xs
xsm
sm
md
lg

ตามติดพิชิตดาวเคียงเดือน

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพปรากฏการณ์ดาวศุกรฺและดาวพฤหัสบดี ที่เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งเริ่มเข้าใกล้กันมากขึ้น โดยในช่วงนี้หากเราทำการสังเกตทุกวันอย่างต่อเนื่องจะเห็นว่า ดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งเร็วอย่างเห็นได้ชัด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 38 mm. / Aperture : f/3.5 / ISO : 2000 / Exposure : 2.5 sec.)
ความจริงแล้วคอลัมน์นี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่อง ภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ ในตอนที่ 2 แต่ต้องขออนุญาตยกเอาไปไว้คอลัมน์ต่อไป เพราะช่วงนี้ต้องยกให้ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนก่อนครับ เนื่องจากในช่วงนี้นอกจากเราจะได้มีโอกาสเห็นดาวเคียงเดือนหรือดวงจันทร์ยิ้มแล้ว ในช่วงต่อเนื่องกันเราจะยังได้มีโอกาสได้เห็นดาวเคราะห์เคลื่อนที่มาใกล้กัน จนสามารถมองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้พร้อมกัน เอาล่ะครับเรามาดูกันว่าปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในช่วงนี้จะมีอะไรบ้างและน่าจะสามารถถ่ายภาพอะไรกันไว้บ้าง มาดูกันครับ

1. การเปลี่ยนตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับปรากฏการณ์แรกที่น่าติดตามก็คือ การเฝ้าสังเกตการการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีทุกๆวัน ซึ่งดาวพฤหัสบดีจะเปลี่ยนตำแหน่งอย่างรวดเร็วโดยจะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดาวศุกร์มากขึ้นเรื่อยๆ จากมุมมองจากโลก ดังนั้น หากใครที่มีกล้องก็สามารถตั้งกล้องไว้ที่มุมเดิม ตำแหน่งเดิมแล้วคอยถ่ายภาพการเปลี่ยนแปลงทุกๆ วันก็จะได้ภาพที่แสดงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนครับ

ช่วงวันที่ 13 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมานั้น ดาวศุกร์ก็อยู่ในตำแหน่งใกล้กับกระจุกดาวรวงผึ้ง M44 ซึ่งเราก็สามารถถ่ายภาพไว้ได้ เพราะเราจะไม่เห็นการใกล้กันแบบนี้ได้ทุกวัน ก็ถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่น่าถ่ายภาพเก็บไว้ครับ

ในการถ่ายภาพนั้น สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ การถ่ายภาพโดยคำนึงถึงเวลาที่เหมาะสม ที่ดาวจะไม่ยืดเป็นเส้น ซึ่งสามารถใช้สูตรการคำนวณ Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาถ่ายภาพเบื้องต้นได้

ภาพดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งใกล้กับกระจุกดาวรวงผึ้ง M44 ในช่วงวันที่ 13 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 38 mm. / Aperture : f/3.5 / ISO : 2000 / Exposure : 2.5 sec.)
2. ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือน (Planet Conjunction) ในช่วงวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2558

ในช่วงวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2558 นี้ เราจะได้สัมผัสกับความสวยงามของท้องฟ้าเป็นเวลาถึง 3 คืนติดต่อกัน ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนนี้สามารถสังเกตเห็นได้ หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกด้วยตาเปล่า พร้อมกันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนวิสัยท้องฟ้าของแต่ละพื้นที่ด้วย)

***ตำแหน่งมุมร่วมทิศ (conjunction) คืออะไร

ตำแหน่งมุมร่วมทิศ (conjunction) คือการที่มีวัตถุท้องฟ้าตั้งแต่ 2 วัตถุ มาปรากฏอยู่ในแนวเดียวกันหรือทิศทางเดียวกัน มักเป็นช่วงที่อยู่ใกล้กันตามแนวเส้นแวง (Longitude) ของวงกลมท้องฟ้าเมื่อมองจากโลก โดยวัตถุนั้นอาจเป็นดาวเคราะห์ กับดวงอาทิตย์ (Sun) หรือ ดวงจันทร์ (Moon) ก็ได้

ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะอยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยว ซึ่งในแต่ละวันจะสามารถสังเกตเห็นรูปแบบการปรากฏที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและเฟสของดวงจันทร์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
ภาพจำลองปรากกฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนในวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2558  โดยในวันที่ 20 มิถุนายน ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งปรากฎบนท้องฟ้าใกล้เคียงกันเกิดเป็นภาพดวงจันทร์ยิ้มตะแคงข้างดังภาพจำลองข้างบน
สิ่งที่น่าจับตามองที่สุด คือวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน เราจะเห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่มี ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างกันเพียง 6 องศา มองดูคล้ายสองตา และดวงจันทร์ข้างขึ้น 3 ค่ำจะปรากฏเป็นเสี้ยว ตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสอง ดาวศุกร์จะสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี ปรากฏคล้าย “พระจันทร์ยิ้ม” ซึ่งสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงประมาณ 3 ทุ่มก็จะตกลับขอบฟ้า

นอกจากนี้เราก็จะยังมีโอกาศได้เห็นปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) ที่เกิดจากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนกับผิวโลกไปยังดวงจันทร์ และสะท้อนกลับมายังผู้สังเกตบนโลกอีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นแสงจางๆ จากด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เราสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในช่วงดังกล่าวเช่นกัน

หลายๆ คนคงจำได้กับปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้มเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นประกอบด้วย ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์เสี้ยว ข้างขึ้น 2 ค่ำที่สร้างรอยยิ้มและความประทับใจกับใครหลายๆคนมาแล้ว

ในการถ่ายภาพนั้น เราก็ใช้เทคนิคเดียวกันกับการถ่ายภาพทั่วไปที่ ใช้สูตรการคำนวณ Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาถ่ายภาพเบื้องต้นได้ แต่ส่วนตัวผมจะขอแนะนำให้ถ่ายในช่วงที่เป็นแสงทไวไลท์ จะเป็นช่วงที่สวยที่สุดและจะสามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์แสงโลกไว้ได้อีกด้วย
ภาพปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือที่เรียกติดปากกันว่าพระจันทร์ยิ้มเหนือฟ้าเมืองไทย วันที่ 1 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : FUJI S5Pro / Lens : Sigma 18-200 mm. / Focal length : 18 mm. / Aperture : f/6.3 / ISO : 200 / Exposure : 1/160 sec.)
3. ดาวเคราะห์ชุมนุม

ในช่วงปลายเดือนวันที่ 30 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2558 เราก็จะมีโอกาสดี ที่จะเห็นปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม โดยดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี จะเคลื่อนที่มาอยู่ห่างกันเพียง 0.4 องศาเท่านั้น โดยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทั้งประเทศทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว

หากใครที่มีกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายประมาณ 50 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็นทั้งดาวศุกร์ที่มีลักษณะเป็นเสี้ยวกับดาวพฤหัสบดีที่มีดวงจันทร์บริวารในมุมมองเดียวกัน ได้อย่างสวยงาม
ภาพจำลองตำแหน่งดาวเคราะห์ ได้แก่ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ที่จะเคลื่อนที่มาใกล้กันมากที่สุด ในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2558

ในการถ่ายภาพนั้น ผมแนะนำว่าโอกาสดีแบบนี้ ควรถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขาตามดาวจะดีที่สุด เพราะเราจะสามารถเก็บรายละเอียดของดาวเคราะห์ทั้งสองไว้ดีที่สุด
ภาพดวงจันทร์เคียงดาวพฤหัสบดีและ ดวงจันทร์บริวาร ถ่ายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งวันดังกล่าว ดวงจันทร์อยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดีไม่เกิน 1 องศา (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / + Takahashi TOA150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : 7.3 / ISO : 200 / Exposure :1/400s)
4. การกลับมาอีกครั้งของดาวเคียงเดือน

ในช่วงวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 เราก็จะยังสามารถที่เห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่มี ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างกันเพียง 5 องศา มองดูคล้ายสองตา และดวงจันทร์ข้างขึ้น 2 ค่ำจะปรากฏเป็นเสี้ยว ตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสอง ได้ทั่วทั้งประเทศทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกันกับเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา

แต่ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะอยู่ห่างจากดาวเคราะห์ทั้งสองมากกว่าวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมาเล็กน้อย ซึ่งใครที่พลาดโอกาสถ่ายภาพในวันที่ 20 มิถุนายน ก็สามารถแก้ตัวได้อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 18 กรกฎาคม นี้อีกครั้งครับ
ภาพจำลองปรากกฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนในวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 ที่มีดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างกันเพียง 5 องศา มองดูคล้ายสองตา และดวงจันทร์ข้างขึ้น 2 ค่ำจะปรากฏเป็นเสี้ยว ตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสอง

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน














กำลังโหลดความคิดเห็น