xs
xsm
sm
md
lg

"เรียนธรรมชาติแต่ไม่เข้าใจธรรมชาติ" ตลกร้ายการศึกษาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักพัฒนานวัตกรรม ม.บูรพา
"เด็กไทยเรียนชีวะเยอะแต่ตอบแทบไม่ได้ว่าทุกวันนี้เรากินข้าวไปทำไม? เพราะเราเรียนแบบไม่เข้าใจและเรียนแบบไม่ได้เชื่อมโยง" ถอดมุมมอง ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง สะท้อนปัญหาการศึกษาธรรมชาติวิทยาไทย

"เราเรียนชีวะกันเยอะมาก แต่เคยตอบตัวเองได้ไหมว่าทุกวันนี้เรากินข้าวไปทำไม? กินโปรตีนเพื่ออะไร? เรากลัวจีเอ็มโอเพราะจุดไหน? คนส่วนมากตอบไม่ได้นะ เขารู้แต่ไม่เข้าใจ เพราะเรื่องของธรรมชาติถ้าอยากจะเข้าใจ แก่นแท้ๆของมันคือการรู้จักเชื่อมโยง" ถ้อยคำหนึ่งจากปากของ ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ที่วิเคราะห์ปัญหาการเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาของคนไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ศ.ดร.พิชัย กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง "ธรรมชาติเพื่อมนุษยชาติ" ระหว่างพิธีเปิดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2558 ต่อไปว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเกิดโรคระบาด หรือภัยพิบัติต่างๆ ที่เห็นทุกวันนี้เกิดจากโลกเสียสมดุล ด้วยน้ำมือมนุษย์ผู้ที่อ้างว่าตัวเองรู้จักธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติ แต่กลับเป็นผู้ทำลายธรรมชาติเสียเอง จากการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น ปริมาณขยะของเสียที่เพิ่มขึ้น ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง เพราะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร

ศ.ดร.พิชัย ย้อนถามเยาวชนหัวกะทิของชาติ ที่เข้าร่วมรับฟังการบรรยายว่า "เรากินข้าวไปทำไม?" คำถามง่ายๆ ที่กลับทำให้ห้องบรรยายถึงกับความเงียบงัน ก่อนจะรัวคำถามต่อไปว่า "เรากินโปรตีนไปทำไม?" "กินไขมันไปทำไม?" หรือ "เรากลัวจีเอ็มโอเพราะอะไร?" ก่อนจะเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง พร้อมแสดงทัศนะว่าปัญหาของการศึกษาของเด็กไทยคือ รู้แต่ไม่เข้าใจ เรียนแต่ไม่รู้จักเชื่อมโยงซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการรู้จักธรรมชาติ

ศ.ดร.พิชัย แนะว่า หากเยาวชนรู้จักการมองธรรมชาติอย่างเป็นระบบโดยใช้พื้นฐานทางชีววิทยาที่ดีช่วยอธิบาย จะสามารถตอบคำถามธรรมชาติบนโลกนี้ได้ทั้งหมด แบบไม่ต้องใช้ไทม์แมชชีนเพื่อย้อนอดีตเพราะจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตมีจากธาตุเล็กๆ 4 ธาตุ คือ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) และไนโตรเจน (N) ที่มาพร้อมกับคำว่า "การเปลี่ยนแปลง"

"ธาตุทั้ง 4 ค่อยๆพัฒนาเป็นกรดอะมิโน (Amino Acid) ปรับพันธะเป็นนิวคลีอิกแอซิด (Nucleic Acid) เกิดเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่สร้างก๊าซออกซิเจนที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในช่วงนั้นเกิดการปรับตัวอย่างมหาศาล เกิดเป็นโลกใหม่ที่มีสิ่งมีชีวิตจากน้ำสู่ดินวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นมนุษย์ในที่สุด เพียงแค่เรารู้จักการเชื่อมโยงเราจะเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ จะเข้าใจเหตุผลทุกอย่าง และจะทำให้เราไม่อยากทำลายมันเพราะธรรมชาติคือจุดกำเนิดของทุกสิ่งแม้กระทั่งตัวเรา" ศ.ดร.พิชัย ไล่เรียง

