xs
xsm
sm
md
lg

2 ช่องทางปรับนาฬิการับเวลามาตรฐานใหม่ช้าลง 1 วินาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มว.เผย 2 ช่องทางปรับนาฬิการับเวลามาตรฐานใหม่ช้าลง 1 วินาที ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและสถานีวิทยุระบบ FM RDS ที่ปรับเวลาผ่านระบบการถ่ายทอดเวลามาตรฐานประเทศไทย ชี้การปรับเวลาให้ช้าลงไม่อยู่ในช่วงเวลาทำการของประเทศไทย จึงลดความสับสนได้มาก พร้อมอธิบายถึงสาเหตุของปรับเวลาจากการอิงเวลาจากการวัดและคำนวณทางดาราศาสตร์และการอิงเวลาจากนาฬิกาอะตอม

หลังจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้ออกประกาศเรื่องเปลี่ยนแปลงเวลามาตรฐานประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยจะเปลี่ยนแปลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จากเวลา 07 นาฬิกา 00 นาที 01 วินาที เป็นเวลา 07 นาฬิกา 00 นาที 00 วินาที เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเวลาตามมาตรฐานสากล

ทางด้านสถาบันมาตรวิทยา (มว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า มว.ในฐานะผู้รับผิดชอบในการรักษามาตรฐานทางด้านเวลาและความถี่ของประเทศไทย และยังเป็นสมาชิกของสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (Bureau International des Poids et Measure: BIPM) ในฝรั่งเศส จึงได้เตรียมพร้อมรองรับการเพิ่มเวลา 1 วินาที หรืออธิกวินาที (Leap Second) เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนรับการถ่ายทอดเวลาที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ มี 2 ช่องทางปรับเวลาที่ผ่านระบบการถ่ายทอดเวลามาตรฐานประเทศไทย ได้แก่

1. ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต Network Time Protocol (NTP) โดยดาวน์โหลดโปรแกรมเวลามาตรฐานประเทศไทยได้ที่ www.nimt.or.th ซึ่งทาง มว.มีข้อแนะนำและขั้นตอนในการปรับเทียบเวลาทางอินเตอร์เน็ตแสดงไว้ในแต่ละขั้นตอน ภายใต้หัวข้อ “วิธีการปรับเทียบเวลามาตรฐานประเทศไทยด้วยโปรแกรม Freeware”

2. ผ่านทางสถานีวิทยุระบบ FM RDS ซึ่งจะทำการส่งสัญญาณเวลามาตรฐานไปพร้อมกับคลื่นวิทยุ FM โดยอาศัยคลื่นวิทยุของสถานีวิทยุกระจายเสียง เช่น คลื่นวิทยุความถี่ 102.5 MHz ของกองทัพอากาศ หรือคลื่นวิทยุความถี่ 95.0 MHz ของ อสมท. ซึ่งผู้ที่จะทำการรับสัญญาณจะต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถรองรับสัญญาณวิทยุจากระบบ RDS ได้ ซึ่งมีมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาที่สามารถรับการควบคุมโดยสัญญาณวิทยุจากระบบ RDS, โทรศัพท์มือถือ, วิทยุ FM ระบบนำทางในรถยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มว.ระบุว่าเป็นความโชคดีที่การเพิ่มเวลา 1 วินาทีอยู่ในช่วงที่ไม่ใช่เวลาทำการของประเทศไทยที่เริ่มประมาณ 08.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งช่วยลดความสับสนในช่วงการปรับเปลี่ยนเวลา และยังถือเป็นโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการรักษาและการคำนวณเวลามาตรฐานสากล

สำหรับ มว.ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้โดยห้องปฏิบัติการเวลาและความถี่ได้ใช้นาฬิกาอะตอมซีเซียม 3 เรือนกำหนดเวลามาตรฐานร่วมกับนาฬิกาอะตอมอีกกว่า 400 เรือนทั่วโลก อีกทั้งยังเปรียบเทียบเวลากับเวลามาตรฐานสากลผ่านระบบดาวเทียมนำทาง (GPS)

ทางด้าน ดร.ปิยพัฒน์ พูลทอง นักมาตรวิทยา มว. กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการรักษาเวลาที่ใช้ในโลกของเรา แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ 1.ระบบเวลาสุริยะ (Universal Time: UT1) ซึ่งเป็นเวลาที่ได้จากการวัดและคำนวนทางดาราศาสตร์ เช่น การหมุนรอบตัวเองของโลก เป็นต้น โดยมีหน่วยงาน International Earth Rotation and Reference Systems Service (IERS) เป็นผู้รับผิดชอบ และ 2.ระบบเวลามาตรฐานสากลเชิงพิกัด (Coordinated Universal Time: UTC) ซึ่งได้เวลามาจากนาฬิกาอะตอมซีเซียม ที่ใช้เป็นมาตรฐานทางด้านเวลาและความถี่ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก โดยมีสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ หรือ BIPM เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

เพื่อให้ระบบการรักษาเวลามาตรฐานทั้งสองระบบมีค่าสัมพันธ์กัน ดร.ปิยพัฒน์ระบุว่า เมื่อความแตกต่างระหว่างระบบเวลาสุริยะและระบบเวลามาตรฐานสากลเชิงพิกัดมีค่าใกล้กับ 0.9 วินาที จะต้องมีการปรับเวลา ให้เวลาทั้ง 2 ระบบมีความสอดคล้องกัน คล้ายกับกรณีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ซึ่งใช้เวลา 365.242 วันใน 1 ปี ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มวันทุกๆ 4 ปี ให้มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์

“โลกหมุนช้าลงทุกๆ วันอันเนื่องมาจาก วิถีการโคจรของดวงจันทร์ การเกิดน้ำขึ้นและน้ำลง การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้กระทั่งการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยโลกจะหมุนช้าลงประมาณ 1 ใน 1,000 วินาทีในแต่ละวัน ทำให้ในแต่ละปี หรือ365 วัน โลกจะหมุนช้าลงประมาณ 3 ใน 10 ของวินาที โดยตามมาตรฐานสากลหากเวลาช้าลงสะสมกันใกล้เคียงกับค่า 9 ใน 10 ของวินาที จะต้องมีการปรับเพิ่มเวลาให้กับนาฬิกา 1 วินาที” ดร.ปิยพัฒน์กล่าว

สำหรับปีนี้ มว.จะเพิ่มเวลามาตรฐานของประเทศไทยพร้อมกับนานาประเทศ โดยมีการประกาศให้เพิ่มเวลาที่วินาทีที่ 60 ในช่วงเวลาเที่ยงคืน ของวันที่ 30 มิ.ย.58 ณ จุดอ้างอิงของเวลาสากลเชิงพิกัดที่เมืองกรีนิช ซึ่งตรงกับเวลา 7 โมงเช้าของวันที่ 1 ก.ค.58 ในประเทศไทย โดยในช่วง 5 วินาทีในขณะนั้นนาฬิกาของประเทศไทย จากเดิมเวลาปกติจะเดินเป็น 6:59:58, 6:59:59, 7:00:00, 7:00:01, 7:00:02 เมื่อเปลี่ยนอธิกวินาทีจะเดินเป็น 6:59:58, 6:59:59, 6:59:60, 7:00:00, 7:00:01






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น