ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เมื่อ “น้ำ” จะถูกจัดสรรให้ “กลุ่มทุนอุตสาหกรรม” มากกว่า “เกษตรกร” เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสานจึงเสนอคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับมัดมือประชาชน
จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานที่ติดตามประเด็นนี้ได้เสนอให้คว่ำ “ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับมัดมือประชาชน” เสียเลย
นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชี ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำชีมีความผูกพันกับลำน้ำ ใช้น้ำตามฤดูกาลผลิต เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้าน คือ การทำนา ที่ต้องพึ่งพาน้ำ การใช้น้ำของพวกเราไม่เคยมีใครจะมากำหนดว่า จะต้องใช้น้ำในปริมาณเท่าไหร่ เพราะพื้นที่การเกษตรมีคนละไม่กี่ไร่ แต่ชาวบ้านเขาสามารถจัดการกันเองได้
เช่นในช่วงทำนาปี เราก็ใช้น้ำฝน ถ้าเข้าฤดูแล้งก็มีการใช้น้ำจากกุด ห้วย หนอง และแม่น้ำชี ถือว่าเป็นวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับการจัดการน้ำ
นางอมรรัตน์กล่าวว่า เคยได้ยินเรื่องร่าง พ.ร.บ.น้ำมานาน และก็เป็นห่วง เพราะถ้าเกิดมี พ.ร.บ.น้ำโดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนรับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมแล้ว “พวกเรา” ไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะคนลุ่มน้ำต้องเป็นเจ้าของน้ำ เนื่องจากเขาดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้นพวกเราจึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่จะมาเป็นตัวกำหนดวิถีของเกษตรกรอย่างพวกเรา
ขณะที่นางระเบียบ แข็งขัน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว ลุ่มน้ำพอง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่ให้อำนาจการจัดการน้ำกับรัฐ ซึ่งถ้าชาวบ้านจะดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ต้องขออนุญาตจากรัฐ ทำให้ชาวบ้านไม่มีอำนาจในการจัดการน้ำโดยตัวเอง ทั้งที่น้ำจะต้องเป็นของชาวบ้าน ชุมชนจะต้องมีอำนาจในการจัดการน้ำ ฉะนั้นเราขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ให้ถึงที่สุด
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน กล่าวว่า พวกเราติดตามประเด็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าร่าง พ.ร.บ.น้ำของกรมทรัพยากรน้ำฉบับนี้ผ่าน คนที่อยู่ในลุ่มน้ำทางภาคอีสานคงไม่ยอมแน่ เพราะในสาระสำคัญของร่างฉบับนี้ พูดถึงอำนาจการจัดสรรน้ำเป็นของรัฐ มากกว่าที่จะให้คนลุ่มน้ำเข้าไปจัดการ หรือแม้กระทั่งบางมาตรายังให้รัฐมีอำนาจพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ หรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำได้
ในหลักการยังพูดถึงการให้ รัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าใช้สอยแหล่งน้ำนั้นตามสมควร หากใครฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ
นายสิริศักดิ์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเราจะมาจัดการทรัพยากรน้ำผ่านกฎหมายน้ำฉบับนี้ ประชาชนคนลุ่มน้ำก็จะถูกลิดรอนสิทธิแน่นอน เพราะว่าเป็นการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์โดยรัฐมีอำนาจ เราต้องเข้าใจว่าจารีตประเพณีของชุมชนในแต่ละลุ่มน้ำ ต่างมีรูปแบบการจัดการน้ำที่ต่างกันตามภูมินิเวศ และใช้เวลาผลิตซ้ำจนเกิดเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำโดยชุมชน
“อีกอย่างหนึ่งเราเห็นว่ารัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัย ทั้งที่ผ่านมาก็เห็นมีแผนในการแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้เป็นรูปธรรม บางพื้นที่กลับสร้างปัญหาให้กับชุมชนมากกว่า ดังนั้นราจึงไม่เห็นด้วยและพร้อมที่จะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ”
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.น้ำของกรมทรัพยากรน้ำผ่านออกมาในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนมากขึ้น เท่าที่ศึกษาการนิยามเรื่องน้ำของร่าง พ.ร.บ.น้ำนี้ บอกได้เลยว่า “น้ำจะถูกจัดสรรให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรายย่อยอย่างแน่นอน เพราะรัฐจะมองว่ากลุ่มทุนต้องมาก่อนเกษตรกรรายย่อย”
แต่กรมทรัพยากรน้ำมักจะกล่าวอ้างว่า ร่างกฎหมายนี้จะเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อชาวบ้าน ซึ่งถ้าเราดูแนวทางของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเห็นว่าเพิ่มอำนาจให้กับส่วนราชการ แต่ลดอำนาจประชาชน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ข้าราชการจะเป็นกลไกหลักในการจัดสรรผลประโยชน์ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกขับเคลื่อน ที่ผ่านมาเราก็ทราบแล้วว่าหน่วยงานราชการมีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มทุนมากกว่าเกษตรกร
“ผมมองว่าร่าง พ.ร.บ.น้ำ เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่หลากหลาย จากกลุ่มต่างๆ แทนที่จะมาผลักดันร่าง พ.ร.บ.น้ำในยุคที่ประชาชนไม่มีปากเสียง”
รายงานโดย : ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม