ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสานและเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง แถลงคัดค้านโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ย้อนถามรัฐบาลมีความจำเป็นต่อคนอีสานจริงแค่ไหน ปัญหาซ้ำซากโครงการโขงชีมูลยังแก้ไม่ได้ เชื่อมุ่งเอื้อประโยชน์ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า จี้รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชนหรือทำประชาพิจารณ์ถามความเห็นทุกจังหวัดในภาคอีสาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 09.00 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสานและเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง นำโดยนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ถือป้ายผ้าแสดงข้อความ “วาทกรรม อีสานแล้ง แอบแฝงผลประโยชน์ ผันน้ำโขง เลย ชี มูล ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน” พร้อมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และได้ตั้งคำถามต่อโครงการดังกล่าวว่า มีความจำเป็นต่อคนอีสานจริงหรือ?
นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เปิดเผยว่า การรวมกลุ่มกันเพื่อแถลงข่าวในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด เพราะเป็นการแสดงจุดยืนของเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสานในการปกป้องผลประโยชน์ของคนอีสานไม่เอาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล หลังรัฐบาลได้สานต่อ “โครงการผันน้ำโขง-ชี- มูล” เดิม ตามแนวคิดเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ภายใต้โครงการในรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งวางแผนโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2576 รวม 42 ปี ในวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 228,800 ล้านบาท พื้นที่ชลประทานที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ประมาณ 4.98 ล้านไร่
ต่อมาใช้งบประมาณไปแล้ว 10,346 ล้านบาท กลับต้องหยุดชะลอการดำเนินโครงการ เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกระจายตัวของดินเค็ม น้ำท่วมที่ดินทำกินและพื้นที่ชุ่มน้ำในแม่น้ำสายหลัก และเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่เขื่อนราศีไศล
นายสิริศักดิ์กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา การออกมาแถลงจุดยืนในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนภาคอีสานรับรู้รับทราบ และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของคนอีสาน หากมีการผันน้ำโครงการดังกล่าว เช่นผันมาลงในเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาวในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งโดยปกติเราอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แน่นอนว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ขอตั้งคำถามต่อไปว่าการวางแผนโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ภาคเกษตรกรได้รับประโยชน์จริง หรือเอื้อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมกันแน่
นายสิริศักดิ์ระบุว่า คนอีสานจำนวนไม่น้อยที่มีความจำเป็นต้องการใช้น้ำ แต่รูปแบบในการบริหารจัดการน้ำจะต้องมีความหลากหลาย ไม่จำเพาะแต่การสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำเข้ามาเท่านั้น แต่เรามีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมันแอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์ เพราะมองไม่เห็นถึงความคุ้มค่า แม้จะใช้งบประมาณมหาศาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
รวมถึงการจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ จะเดินหน้าเปิดเวที โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐนำวิทยากรมาให้ข้อมูลแก่ภาคประชาชนให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่ออธิบายความจำเป็นในการผันน้ำ และผันน้ำเพื่ออะไร ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงอยากให้รัฐบาลจัดทำประชามติของคนอีสานทุกจังหวัดว่าประโยชน์ตกแก่ทุกหลังคาเรือนหรือไม่ และถ้าไม่ฟังเสียงประชาชนจะฟังใคร
เนื่องจากเรามองว่าผลประโยชน์ในเรื่องของการผันน้ำในอีสานเองเราถูกใช้วาทกรรมว่าแล้งมานานหลายสิบปี แต่ในภาคอีสานเองในพัฒนาการเดิมจากการศึกษารูปแบบการจัดการไม่จำเพาะโครงการขนาดใหญ่ แต่อีสานมีรูปแบบการจัดการน้ำที่หลากหลาย เช่น บนภู มีรูปแบบการจัดการน้ำโดยคันไถนา ที่ลุ่มก็มีรูปแบบการกักเก็บน้ำ
โดยใช้หนอง กุด แก่ง เราตั้งข้อสังเกตว่าผู้ผลักดันโครงการเหล่านี้มีความพยายามที่จะนำงบประมาณมาจัดสรรกันมากกว่าที่จะนำงบประมาณมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาภาคการเกษตรของคนอีสานอย่างแท้จริง