สมาคมนักอุทกวิทยาไทย จับมือ 5 หน่วยงานพันธมิตร จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ "THA 2015" ระดมสมองหัวกะทิอาเซียนด้านน้ำ-ภัยพิบัติ เตรียมร่างแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
สมาคมนักอุทกวิทยาไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะวิศวกรรม ม.เกษตรศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำและภัยพิบัติ (THA 2015 International Conference on Climate Change and Water & Environment Mangement in Monsoon Asia) ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 58 โดยมี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี
ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย กล่าวว่า การประชุมนานาชาติด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงวิศวกรที่ทำงานวิจัยทางด้านภัยพิบัติ ชลประทาน และการบริหารจัดการน้ำได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นเวทีที่เปิดกว้างให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้ร่วมแสดงทัศนะและแบ่งปันประสบการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หรือวางแผนป้องกันกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยจากกลุ่มประเทศอาเซียนได้เข้ามาเสนอผลงาน และแบ่งปันความก้าวหน้าและปัญหาการจัดการของแต่ละประเทศ ที่จะนำไปสู่การหารือข้อตกลงเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาภัยพิบัติ-น้ำ-อากาศในระดับนานาชาติร่วมกัน ที่จะทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งต่อการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิชาการด้านการจัดการน้ำ สกว.กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนวงการวิจัยด้านภัยพิบัติ และกระตุ้นความตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก เพราะเป็นการประชุมวิชาการที่รวบรวมเอาผู้บริหารระดับอธิบดีด้านน้ำ และนักวิชาการชั้นนำทางด้านสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติของทั้วประเทศไทยและอาเซียนไว้ด้วยกัน ที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ และหัวข้องานวิจัยใหม่ๆ จากการระดมสมองของนักวิจัยจากต่างถิ่นที่จะมีจุดอ่อนและจุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป ที่จะทำให้เกิดการดำเนินงานทางวิชาการร่วมกันในอนาคต ในรูปแบบของเครือข่ายการวิจัยและศึกษาเพื่อความร่วมมือในอาเซียนและนานาประเทศภายใต้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational Scientific Cutural Organization: UNESCO)
สำหรับความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ ขณะนี้ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สกว.กับมูลนิธิธรรมชาติวิทยาแห่งชาติจีน (NSFC) และ สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) และมีการประชุมเชิงปฏิบัติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาแล้ว 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือของนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับนักวิจัยอาเซียน ผ่านการประชุมวิชาการด้านแบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (The Workshop of the Southeast Asia Reginal Climate Downscaling) ทั้งสิ้น 2 ครั้ง ขณะที่ความร่วมมือกับ UNESCO เป็นการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสภาระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการอุทกวิทยานานาชาติครั้งที่ 21 โดยมีแนวคิดหลักเกี่ยวกับความมั่นคงด้านน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน รศ.ดร.สุจริต กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ในส่วนของ ศ.นพ.สุทธิพันธุ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า การประชุมนานาชาติฯ ในครั้งนี้มีรูปแบบการนำเสนอผลงานเป็นแบบบรรยาย แบบโปสเตอร์ และการศึกษาดูงาน โดยจะมีหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ อาทิ กรมชลประทาน, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสถานศึกษาที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวข้องมาร่วมจัดซุ้มนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้สนใจ ภายใต้หัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่แน่นอนในอุตุ-อุทกวิทยา (Climate Change and Uncertainly) การบริหารจัดการน้ำและโครงการชลประทานแบบมีส่วนร่วม (Particpatory Management for Water and Irrigation Project) เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม (Emerging Technologies Environment Management) และการจัดการภัยพิบัติและประเด็นที่เกี่ยวข้อง (Water Related Disaster Management) โดยการประชุมวิชาการนานาชาติ THA 2015 จะมีขึ้นจนถึงวันที่ 29 ม.ค. 58 นี้