สำหรับคอลัมน์นี้ผมขอเล่าประสบการณ์การเดินทางไปถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ บริเวณขั้วโลกเหนือ ณ หมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งภาระกิจนี้เราเดินทางไปติดตามปรากฏการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเพื่อบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว รวมถึงการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในอนาคต
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 10:11 - 12:12 น. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.58 ตามเวลามาตรฐานท้องถิ่น ณ ประเทศนอร์เวย์ โดยเวลาที่ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เต็มดวงคือ 11:10 – 11:13 น. รวมช่วงเวลาการเกิดคลาสเต็มดวงนาน 2 นาที 47 วินาที โดยทำการศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้น ทั้งทางตรง และทางอ้อม ที่เกิดขึ้นตลอดทุกช่วงปรากฏการณ์ รวมทั้งการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดควบคู่ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์ฯ ได้แก่ ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily"s Beads) ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect) และปรากฏการณ์เงาเสี้ยว
การทำงานของเราในครั้งนี้ มีการถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอในรูปแบบต่างๆ คือ
1.ถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงแบบมุมแคบ
2.ถ่ายวีดีโอปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
3.ถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงแบบมุมกว้าง ตลอดทั้งปรากฏการณ์
4.ถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงแบบมุมกว้าง 360องศา เพื่อใช้ในการจัดทำภาพยนตร์ทางดาราศาสตร์สำหรับท้องฟ้าจำลองระบบดิจิทัล
การศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะนำไปใช้จัดทำเป็นสื่อเผยแพร่ความรู้ทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง และใช้เป็นฐานข้อมูลในการศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไป
ในการปฏิบัติงานนั้น ทางทีมสังเกตการณ์ได้เดินทางล่วงหน้า 2 วัน เพื่อทำการศึกษาสำรวจสถานที่จุดสังเกตการณ์ที่เหมาะสมที่สุด ที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์ รวมทั้งได้ลองทดสอบอุปกรณ์ก่อนล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดปรากฏการณ์จริง
สำหรับการวางแผนการเดินทางเพื่อภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ ครั้งนี้เราได้มีการวางแผนการปฏิบัติงานล่วงหน้าโดยการศึกษาสำรวจสถานที่สังเกตการณ์ปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ตามบริเวณที่แนวคราสพาดผ่าน
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนั้นเริ่มเกิดขึ้นในเวลา 08:30 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ และเคลื่อนต่อไปยังยุโรปตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังคงอยู่ในยุโรปเหนือ ส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นได้จากทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอาร์กติก, กรีนแลนด์, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, หมู่เกาะแฟโร, ทางตอนเหนือของนอร์เวย์ และเมอร์แมนสกายา บอลาสท์ โดยเงามืดจะเริ่มเคลื่อนผ่านทางชายฝั่งทางใต้ของกรีนแลนด์
จากนั้นเคลื่อนไปทางทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านระหว่างไอซ์แลนด์และสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะเคลื่อนผ่านหมู่เกาะแฟโรและหมู่เกาะทางตอนเหนือสุดของนอร์เวย์ เงาของคราสปรากฏอยู่ในองศาที่แตกต่างกันไปทั่วทวีปยุโรป ซึ่งจุดทางตอนเหนือสุดของหมู่เกาะแฟโรในทะเลนอร์วิเจียน เห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่สมบูรณ์
