xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอีสานค้านโครงการโขง เลย ชี มูล แนะสรุปบทเรียน-แก้ปัญหาโขงชีมูลให้สำเร็จก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่างร่วมวิเคราะห์การจัดการบริหารน้ำของหน่วยงานรัฐร่วมกับชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง
ร้อยเอ็ด - เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสานจี้รัฐบาลทบทวนศึกษาผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูล เดิมก่อนที่คิดจะผลักดันโครงการโขง เลย ชี มูล เพื่อดึงน้ำโขงมาเติมแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ใช้งบสูงกว่า 2 ล้านล้าน จวกทุกรัฐบาลบริหารน้ำห่วย ซ้ำทำคนลุ่มน้ำรับกรรม แนะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายด้าน ไม่ควรสรุปเองเสนอเอง


จากกรณีเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจะฟื้นโครงการผันน้ำโขงเติมแหล่งน้ำในภาคอีสาน โดยให้กรมชลประทานศึกษาแนวทาง ซึ่งกรมชลประทานเคยศึกษาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ประกาศนำร่องโครงการ รูปแบบคือ จะใช้แรงโน้มถ่วงดึงน้ำจากแม่น้ำโขงมาทางห้วยหลวง จ.อุดรธานี และสร้างอุโมงค์เฉพาะบางจุด วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 20 ปี

ล่าสุดเย็นวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง ร่วมกับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน จัดเวทีวิเคราะห์แนวนโยบายขั้นพื้นฐานการจัดการทรัพยากรน้ำอีสาน โดยมีชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างกว่า 50 คนเข้าร่วมเวที

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมาเห็นชัดแล้วว่ารัฐพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจ โดยเฉพาะโครงการโขง-ชี-มูล ที่เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐ โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ในส่วนของแม่น้ำชีได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 6 เขื่อน

โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและเข้าร่วมเวทีครั้งนี้คือ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ที่อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน เมื่อเริ่มแรกชาวบ้านได้รับข้อมูลว่าเป็นการสร้างฝายยางในลุ่มน้ำชี

แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จปี 2543 กลับเป็นฝายคอนกรีตแทน มีประตูเปิด-ปิดทุกฝาย การตัดสินใจเร่งรีบพัฒนาโครงการ โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น หลังจากเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อยในแม่น้ำชีสร้างเสร็จในปี 2543 ความพยายามในการควบคุมน้ำของรัฐในแต่ละฝายก็เริ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง หลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปีและนาปรังเสร็จ

ฝายที่อยู่ลุ่มน้ำชีแต่ละฝายก็ไม่ระบายน้ำออกเพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตามมา แต่กลับกักเก็บน้ำไว้ พอเข้าช่วงฤดูฝนฝายก็ไม่สามารถรองรับน้ำได้ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อรักษาตัวเขื่อนไว้ จึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก

นายสิริศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเดินหน้าโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ตนมองว่าควรทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำของภาคอีสานได้แล้วว่าที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็มีการใช้งบประมาณแก้ปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม จัดการน้ำมากมายมหาศาล

แต่ตนถามว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่ประสบผลสำเร็จ เพราะงบประมาณในแต่ละปีแต่ละรัฐบาล ถ้าหากเฝ้าติดตามข้อมูลจะพบว่าหากไม่เสนอสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก็เป็นการสร้างเขื่อนขนาดกลาง หรือไม่ก็ขุดลอกร่องน้ำเดิมเพื่อกักเก็บน้ำ จนในหลายพื้นที่ไม่สามารถสร้างหรือขุดกันได้อีกแล้ว เนื่องจากโครงการพัฒนามันเต็มแหล่งน้ำไปหมด รัฐเองไม่เคยเข้าใจว่าพื้นที่อีสานมีสภาพภูมิประเทศแบบไหน และวิถีชีวิตของเขาต้องพึ่งพิงทรัพยากรอะไรบ้าง

“หากศึกษาให้ดีเราจะพบว่าการที่คนอีสานดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐกลับมาทำให้พื้นที่หากินของเขาเหล่านี้สูญเสียไป และรัฐเองไม่เคยทบทวนบทเรียนเหล่านี้เลย”

ด้านนายนิมิต หาระพันธ์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า อยากจะเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า โครงการโขง-ชี-มูล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อยในลุ่มน้ำชี ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีของชาวบ้านลุ่มน้ำชีมากพอแล้ว มีการร้องเรียนให้แก้ปัญหา และให้แต่งตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลที่ผ่านมาก็เคยมีคำสั่งแต่การปฏิบัติล่าช้า จนทำให้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เหมือนกับรัฐบาลไม่มีความจริงใจ

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลอย่าคิดเดินหน้าต่อโครงการโขง-เลย-ชี-มูล ขอให้แก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมให้ได้ก่อน และควรจะศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากโครงการโขง-ชี-มูลให้ตกผลึกก่อนจะดีกว่า

ขณะที่นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ไม่ควรรีบผลักดันเรื่องการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูลในช่วงนี้ เพราะเรื่องน้ำมีการศึกษามาเยอะมาก ในส่วนของภาคประชาชนไม่เคยเห็นการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเลย หลังจากที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐสร้างเสร็จ โดยเฉพาะโครงการโขง-ชี-มูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยทบทวนบทเรียนเรื่องการจัดการน้ำที่ผ่านมา

ดังนั้นตนมองว่าโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหลายด้าน ไม่ควรที่หน่วยงานรัฐจะสรุปเองแล้วเสนอเอง และควรเปิดเวทีทำประชาพิจารณ์โครงการ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนลุ่มน้ำด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น