xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.วางแนวปฏิบัติขอตำแหน่งวิชาการรับใช้สังคม ตั้งเป้า 1-2 ปีมี "ผศ." รุ่นแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทปอ.วางเกณฑ์พิจารณาเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคม หวังปลดล็อกอุปสรรคหลังมีประกาศ ก.พ.อ.แต่กลับไม่มีเสนอผลงาน ชี้บุคลากรครู แพทย์เป็นพวกชอบความสมบูรณ์แบบ หากไม่มีกรอบหรือแนวทางชัดเจนก็จะไม่ส่งผลงานเข้าขอตำแหน่ง เบื้องต้นเสนอให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ งานวิจัยเกี่ยวกับครู-เด็กข้างถนน จะเชิญครูหยุย มาเป็นผู้อ่าน เป็นต้น ตั้งเป้าดันให้เกิด “ผศ.” รุ่นแรกได้ภายใน 1-2 ปี

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร เปิดเผยภายหลังการประชุมวิชาการ ทปอ.ประจำปี 2557 เรื่องผลงานวิชาการรับใช้สังคม : แนวทางสนับสนุน กรอบรูปแบบ/มาตรฐานเอกสาร แนวทางการประเมินและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ว่า ปัจจุบันการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัย ตามพันธกิจพบว่า ตำแหน่ง ศาสตราจารย์สายวิจัย มีกฎเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งที่ชัดเจน และปัจจุบันก็มี ศ.สายนี้จำนวนมาก แต่ก็พบว่าอาจารย์และบุคลากรจำนวนมากเช่นกันที่ทำงานพัฒนาชุมชน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามพันธกิจที่ 3 และ 4 ยังไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ก.พ.อ. จึงมีประกาศ ก.พ.อ.ฉบับที่ 9 เมื่อเดือน มี.ค.2556 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์,รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ ซึ่งเป็นสายรับใช้สังคม และแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนารูปแบบและมาตรฐานเอกสารวิชาการรับใช้สังคม เพื่อขอกำหนดการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ โดยมี รศ.นพ.นิเวศน์ นันนทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม ก.พ.อ.แล้ว กลับพบว่า ยังไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อขอเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการรับใช้สังคม เนื่องจากนักการศึกษา ครูอาจารย์ รวมทั้งแพทย์ เป็นกลุ่มคนสมบูรณ์แบบ หากไม่มีการกำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ เครื่องมือ หรือ แนวปฏิบัติ ก็จะไม่มีทำและเรื่องผลงานวิชาการรับใช้สังคม ก็เป็นเรื่องใหม่ยังไม่มีแนวปฏิบัติ ทั้งไม่มีผู้อ่านผลงานวิชาการ ดังนั้น เพื่อเป็นการปลดล็อกสำหรับผลงานวิชาการรุ่นแรก คณะกรรมการพัฒนารูปแบบฯ จึงเสนอให้ผู้อ่านผลงานวิชาการมาจากนักวิชาการ ผู้ทรงวุฒิ ปราชญ์ที่ทำงานด้านนั้นที่เป็นที่ยอมรับมาเป็นผู้อ่านผลงาน ส่วนเอกสารวิจัยก็สามารถนำเอกสารอื่นมาประกอบได้ เช่น วีดิทัศน์ แถบเสียง ภาพ เป็นต้น ทั้งให้ผู้อ่านผลงานสามารถลงพื้นที่จริงซึ่งเป็นวิธีการสอบทานข้อมูลที่ดีมาก อาทิ หากเป็นผลงานรับใช้สังคมเรื่องที่เกี่ยวกับครูข้างถนน เด็กเร่ร่อน ผู้ทรงคุณวุฒิที่อาจจะเชิญมาอ่านผลงาน เช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1-2 ปีจะมี ผศ.รุ่นแรก อย่างไรก็ตามตำแหน่งทางวิชาการที่ยังขาดอยู่ก็คือ ผศ..รศ. และ ศ. สายการเรียนการสอน ซึ่ง ทปอ.,มหาวิทยาลัยต่างๆและ สกอ.จะร่วมกันผลักดันต่อไป
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น