ปัตตานี - กลุ่มเดินเท้ารณรงค์ “เดินสานใจสู่สันติภาพชายแดนใต้” กว่า 30 ชีวิต ได้เดินทางเข้าสู่ในพื้นที่ตัวเมืองของปัตตานีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตลอดเส้นทางได้มีพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ และให้กำลังใจตลอดเส้นทาง โดยมีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย สนธิกำลังดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง
วันนี้ (16 ก.พ.) หลังจากที่เมื่อวานนี้ ทางกลุ่มภาคประชาสังคมได้ร่วมกับทางกลุ่มนิสิต นักศึกษา และภาคประชาชนได้รวมกลุ่มเดินเท้ารณรงค์ยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้กิจกรรมเดินสานใจสู่สันติภาพชายแดนใต้ โดยเริ่มต้นจากจังหวัดยะลา และจะสิ้นสุดที่โรงเรียนบ้านตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในวันที่ 21 ก.พ.58 รวมระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร
โดยล่าสุด วันนี้ซึ่งเป็นวันที่ 2 ผู้ร่วมเดินเท้ากว่า 30 ชีวิต ได้เดินทางเข้าสู่ในพื้นที่ตัวเมืองของปัตตานี แล้วโดยตลอดเส้นทางเดินได้มีพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างให้การต้อนรับ และให้กำลังใจแก่ผู้เดินเท้าตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ ประชาชนบางรายยังได้สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ และปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้เดินเท้ารณรงค์ได้เข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังดูแลความปลอดภัยแก่ผู้เดินเท้าตลอดเส้นทาง
ด้าน นางละม้าย มานะการ แกนนำกลุ่มภาคประชาสังคม ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า การเดินรณรงค์ในครั้งนี้ก็เพื่อรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงจากทุกฝ่าย อยากให้มีการพูดคุยกันกับทุกฝ่ายบนพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งตลอดส้นทางการเดินก็มีประชาชนจำนวนมากให้หยุดการใช้อาวุธในการเข้าหากัน และอยากจะให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องของการรณรงค์ส่งเสริมให้ยุติความรุนแรง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะเกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ก็เกิดจากวิธีคิดที่แตกต่างกัน การไม่ได้รับความยุติธรรม หรือการไม่ได้รับการดูแลที่ทั่วถึงจากภาครัฐ หรือภาครัฐอาจจะทำอะไรที่เจตนาดี แต่ไม่เข้าใจ หรือสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นยุคของการพัฒนาในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย และเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพ และความสงบสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืน