xs
xsm
sm
md
lg

หนุน พ.ร.บ.กองทุนภาคประชาสังคม เน้นมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาครัฐหนุนร่าง พ.ร.บ. กองทุนภาคประชาสังคม มั่นใจเป็นกลไกเสริมพลังพลเมือง ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง แก้ปัญหาตรงจุด ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่โรงแรมบางกอก ชฎา เครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคม ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง : สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ประชาสังคมเข้มแข็ง เพิ่มพลังพลเมือง” โดย ดร.พิชัย สนแจ้ง ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายสังคม กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ “ประชาสังคมเข้มแข็ง เพิ่มพลังพลเมือง” ว่า การรวมกลุ่มของประชาชนจนเกิดเป็นภาคประชาสังคมนั้น ถือว่ามีความสำคัญ รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนภาคประชาสังคมให้การทำงานของภาคประชาสังคมเป็นรูปธรรม และมีพลังในการบริหารจัดการมากขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตามขอบเขตที่ทำได้ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่า ภาคประชาสังคมเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน สำนักนายกรัฐมนตรีกำลังดำเนินการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนงานของภาคประชาสังคม และผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป

นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า การทำงานของภาคประชาสังคมในประเทศไทย ถือเป็นพลังพลเมืองที่สำคัญของแผ่นดิน เพราะได้แสดงศักยภาพในการจัดการปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านการลงมือปฏิบัติ เกิดองค์ความรู้และมีข้อเสนอดีๆ ซึ่งเป็นทางออกหนึ่งเพื่อส่วนรวม ขณะเดียวกันประชาชนไม่สามารถพึ่งพิง หรือรอการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว หรือต่อให้ทำหน้าที่ดีเพียงใด ย่อมเกิดความบกพร่องได้ รวมทั้งอาจมีช่องโหว่ของกฎหมายที่อาจไม่สอดคล้องในการปฏิบัติในท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคมเพื่อให้การทำงานของภาคประชาสังคมมีความแข็งแกร่งและเข้ามาแก้ไขหรือปิดช่องโหว่นั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น กำหนดนโยบาย หรือการดูแลท้องถิ่นในประเด็นวิถีชีวิตพื้นฐานของชุมชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ตั้งใจและมีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้การศึกษาในแต่ละท้องถิ่น ทรัพยากรท้องถิ่น หรือการรักษาวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น โดยที่เยาวชน คนรุ่นใหม่ในแต่ละท้องถิ่นจะต้องเข้ามาดูแลกิจการสาธารณประโยชน์ของชุมชน สู่การแก้ปัญหาและดูแลผู้คนอย่างยั่งยืนได้

ด้าน นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงการรวมกลุ่มของประชาชนในท้องถิ่น ว่า ในความเป็นจริง สังคมชุมชนไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีเรื่องของชุมชนอื่น คนแวดล้อม รวมทั้งเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันกฎหมายไม่ได้ถูกเชื่อมโยงถึงประชาชน และ ชาวบ้านไม่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเสนอแนวคิด วิธีแก้ปัญหา แต่การรวมกลุ่มของประชาชน หรือกลุ่มภาคประชาสังคมนั้น ทำให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากขึ้น เชื่อมโยงกับนโยบาย และนำไปสู่การหาทางออกและปรับแก้กฎหมายที่ตรงกับปัญหาอย่างแท้จริง

“พลังของประชาชนจะมีความสำคัญได้นั้น ต้องมีการจัดตั้ง การรวมกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะภาวะที่มีปัญหาหรือเรื่องเดือดร้อนเท่านั้น แต่การสร้างวิถีกลุ่ม วิถีชุมชนคิดสร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในงานอาชีพของตน เมื่อรวมกลุ่มจึงจะเกิดการต่อรองและแก้ไข้ปัญหาในหลายเรื่องๆ ได้” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น