xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลประทาน ยันปีนี้พัทยาไม่เกิดวิกฤตภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมชลประทาน ยันพัทยาปีนี้ไม่เกิดวิกฤตภัยแล้ง ระบุสถานการณ์น้ำดิบยังรองรับได้ถึงตุลาคม แม้ต้องจัดสรรแบ่งปันน้ำส่งเมืองแปดริ้ว ที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงก็ตาม

นายบุญสม ยุติธรรมภิญโญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรและปรับปรุงระบบชลประทาน กรมชลประทาน ชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำดิบขอเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ในที่ประชุมสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ที่โรงแรมแกรนด์ โซเลย์ เมืองพัทยา ว่า สำหรับพื้นที่เมืองพัทยาในปี 2558 คงจะไม่ประสบต่อปัญหาวิกฤตการณ์น้ำขาดแคลนเหมือนปี 2548 อย่างที่หลายคนเป็นห่วง แม้สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศจะวิกฤตก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันเมืองพัทยารับน้ำดิบมาจาก 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ แหล่งน้ำดิบเดิมจาก 5 อ่างเก็บน้ำ คือ หนองกลางดง ห้วยสะพาน ห้วยขุนจิต มาบประชัน และชากนอก ซึ่งมีปริมาณกักเก็บรวมอยู่ที่ 39.91 ล้าน ลบ.ม.

โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 16.19 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40.57 แม้ในหลายอ่างเก็บน้ำจะมีสภาพคล้ายปริมาณน้ำลดลงน้อยลง อย่างอ่างมาบประชัน ที่มีน้ำเหลือ 4.2 ล้านลบ.ม. หรือ 25.46% และชากนอก ที่มีน้ำเหลืออยู่ 1.33 ล้านลบ.ม. หรือ 18.93% ก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีการผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างเก็บน้ำปะแสร์ จ.จันทบุรี ทั้งนี้ พบว่ามีสถานการณ์น้ำดิบอยู่เก็นเกณฑ์เกินกว่า 70% เพื่อมาสนับสนุนน้ำดิบให้แก่พื้นที่ จ.ชลบุรี อีก 2 แสน ลบ.ม./วัน จึงทำให้ปริมาณน้ำดิบมีเพียงพอต่อความต้องการ และสามารถรองรับการใช้น้ำที่เฉลี่ยต่อวันประมาณ 1.28 แสนลบ.ม.ได้อย่างไม่มีปัญหา ไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งคงจะมีน้ำมาเติมลงสู่อ่างได้อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่ของชลบุรีเองมีปริมาณน้ำฝนตกอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ 1,297 มม. และกรมอุตุนิยมฯก็แจ้งว่า พื้นที่ชลบุรีจะมีฝนตกต้องตามฤดูกาลปกติ

อย่างไรก็ตาม สำหรับอีกช่องทางหนึ่งที่จ่ายน้ำเข้าสู่ระบบผลิตของการประปาพัทยา ที่มีการผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ ใน อ.ศรีราชา อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากสถานการณ์น้ำทั้ง 2 อ่างต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ที่สำคัญยังได้รับการร้องขอจากพื้นที่อำเภอแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก กรมชลประทานจึงต้องผันน้ำจากทั้ง 2 อ่าง รวมกับน้ำจากบางปะกง และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่คลองระพีพัฒน์ ไปช่วยเหลือในปริมาณเฉลี่ย 23 ล้านลบ.ม.ด้วย จึงทำให้แหล่งน้ำจากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถผันมาสนับสนุนในพื้นที่เมืองพัทยาได้ตามปกติ

แต่ด้วยการวางแผน และระบบการจัดสรรน้ำที่เชื่อมโยงกันทั้งภาคตะวันออก ที่จะสามารถส่งน้ำไปทดแทนในพื้นที่ขาดแคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงการันตีได้ว่า พื้นที่เมืองพัทยาจะไม่ประสบต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในปี 2558 อย่างแน่นอน

นายบุญสม กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายฝ่ายเป็นห่วงสถานการณ์น้ำดิบของเมืองพัทยา ที่มีอัตราการบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่าจะไม่เพียงพอในอนาคต โดยร้องขอให้มีการขุดลอกอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้นนั้น จากการสำรวจแล้วพบว่า การกระทำดังกล่าวคงไม่มีประโยชน์ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แม้จะสามารถขยายพื้นที่กักเก็บได้ แต่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างในแต่ละปีถือว่ามีจำนวนน้อยกว่าปริมาณกักเก็บอยู่แล้ว ดังนั้น แม้จะขยายให้เพิ่มขึ้นอีกเท่าใดก็คงไม่มีน้ำมาเติมให้เต็มความจุได้ เช่น อ่างเก็บน้ำมาบประชัน ที่ปัจจุบันมีความจุ 16.6 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ล้าน ลบ.ม./ปีเท่านั้น

ขณะที่อ่างเก็บน้ำชากนอก มีปริมาณความจุที่ 7 ล้านลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพียง 3.6 ล้าน ลบ.ม./ปี อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางกรมชลประทานได้จัดทำแผนในการผันน้ำเข้ามาเพิ่มเติมในระบบผลิตขึ้นอีกกว่า 60 ล้านลบ.ม./ปี ซึ่งเมื่อรวมกับระบบเดิมก็จะสามารถรองรับการใช้น้ำเฉลี่ยต่อวันได้สูงสุดถึง 2.5 แสนลบ.ม. โดยในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาคพัทยา ก็มีแผนในการพัฒนาระบบการผลิตที่สอดคล้องกัน จึงคาดว่าจะไม่มีปัญหาทั้งในปัจจุบัน และอนาคตแน่นอน


นักวิชาการชี้ ถนน-บ้านเรือนเรียงคิวทรุดตัว ต้นเหตุจาก “ยิ่งลักษณ์” จัดการน้ำผิดพลาด
นักวิชาการชี้ ถนน-บ้านเรือนเรียงคิวทรุดตัว ต้นเหตุจาก “ยิ่งลักษณ์” จัดการน้ำผิดพลาด
เผยต้นเหตุหลักภัยแล้งเกิดจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เร่งปล่อยน้ำในเขื่อน ทั้งเกรงน้ำท่วมซ้ำและปล่อยน้ำเสริมโครงการรับจำนำข้าว จนน้ำในเขื่อนเหลือน้อยกระทั่งวิกฤต เมื่อเจอภาวะฝนทิ้งช่วงยิ่งทำให้ภาวะภัยแล้งหนักขึ้นกว่าเดิม จนกลายเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตร เกษตรกรไม่มีรายได้ บั่นทอนกำลังซื้อ ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมปฐพี และฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ชี้ภัยแล้งเป็นเหตุน้ำในคลองแห้งไม่มีแรงรับน้ำหนักถนน หวั่นอีกหลายสายทรุดตาม-บ้านริมคลองที่โครงสร้างไม่แข็งแรงมีโอกาสพังได้ทั้งหลัง มั่นใจไม่ลามถึง “เขื่อน-รถไฟฟ้า” เหตุวิศวกรออกแบบรองรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น