xs
xsm
sm
md
lg

รองนายกฯ แนะ สมศ.ปรับรูปแบบประเมินเน้นสมัครใจ ไม่บังคับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี ศธ.
รองนายกฯ แนะ สมศ. แก้กฎหมายปรับรูปแบบการประเมินที่ไม่เน้นบังคับสถานศึกษา ยันแนวคิดใช้วิธีแบบสุ่ม ขณะเดียวกัน ควรปรับบทบาทเป็นทั้งผู้ถือไม่เรียวและมอบดอกไม้ ด้าน รมว.ศึกษาฯ ชี้อยากให้ สมศ. รอการแนวทางจาก สปช. ก่อนเริ่มประเมินรอบสี่ เพื่อได้ทิศทางที่ชัดเจน พร้อมให้สร้างความมั่นใจแก่สถานศึกษา เพื่อเต็มใจเปิดรับการประเมินจาก สมศ.

วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) องค์การมหาชน จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “การประกันคุณภาพการศึกษา” ประจำปี พ.ศ. 2557 โดย มีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษา” ตอนหนึ่งว่า สมศ. มีบทบาทหน้าที่ในการประเมินและรับรองคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาทุกระดับ แต่ผลงานของ สมศ. ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา จะเน้นการประเมินเป็นหลัก ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้ สมศ. ต้องประเมินสถานศึกษาทุกแห่ง แต่ปัญหาคือปัจจุบันจำนวนสถานศึกษาเพิ่มมากขึ้น การจะให้ สมศ. ประเมินทุกแห่งเป็นเรื่องยาก ดังนั้น สมศ. ต้องปรับปรุงวิธีการประเมิน ซึ่งตนได้เสนอให้ใช้วิธีการสุ่มประเมิน อีกทั้งการประเมินของ สมศ. มีตัวชี้วัดมากเกินไปและเป็นการวัดปริมาณมากกว่าประมิทธิภาพและประสิทธิผลของสถานศึกษา เพราะฉะนั้น ควรจะปรับลดลงแต่สามารถสะท้อนคุณภาพสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านศิษย์, ด้านครู, ด้านกิจการภายใน อาทิ การเรียนการสอน การบริหารจัดการ การพัฒนาผู้เรียน และด้านความสัมพันธ์กับคนภายนอก อาทิ ศิษย์เก่า ชุมชน ผู้ปกครอง และสังคม ขณะเดียวกัน ตนไม่อยากให้อยาก สมศ. ทำการประเมินในเชิงอุตสาหกรรมที่ผลิตอะไรแล้วจะต้องออกมาเหมือนกันหมด เพราะการคนผลผลิตจะออกมาเหมือนกันไม่ได้ แต่สถานศึกษาจะต้องผลิตผู้เรียนให้สามารถพัฒนาความสามารถพัฒนาผู้เรียนได้ตลอดชีวิต สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้

ผมอยากถามว่าต่อไป สมศ. จะมีบทบาทอย่างไร ระหว่างจะเป็นผู้ถือไม้เรียวหรือให้ช่อดอกไม้ หรือทำทั้งสองอย่างเพราะที่ผ่านมา สมศ. เหมือนผู้ถือไม้เรียวเข้าไปตรวจข้อสอบ ขณะที่ผู้ที่จะถูกตรวจสอบยังไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ สมศ. จึงต้องปรับบทบาทเข้าไปช่วยเหลือสถานศึกษาด้วย และต้องเริ่มปรับบทบาทใหม่โดยการรับรองสถานศึกษาที่สมัครใจรับการประเมินไม่ใช่การบังคับ เพราะฉะนั้น ผมเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายจากเดิมที่บังคับให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องรับการประเมิน มาเป็นการสุ่มประเมินซึ่งการประเมินจะใช้วิธีการทางสถิติในการสุ่ม หากสถานศึกษาใดมีคุณภาพตามที่กำหนดก็จะได้รับการรับรอง สำหรับสถานศึกษาที่ไม่ถูกสุ่มตรวจ ก็ต้องมีมาตรการหรือแนวทางที่จะตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษานั้นด้วย” นายยงยุทธ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาต่อไป

ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนอยากให้ สมศ. กำหนดมาตรฐาน เกณฑ์การประเมินสถานศึกษาที่ความน่าเชื่อถือและควรเป็นมาตรฐานสากลแต่ต้องสอดคล้องกับบริบทความเป็นไทยและท้องถิ่น โดยต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระงานเกินความจำเป็น หรือส่งผลกระทบต่อการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา อีกทั้ง สมศ. ควรสร้างกลไกในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษา และต้องสร้างมาตรฐานของผู้ประเมินที่ชัดเจนและมีความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าผู้ประเมินไม่มีคุณภาพ

ผมอยากเห็นการประเมินของ สมศ. เป็นสิ่งที่สถานศึกษาอ้าแขนรับ อยากให้ สมศ. เข้าไปประเมินว่าประเมินแล้วสถานศึกษาได้รับความรู้ ได้เห็นจุดอ่อน หรือจุดบกพร่องเพื่อนำไปแก้ไข ไม่อยากเห็นสถานศึกษาต่อต้านการประเมินของ สมศ. ซึ่งอยากให้ สมศ. นำเรื่องนี้ไปคิดได้แล้ว สำหรับการประเมินภายนอกสถานศึกษารอบสี่ ที่จะเริ่ม 1 ตุลาคม 2558 (ปีงบประมาณ 2559-2563) อยากให้ สมศ. รอทิศทางที่ชัดเจนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนเพื่อจะได้แนวทางการประเมินภายนอกสถานศึกษาที่ถูกต้อง ไม่อยากให้ สมศ. ทำไปก่อนเดี๋ยวจะเพี้ยนไปจากเดิมเช่นที่ผ่านมา และขอให้ไปคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้สถานศึกษาเตรียมการรองรับการประเมินเพื่อให้ผลการประเมินออกมาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น