สกว.- นักวิจัยไทยโชว์ผลงานเยี่ยมกวาด 12 เหรียญทอง ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติที่มาเลเซีย โดย สกว.คว้ามาได้ 3 เหรียญทอง พร้อมรางวัลพิเศษ จากผลงานเชิงพาณิชย์ ทั้งไม้ยางพารากลิ่นหอม เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง และยาสีฟันสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยเข้าร่วมงาน ITEX’15 (International Invention & Innovation Exhibition) ณ กัวลาลัมเปอร์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.58 โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและงานวิจัยจากประเทศไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 12 ผลงาน เหรียญเงิน 5 ผลงาน และเหรียญทองแดง 3 ผลงาน
สำหรับงาน ITEX เป็นงานประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยหน่วยงาน MINDS (Malaysian Invention & Design Society) ของประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ผลงานวิจัยระหว่างประเทศต่าง ๆ ตลอดจนเป็นเวทีของการเจรจาซื้อขายระหว่างนักประดิษฐ์ นักวิจัย และผู้ลงทุน โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 26 มีการประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีซึ่งเป็นผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย นักประดิษฐ์และนักวิจัยผู้สนใจทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ กว่า 1,000 ชิ้น จาก 20 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย โปแลนด์ รัสเซีย เยอรมนี เป็นต้น รวมทั้งประเทศไทยซึ่งส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 20 ผลงาน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ สกว.
ในส่วนของ สกว. ส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวด 3 ผลงาน และคว้ารางวัลเหรียญทองมาครองได้ทั้งหมด ประกอบด้วย 1.การพัฒนาไม้ยางพาราที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยสำหรับป้องกันเชื้อราทดแทนการใช้สารเคมี โดย ผศ. ดร. นฤมล มาแทน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และรางวัลพิเศษจากสมาคมสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาโลก และอีกหนึ่งรางวัลจากประเทศรัสเซีย 2.เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งในน้ำยางแบบอัตโนมัติ โดย รศ. ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชาญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรางวัลพิเศษจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และ 3. ยาสีฟันสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดย ผศ. ดร.พิชญอร ไหมสุทธิสกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมรางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์
สำหรับผลงานเครื่องมือวัดปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยางสดนั้น นักวิจัยอาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นความถี่ไมโครเวฟ และระบบประมวลผลดิจิตอล ในการพัฒนาเครื่องมือวัดปริมาณเนื้อยางแห้งที่สามารถแสดงผล %DRC (Dry Rubber Content) เป็นตัวเลขได้ทันที มีความรวดเร็วในการประมวลผล และใช้งานง่าย ลดขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ เพื่อใช้ทดแทนวิธีการหรือเครื่องมือเดิมที่ใช้การอบด้วยไมโครเวฟและเครื่องเมโทรแลค โดยนักวิจัยหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการซื้อขายน้ำยางสด สร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อน้ำยาง รวมทั้งกระบวนการซื้อขายน้ำยางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ผลงานการพัฒนาไม้ยางพาราที่มีกลิ่นหอมฯ ใช้เทคโนโลยีควบคุมการระเหยของกลิ่นน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในระบบเตาอบไม้ของโรงงานอบไม้ยางพารา ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันเชื้อรา ป้องกันสปอร์ราที่หลงเหลือในอากาศที่สามารถกลับมาเจริญเติบโตได้อีกแล้ว ยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์ไม้หอมส่งกลิ่นหอมยาวนานสำหรับนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ในสปา เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ฯลฯ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรูปได้ด้วย นอกจากนี้ไม้ยางพาราที่ผ่านการอบด้วยเทคนิคนี้ยังมีคุณสมบัติต้านการเปียกน้ำ รวมถึงการซึมผ่านของไอน้ำที่สามารถเกิดขึ้นในสภาวะอากาศร้อนชื้น ซึ่งผลงานวิจัยทั้งสองโครงการนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัยต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์กับผู้ประกอบการ
ส่วนผลงานยาสีฟันสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเหงือกอักเสบนั้น เป็นนวัตกรรมที่นำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและงานวิจัยขั้นพื้นฐานสู่พาณิชย์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ (บริษัท คุณค่าป่าไทย จำกัด) และภาคการศึกษา โดยใช้พืชสมุนไพรไทย 15 ชนิด เช่น มังคุด พลู บัวบก มะขามป้อม เป็นต้น มาพัฒนาจนได้สูตรที่เหมาะสม มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ออกซิเดชัน และแบคทีเรีย สามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก ให้ผลดีในทางทางคลินิกและความพึงพอใจของผู้บริโภคทั้งผู้ป่วยเบาหวานและคนทั่วไป ได้รับการจดทะเบียนจาก อย. และมีจำหน่ายในโรงพยาบาลและคลินิกทันตกรรมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งล่าสุดผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ด้วย
*******************************