จากการศึกษาและวางแผนเลือกสถานที่สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ พบว่าเงาดวงจันทร์จะผ่านใกล้ขั้วโลกเหนือมากที่สุด ซึ่งพบว่าบริเวณ หมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ สามารถใช้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ที่เหมาะสม และการเดินทางสะดวกปลอดภัย ทั้งยังอยู่ใกล้กับแนวคราสการเกิดปรากฏการณ์ จึงเลือกสถานที่ดังกล่าวเป็นจุดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์
เริ่มต้นการเดินทาง
เราเริ่มเดินทางด้วยสานการบินไทย โดยไปเปลี่ยนเครื่องที่เมืองออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ เพื่อเดินทางต่อไปยังหมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน จุดหมายของเรา
รอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบิน เมืองออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ ณ จุดนี้เราเริ่มสัมผัสได้ถึงอากาศหนาวเย็นกันแล้ว แต่ยังไม่หนาวเท่าดอยอินทนนท์
ระหว่างการเดินทางสู่ขั้วโลกเหนือ บริเวณหมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน พื้นที่เต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็งและพื้นทะเลที่เป็นน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตา เราเริ่มสัมผัสได้ถึงความหนาวเย็นกันแล้ว
ถึงจุดหมายแล้วครับ เราเดินทางด้วยสายการบิน SCANDINAVIAN AIRLINES ทุกคนเตรียมพร้อมมาก พอถึงสนามบินปุ๊ป! ทุกคนต่างก็เอาชุดกันหนาวออกมาจากกระเป๋ากันเลย ใครที่เอาชุดกันหนาวดันไปโหลดใต้เครื่องไว้หล่ะก็ แข็งตายแหง
จุดรอรับสัมภาระมีนักดาราศาสตร์จากประเทศต่างๆ ที่มาร่วมสังเกตการณ์ ณ หมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ เช่นกัน เนื่องจากเป็นสถานที่ ที่สามารถเดินทางด้วยพาหนะเครื่องบินได้สะดวกและอยู่ใกล้แนวคราสมากที่สุด
รถรับส่งจากสนามบิน เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ ที่เราติดต่อไว้ล่วงหน้าทั้งในส่วนของที่พักและการเดินทาง ซึ่งมีบริการรับ-ส่ง ตลอดการปฏิบัติงาน ณ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ ที่นี่จะไม่ค่อยมีโรงแรม คนส่วนมากที่มาที่นี่จะขอเช่าที่พักโดยแบ่งเช่ากับเจ้าของบ้านกันครับ ซึ่งดีกว่าโรงแรมแถวบ้านเราเลยทีเดียว แต่ราคาก็ไม่ธรรมดานะครับ โค-ตะ-ระ แพง ลำพังมาคนเดียวคงไม่มีปัญญาจ่ายแน่
สำรวจจุดถ่ายภาพปรากฏการณ์
หลังจากเดินทางถึงที่พักก็เป็นช่วงเย็นแล้ว แต่เรายังไม่หยุด เราเริ่มต้นสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกเหนือกันตั้งแต่คืนแรก เพราะทุกๆ คืนของที่นี่สำหรับตัวผมถือว่ามีค่ามาก เพราะเราคงไม่ได้มีโอกาสมาที่แบบนี้กันบ่อยๆ และผมหวังในใจลึกๆว่า จะได้เห็นแสงออโรล่า สักครั้งในชีวิต ก็มีแสงออโรราพุ่งลงมาจากท้องฟ้าให้ได้เห็นเต็มตา ถึงแม้ว่าแสงไม่แรงมาก แต่เราก็ได้เห็นกับตาจริงๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ของแสงเหนือ น่าตื่นเต้นสุดๆ
สิ่งที่ทำหลังจากยืนมองอึ้งอยู่พักนึง คือ รีบถอดถุงมือแล้วนอนกับพื้นคว้ากล้องมาถ่ายภาพแสงออโรรา จนลืมหนาวไปเลย แต่หลังจากที่หมดแสงออโรราเท่านั้นแหละ ผมถึงกับร้อง "เจี๊ยก" เอ้ยไม่ใช่ เรียกโอ้ยๆ อยู่กลางหิมะ เพราะมือข้างที่กดชัตเตอร์มันเจ็บและปวดมากๆ แตะแทบไม่ได้ต้องรีบกลับเข้าบ้านทันที
“แสงออโรรา ณ ขั้วโลกเหนือ ภาพแรกของทริป...”
สำหรับภาพแรกที่ได้ในการเดินทาง “ภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ” คือการถ่ายภาพปรากฏการณ์แสงออโรรา โดยความโชคดีของคืนนั้น คือจากการตรวจเช็คระดับความแรงของการเกิดออโรรา แจ้งว่ามี ระดับความแรงถึง Kp9 แต่เนื่องจากตำแหน่งของเมืองที่ผมถ่ายภาพไม่ได้อยู่ใกล้กับแนวการเกิดออโรรามากนัก เรียกว่าอยู่ขอบๆ จึงเป็นแสงออโรราแบบเบาๆ (ที่ตำแหน่งละติจูดที่ต่ำลงมาจะใกล้แนวการเกิดมากกว่า เช่น แถบประเทศไอส์แลนด์ แต่ก็ถือว่าเราได้เห็นด้วยตาและถ่ายภาพกลับมาได้ ก็ถือว่าคุ้มค่ามากแล้วครับ
เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับ แสงออโรรา
