xs
xsm
sm
md
lg

เสนออีก! ชงออก กม.ห้ามขายเหล้าปีใหม่-สงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสนออีก! จ่อชง คกก. ควบคุมเหล้าออก กม. ห้ามขายเหล้า - เบียร์ วันสิ้นปี - ปีใหม่ และ สงกรานต์ พร้อมกำหนดสถานที่ห้ามขาย 4 แห่ง วันที่ 19 ธ.ค. ลุ้น คกก. เหล้าระดับชาติเอาด้วยหรือไม่ ระบุชัดเจนส่งผลกระทบเจ็บตายมาก

วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 8 กล่าวว่า หลังจากมี พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้มีการออกอนุบัญญัติในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราว 33 ฉบับ โดยช่วงปีใหม่นี้จะมีการเสนออนุบัญญัติอีก 5 ฉบับด้วย คือ 1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามบริโภคในท่าเรือโดยสารสาธารณะ 2. ห้ามขายหรือบริโภคในสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ 3. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายห้ามดื่มบนทางรถไฟ 4. กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 31 ธ.ค. และ 1 ม.ค. และวันที่ 13 - 15 เม.ย. ของทุกปี และ 5. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแลกอออล์ในสถานีขนส่ง โดยขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้ปลัด สธ. เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ และจะเร่งประชุมคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ต่อเนื่องทันที เพื่อให้สามารถประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันทีก่อนช่วงปีใหม่

การออกประกาศเพิ่มวันห้ามจำหน่ายสุรานั้น แน่นอนว่า เรามีสถิติข้อมูลเพียงพอว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก ทั้งอุบัติเหตุ การเจ็บ และการตาย แต่โอกาสจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่นั้นก็อยู่ที่คณะกรรมการนโยบายฯ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นอกจากพัฒนากฎหมายแล้ว มาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ ยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งการใช้กฏหมาย และสร้างความร่วมมือด้วย โดยตั้งแต่ปี 2552 มีการประสานความร่วมมือทำบันทึกข้อตกลง เพื่อให้หน่วยงานราชการกระทรวง รัฐวิสาหกิจ ดูแลสถานที่ในกำกับให้ปลอดจากการจำหน่ายและดื่ม การสร้างเครือข่ายสาธารณสุข เช่น อย. น้อย หรือ อสม. มีการพัฒนาแนวทางการคัดกรอง และบำบัดรักษา เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน” นพ.สมาน กล่าว

พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้จัดการแผนการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.) กรมสุขภาพจิต สธ. กล่าวว่า การดื่มสุรายังมีความสัมพันธ์กับการติดสารเสพติดอื่น และยังสร้างความสูญเสียจากความรุนแรงอุบัติเหตุได้มากกว่าผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งพบว่าปัญหาจากการดื่มสุราส่งผลต่อสุขภาพหลายด้าน ทำให้การวางระบบเพื่อแก้ปัญหาต้องทำในหลายๆ ด้าน พร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการวางระบบคัดกรองปัญหาสุรา ควบคู่กับการให้การรักษาโรคอื่นๆ ซึ่งมักพบว่าการเจ็บป่วยจะมีสาเหตุจากการดื่มร่วม จึงต้องมีการสอบถามปัญหาการดื่มสุราควบคู่ด้วย ซึ่งการเพิ่มการคัดกรองเรื่องปัญหาการดื่มสุราจะช่วยลดผลกระทบทางสุขภาพได้เพิ่มขึ้น แต่การดูแลจำเป็นต้องทำหลายด้าน คือ ใช้มาตรการคัดกรอง บำบัดระยะสั้น มาตรการถอนพิษ ที่สถานพยาบาลต้องมีการป้องกัน เพราะพบว่าผู้ป่วยถอนพิษสุราในระยะนี้มักมีอาการข้างเคียงรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาการคลุ้มคลั่ง และมาตรการบำบัดฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการดูแลระยะยาว ซึ่งพบว่าการสร้างความร่วมมือให้ชุมชนช่วยดูแลกัน ช่วยให้ลดการดื่มได้ถาวรถึงร้อยละ 80

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ก้าวต่อไปของมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการหลายๆ ด้าน ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมธุรกิจเครื่องดื่มแอกอฮอล์ให้ดำเนินการอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยความสำเร็จจะต้องมีกลยุทธ์ 5 ประการ เพื่อผลักดันนโยบาย คือ 1. การสะสมปัจจัยพื้นฐาน โดยนำความรู้ที่มีการวิเคราะห์ วิจัย มาสังเคราะห์เป็นพื้นฐานในการออกนโยบาย และนำนโยบายไปปฏิบัติ 2. การทำงานร่วมระหว่างภาคีตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา 3. การสื่อสารสาธารณะ เพื่อนำข้อมูลความรู้ออกเผยแพร่ให้ถึงประชาชนในวงกว้าง โดยอาศัยการทำงานร่วมกับสื่อมวลชน 4. การแสวงหาและใช้หน้าต่างแห่งโอกาสอย่างเหมาะสม คือ การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ 5. การต่อสู้กับกุศโลบายในขั้นตอนทางกฎหมาย โดยจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ในการควบคุม เช่น การควบคุมอัตราภาษี เพื่อจำกัดการบริโภค การควบคุมการเข้าถึงด้วยการเปลี่ยนวิธีการออกใบอนุญาต การขึ้นธรรมเนียมใบอนุญาตเพื่อจำกัดจำนวนของร้านค้า ซึ่งจะช่วยลดการเข้าถึงไม่ให้มากเกินไป รวมทั้งต้องเร่งสร้างมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญทางสังคม เช่น การป้องปรามการเมาแล้วขับ เป็นต้น
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น