สดร.ชวนดูดาวเคียงกัน วันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.58 เผยดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนที่มาอยู่ชิดกัน ที่ระยะห่างเชิงมุม 0.4 องศา มองด้วยตาจะเห็นปรากฎสว่างคู่เคียงกันทางทิศตะวันตกหลังอาทิตย์ตกดินจนถึงประมาณสามทุ่ม ลุ้นให้ฟ้าใส ไม่มีเมฆฝน ชมได้ทั่วไทย
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ยังคงมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจชวนให้จับตามอง คือ ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. - 1 ก.ค.58 ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้าใกล้กันมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างเชิงมุม 0.4 องศา หรือประมาณน้อยกว่าครึ่งนิ้วก้อยเท่านั้น โดย 1 นิ้วก้อยมีระยะเชิงมุมประมาณ 1 องศา
“มองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองดวงอยู่ชิดติดกันบนท้องฟ้า ทางทิศตะวันตก ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงเวลาประมาณสามทุ่มจึงตกลับขอบฟ้าไป หากฟ้าใส ไม่มีเมฆสามารถมองเห็นความสวยงามของดาวเคราะห์เคียงกันด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นแล้วถ้าดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ จะสังเกตเห็นดาวเคราะห์ 2 ดวง ในเฟรมเดียวกัน และชิดกันมาก โอกาสดีๆ แบบนี้มีมาไม่บ่อย” รศ.บุญรักษากล่าว
การที่ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงชิดกันบนท้องฟ้าในครั้งนี้ รศ.บุญรักษาอธิบายว่าทางดาราศาสตร์จะเรียก “ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา ซึ่ง 1 กำปั้นมีระยะเชิงมุมประมาณ 10 องศา สำหรับดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี มีการโคจรมาใกล้กันมาที่สุดในรอบ 14 ปี ที่ระยะห่างเชิงมุม 0.2 องศา เมื่อวันที่ 18 ส.ค.57 ที่ผ่านมา แต่สังเกตได้ยากเนื่องจากเป็นเวลากลางวัน แต่ในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. - 1 ก.ค. ที่จะถึงนี้ จะสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่อาทิตย์ลับของฟ้าเป็นต้นไป นับเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในคืนดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
*******************************