xs
xsm
sm
md
lg

กำหนดจุดขายเชิงคุณค่าให้แหล่งเที่ยวอันดามัน เจาะตลาดนักเที่ยวคุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเวทีระดมคิดเห็นร่วมภาครัฐ-เอกชน กำหนดทิศทางส่งเสริมการตลาดพื้นที่ภูเก็ต กระบี่ และพังงา หวังกำหนดจุดขายของ 3 จังหวัดให้มีความโดดเด่น เชื่อมโยง และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้น ได้ข้อสรุปกำหนดจุดขายเชิงคุณค่า หรือ The Journey of True HAPPINESS ดึงจุดเด่นแต่ละพื้นที่เป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ เพิ่มรายได้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายธวัชชัย อรัญญิก แถลงข่าวภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อบูรณาการทิศทางส่งเสริมการตลาดของพื้นที่ภูเก็ต กระบี่ และพังงา เพื่อร่วมกันกำหนดจุดขายของทั้ง 3 จังหวัด ให้มีความโดดเด่น เชื่อมโยง และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้โดยรวม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้ง 3 จังหวัด ทั้ง ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ณ โรงแรม ฮิลตัน อคาเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ภูเก็ต

โดยที่ประชุมได้กำหนดความเป็นตัวตนของแต่ละพื้นที่ และกำหนดเป็นจุดขายเชิงคุณค่า โดยจุดขายเชิงคุณค่า หรือ The Journey of True HAPPINESS นั้น กำหนดให้ภูเก็ต เป็นความสุขจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม Journey of HAPPINESS กระบี่ ความสุขจากธรรมชาติที่น่ารักน่าอยู่ ส่วนพังงา ความสุขจากความสงบและมิตรไมตรี ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่มุ่งเน้นที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณค่า ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ มีความเต็มใจที่จะใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล

การที่จะมุ่งพัฒนาเพื่อให้บรรลุจุดขายเชิงคุณค่า ที่ประชุมได้ร่วมกันนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยในส่วนของภูเก็ตนั้น มุ่งสร้างเครือข่ายการพัฒนาสินค้า โดยให้ความสำคัญต่อชุมชน ฟื้นฟูสินค้าเดิมให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งสร้างสรรค์สินค้า Creative Quality ใหม่ๆ ที่สำคัญคือ จะต้องแก้ไขปัญหาการาจัดการของพื้นที่ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดสรรงบประมาณพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นธรรม การจัดการระบบขนส่งสาธารณะ การบังคับใช้กฎหมาย การจัดระเบียบชายหาดอย่างต่อเนื่องและชัดเจน การวางผังเมือง การจัดการปัญหาในการทำธุรกิจ

ด้านจังหวัดกระบี่ มุ่งสร้างความเข้มแข็งของแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชน ด้วยการอนุรักษ์อัตลักษณ์และวิถีชุมชน พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ และเพียงพอ รวมทั้งแก้ปัญหาการจัดการแหล่งท่องเที่ยว เช่น ปัญหาขยะ น้ำเสีย และนโยบายการพัฒนาของรัฐที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแก้ปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวซึ่งทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัด

ขณะที่จังหวัดพังงา มุ่งพัฒนาสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐาน ควบคู่กับรักษาความเป็นธรรมชาติด้วยการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการจำกัด Carrying Capacity ลดปริมาณขยะ การจัดการน้ำ บังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังรวมถึงเน้นสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง และปรับมาตรฐานการกู้ภัยทางทะเล
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น