรากฎหลังจันทร์ดับ แต่บางประเทศก็เริ่มนำการคำนวณมาใช้ ซึ่งอนาคตหากความเข้าใจในดาราศาสตร์มากขึ้น เราอาจใช้การคำนวณแทน แต่การสังเกตดวงจันทร์ก็ยังกิจกรรมที่มีความสำคัญ" รศ.นิแวเต๊ะกล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.นิแวเต๊ะกล่าวว่าจากการวิจัยของเขาโดยศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 25 ปีการประกาศวันถือศีลและวันรายอของจุฬาราชมนตรี แล้วใช้การคำนวณพบว่าตลอด 25 ปี ได้เห็นจันทร์เสี้ยวจริงเพียง 25% อีก 30% ดวงจันทร์มีลักษณะน้อยเกินกว่าจะเห็นได้ และอีกประมาณ 30% ไม่เห็นเลย
ทว่าในการสังเกตดวงจันทร์เมื่อ 17 มิ.ย. ณ กองบิน 56 ไม่สามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์ได้ เนื่องจากมีเมฆหนาทึบและมีฝนประปราย แต่ นายอมัด เพียรสกุล นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนป่าเรียนวิทยา อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การมาร่วมสังเกตดวงจันทร์กำหนดเดือนรอมอฎอนในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกสำหรับเขาและเพื่อนๆ อีกกว่า 20 ชีวิตที่โรงเรียนพามาร่วมสังเกตด้วยกัน
แม้สภาพอากาศจะไม่อำนวยทำให้ไม่เห็นดวงจันทร์แบบที่คาดไว้ แต่นายอมัดยังรู้สึกดีใจเพราะได้เห็นบรรยากาศการสังเกตดวงจันทร์ด้วยตาตัวเอง จากปกติที่จะต้องรอฟังจากแถลงการณ์ของจุฬาราชมนตรีเท่านั้น และยังได้ความรู้จากวิทยากรที่มาบรรยายไปมากพอสมควร อาทิ วิธีการสังเกตดวงจันทร์, การใช้แอปพลิเคชันดูดาวจากสมาร์ทโฟน
"ดวงจันทร์กับมุสลิมเป็นของคู่กัน แต่ปกติเวลาดูรอมฎอนจะมีผู้นำเป็นคนดูแล้วมาบอกว่าเห็นดวงจันทร์แล้วตลอด โดยที่ผมไม่รู้ว่าจริงๆ เขาสังเกตยังไง แต่ตอนนี้ผมรู้วิธีวัดมุมและวิธีการสังเกตแล้ว คราวหลังผมก็จะเริ่มดูเอง จะนำความรู้ที่ได้ไปสอนคนที่บ้านให้ดูเป็นด้วย" อมัดกล่าว
*******************************