ท้ายสุด ศ.ดร.พิชัย สรุปว่า การรักษาสมดุลของธรรมชาติคือสิ่งสำคัญ สรรพสิ่งบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ต่างก็พยายามที่จะรักษาสมดุลเดิมไว้ให้ได้ แม้จะต้องปรับตัวเพื่อพยายามรักษาสมดุลเดิม (Homeostasis) โดยการใช้พฤติกรรม (Behavier) เพื่ออยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมขณะนั้นให้ได้ ซึ่งนอกจากมนุษย์จะต้องไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับธรรมชาติโดยการช่วยรักษาสมดุลให้กับโลกแล้ว การศึกษาธรรมชาติวิทยาที่แก่นแท้แบบใช้ความเข้าใจก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่จะช่วยให้ธรรมชาติกลับคืนจากสภาวะเสียสมดุลได้ก็คือความรู้จากนักธรรมชาติวิทยารุ่นใหม่ๆ และจิตสำนึกของคนบนโลก

ทั้งนี้การบรรยายเรื่อง "ธรรมชาติเพื่อชีวิต" มีขึ้นในพิธีเปิดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2558 ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และสมาคมวิทยาศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2558 ณ ห้อง IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี

ด้าน ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวระหว่างพิธีเปิดว่า การจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้เป็นการจัดประกวดโครงงานด้านธรรมชาติวิทยาโดยเฉพาะที่ใหญ่ที่สุดครั้งแรกของประเทศ เป็นเวทีรวบรวมเยาวชนที่ชื่นชอบการเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยาจากทั่วประเทศให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25-27 พ.ค. 2558 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี

สำหรับการคัดเลือกเยาวชนเพื่อนำเสนอโครงงานในเบื้องต้น ดร.อภิญญาณ์ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทำการคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ส่งโครงงานเข้าร่วมประกวดจากโรงเรียนทั่วประเทศใน 6 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 10 ทีม ทีมละ 2 คน โดยเยาวชนทั้ง 120 ชีวิตนอกจากจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอโครงงานแก่กรรมการในวันที่ 26 พ.ค. แบบเต็มๆ วันแล้ว ยังจะได้ร่วมกิจกรรมพิเศษที่ทาง อพวช.จัดขึ้นเพื่อเยาวชนที่มาเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้โดยเฉพาะด้วย

"หัวข้อการนำเสนอของน้องปีนี้ค่อนข้างน่าสนใจนะคะ มีด้วยกันทั้งสิ้น 60 หัวข้อ อาทิ การศึกษาเนื้อหินบะซอลต์ม่อนเสาหินพิศวง จากโรงเรียนวิไลเกียรติอุปถัมภ์ จ.แพร่, สารสกัดเมล็ดกระถิน จากโรงเรียนวังหว้าราษฎร์สามัคคี จ.สุพรรณบุรี, การศึกษาความบึกลับของตับหมากและใบชา จากโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ กทม., หอยทากมหันตภัยการเคลื่อนที่ จากโรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จ.สกลนคร" รอง ผอ.อพวช. กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

นอกจากต้องนำเสนอโครงงานที่ถือเป็นภารกิจหลักแล้ว ดร.อภิญาณ์ เผยว่า อพวช.ยังเตรียมกิจกรรมพิเศษที่ยังไม่เคยจัดขึ้นมาก่อนให้กับเยาวชนๆ กลุ่มนี้ด้วย นั่นคือ กิจกรรม "ไนท์แอทเดอะมิวเซียม" ให้เยาวชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในตอนกลางคืน ได้สำรวจสัตว์ คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติวิทยาของ อพวช. ได้ชมเบื้องหลังการสตัฟฟ์สัตว์ การทำคอลเลกชันสัตว์ รวมถึงกิจกรรมแบบลงมือปฏิบัติอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่จัดขึ้นให้เยาวชนได้ทดลองด้วยตัวเอง

นอกจากนี้รอง ผอ.อพวช.ยังเพิ่มเติมด้วยว่า โครงงานที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับโล่รางวัลจาก อพวช. และทีมที่ชนะเลิศจะได้เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานในระดับโลกต่อไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมโครงงานของเยาวชนทั้ง 60 หัวข้อได้ในวันที่ 27 พ.ค.58 และจะประกาศผลเยาวชนที่ชนะเลิศ พร้อมพิธีปิดในวันเดียวกัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-5779999 ต่อ 1473
โครงงานธรรมชาติวิทยามีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 60 ทีม ทีมละ 2 คนจากการเฟ้นหาตัวแทนจากทั่วประเทศ
อาจารย์และนักเรียนที่ส่งโครงงานเข้าร่วมประกวดจะได้ร่วมกิจกรรมพิเศษที่ อพวช.จัดขึ้น
ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด






*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น