xs
xsm
sm
md
lg

ขยายผลงานวิจัยเคลือบน้ำยางลงอ่างเก็บน้ำที่ราบสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ช่วยกันเคลือบน้ำยางธรรมชาติบนพื้นแหล่งกักเก็บน้ำ
สกว.- ขยายผลวิจัย สกว.สร้างบ่อเคลือบน้ำยางบนพื้นที่สูง นำร่อง 3 ชุมชนในลำปางหวังแก้ปัญหาราคายาง

ฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหน่วยงานในพื้นที่ จัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีปูบ่อเคลือบน้ำยางธรรมชาติสำหรับกักเก็บน้ำบนพื้นที่สูง แก่ชุมชน 3 แห่งใน อ.งาว จ.ลำปาง เพื่อขยายผลงานวิจัยของ สกว. เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และช่วยแก้ปัญหาราคายาง

พลเอกธนยศ พริ้งทองฟู ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก นำคณะสื่อมวลชนดูงานการปูบ่อเคลือบน้ำยางธรรมชาติสำหรับกักเก็บน้ำบนพื้นที่สูง ณ ลานกีฬาต้านยาเสพติดเฉลิมพระเกียรติฯ หมู่บ้านบ่อสี่เหลี่ยม ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง โดยมีผู้แทนชาวบ้าน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก และเจ้าหน้าที่ สกย. เข้าร่วมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ผศ. ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงเทคโนโลยีการปูบ่อกักเก็บน้ำจากยางธรรมชาติ ว่าฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยชุดโครงการ “การเตรียมน้ำยางข้นด้วยเทคนิคครีมมิ่ง” เมื่อปี 2550 โดยไม่ต้องลงทุนใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ทำให้มีต้นทุนต่ำแต่ได้น้ำยางข้นที่มีคุณภาพ มีปริมาณและเสถียรภาพของเนื้อยางสูงเทียบเท่าน้ำยางข้นที่ผลิตด้วยกระบวนการปั่นเหวี่ยง จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีกำลังทุนไม่สูงมากนัก ซึ่งโครงการนี้ได้ประยุกต์ใช้ในการทดลองเคลือบสระน้ำ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี โดยทำบ่อน้ำต้นแบบแห่งแรกที่องค์การสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช

เพื่อให้กระบวนการวิจัยสามารถขยายผลพัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบการเคลือบสระต่อไป สกว.จึงร่วมกับบริษัท ยูเอส บ่อทอง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินการเคลือบสระน้ำขนาดใหญ่โดยมีจุดเด่นในเรื่องประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำได้ดี อายุการใช้งานค่อนข้างยาวนานมากกว่า 10 ปี ขั้นตอนการผลิตเรียบง่ายใช้เทคนิคการพ่น/ทาน้ำยางคอมปาวด์บนผ้าใบ ไม่ใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่ซับซ้อนและเคลื่อนย้ายอุปกรณ์การพ่น/ทาน้ำยางได้ง่ายจึงสะดวกในการเข้าถึงสถานที่ติดตั้ง อีกทั้งใช้กับสระที่มีขนาดและรูปร่างที่หลากหลาย สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้เหมาะกับสภาพการใช้งานจริงโดยเพิ่มจำนวนชั้นของผ้าใบซึ่งทำได้ทั้งแบบเสริมความแข็งแรงเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการหรือเสริมทั้งสระก็ได้

นอกจากนี้ยังมีการขยายผลในอีกหลายพื้นที่เพื่อให้ใช้งานได้หลายรูปแบบ จนนำมาสู่ความร่วมมือระหว่าง สกว. สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อบต.บ้านร้อง อบต.ปงเตา และ อบต.นาแก ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปูบ่อในพื้นที่สูงสำหรับกักเก็บน้ำจากน้ำยางธรรมชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแบบพอเพียงของชุมชนที่สูง อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่เข้าถึงยาก โดยเป็นต้นแบบในการกักเก็บน้ำในการอุปโภคบริโภคตามเงื่อนไขนพื้นที่ พัฒนาระบบการเกษตรที่สูง และการอนุรักษ์ดินน้ำป่าใน 3 พื้นที่ คือ ต.บ้านร้อง อ.ปงเตา และ ต.นาแก ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายและได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งด้านยาเสพติดและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

ผลจากโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการสร้างบ่อกักเก็บน้ำขนาดเล็ก ลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อน มีแหล่งน้ำสำหรับทำเกษตรกรรม และสร้างอาชีพแก่กลุ่มชาติพันธุ์ แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำและเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยประมาณการใช้น้ำยางข้นประมาณ 1 ตันต่อพื้นที่บ่อ 1,000 ตร.ม. ทั้งนี้ภายหลังการถ่ายทอดเทคโนโลยี ชาวบ้านจะช่วยกันดูแลรักษาต่อไปผ่านกิจกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยมีส่วนร่วมของแต่ละชุมชน ซึ่งจะเป็นต้นแบบการจัดการน้ำของชุมชนที่สูงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีบ่อกักเก็บน้ำจากน้ำยางธรรมชาติในพื้นที่ลาดชันสูง เพื่อขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ช่วยกันเคลือบน้ำยางธรรมชาติบนพื้นแหล่งกักเก็บน้ำ
ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ช่วยกันเคลือบน้ำยางธรรมชาติบนพื้นแหล่งกักเก็บน้ำ
ทีมนักวิจัย หัวหน้าอุทยาน ตัวแทน สกย. และ สกว.
น้ำยางคอมปาวด์
หลังเสร็จงาน






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น