แสงออโรรา นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากดวงอาทิตย์เกิดจาก "ลมสุริยะ" ชึ่งประกอบด้วยพลาสมา มาพุ่งชนโลกกับสนามแม่เหล็กของโลก แต่ผลการปะทะกันทำให้เกิดเป็นแสงออโรรานั่นเอง
สีสันของแสงออโรรา ส่วนใหญ่ที่พบจะมีสีเขียวหรือสีขาว สีอื่นที่พบได้บ้าง เช่นสีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง
นอกจากนี้สีของแสงออโรราขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊สที่ถูกอิเล็กตรอนที่ชน โดยสีสันของออโรราจากในภาพนั้น เป็นแสงสีฟ้าม่วงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดจากอิเล็กตรอนที่กระทบกับโมเลกุลของไนโตรเจนที่อยู่สูงสุดของชั้นบรรยากาศ ในช่วงเวลาสนธยาใกล้ค่ำจะทำให้เกิดแสงออโรราสีน้ำเงินหรือม่วง
ณ ประเทศนอร์เวย์ ในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผมถ่ายภาพมานั้นท้องฟ้าที่นั้นมีลักษณะคล้ายแสงสนธยาตลอดทั้งคืน ฟ้าไม่มืดสนิท จึงทำให้ได้แสงออโรรา มีลักษณะเป็นสีน้ำเงินกับม่วงนั่นเอง และทางประเทศนอร์เวย์และชาวไวกิง เชื่อกันว่า แสงออโรราคือวิญญาณของสาวพรหมจารีที่มาร่ายร่ำท่ามกลางรัตติกาล
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพแสงออโรรา
สำหรับเทคนิคและวิธีการนั้น ผมก็ไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อนนะครับ แต่ก็ขอเอาประสบการณ์ของตัวเองมาบอกเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ
1. ตรวจสอบระดับความแรงของการเกิดออโรราล่วงหน้า โดยสามารถใช้สมาร์ทโฟน โหลด แอพพลิเคชั่น เพื่อใช้ตรวจสอบได้ ซึ่งที่ผมใช้คือ App Aurora Forecast ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้วันต่อวัน และการพยากรณ์ระดับความรุนล่วงหน้าได้ ซึ่งถือว่ามีระดับความแม่นยำค่อนข้างมาก
App Aurora Forecast สามารถบอกระดับความแรงของการเกิดออโรรา ทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยพื้นที่ ที่แสดงเป็นแถบสีเขียว คือบริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นแสงออโรราได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นวง ซึ่งแถบสีที่ไล่ระดับตั้งแต่สีเขียวไปจนถึงสีแดง คือระดับความเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสเห็นแสงออโรราได้นั่นเอง โดยบริเวณแถบสีแดงจะมีโอกาสเห็นได้มากกว่า
2. การสังเกตการณ์ หลังจากดูการคาดการณ์แล้ว ต่อมาก็คือ การรอคอยเพราะการเกิดออโรรานั้น จากการสอบถามคนที่เคยเห็น มักบอกว่าต้องเฝ้ารอดู ไม่สามารถบอกได้ว่า แสงออโรราจะมาตอนกี่โมง กี่นาที ต้องคอยนอนรอ ถ้าจะมาก็มา ถ้าจะไปก็ไป ซึ่งภายใต้สภาวะอากาศที่หนาวจัด ก็ทรมานมาก แต่ครั้งหนึ่งในชีวิตยังไงก็ต้องทนครับ โดยเราต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้าบ่อยๆ ยิ่งฟ้าเคลียร์ ยิ่งต้องจ้องมอง และที่ผมสังเกตเห็นด้วยตาก็คือ แสงออโรราไม่มีมีสีสันสดใสเหมือนในภาพ แต่มันจะเป็นแสงที่เป็นคลื่นๆ ริ้วๆ จางๆ คล้ายๆ เมฆ แต่อาจจะมีสีจางๆ เท่านั้น
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 8 sec )
4. ความไวแสง (ISO) สำหรับความไวแสงนั้น จริงๆ ก็ไม่มีค่าตายตัวนะครับ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความสว่างของท้องฟ้าพื้นหลังด้วยครับ ส่วนตัวคิดว่า ควรปรับค่าความไวแสง ให้สัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์มากกว่าครับ ซึ่งปกติช่างภาพที่เคยถ่ายภาพออโรราก็มักต้องใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่ค่อนข้างสูง ประมาณ ISO 2000, 3200 หรือมากกว่านั้น เพื่อต้องการถ่ายในช่วงเวลาที่สั้นๆ เพื่อคงรูปร่างของออโรราครับ “อันนี้คงต้องบอกว่าไม่มีค่าตายตัวครับ”
เอาล่ะครับ สำหรับ ภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ ตอนที่ 1 “ออโรรา...แสงแรกของทริป ก็ขอเล่าถึงตรงนี้ก่อนแล้วกันนะครับ ติดตามตอนที่ 2 ต่อไปอีก ซึ่งตอนต่อไปนั้นผมจะต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง ติดตามอีก 2 อาทิตย์ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน