xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เดินหน้ายกระดับคะแนน O-Net ใน 135 เขตพื้นที่ฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ. คัดเลือก 135 เขตพื้นที่ฯ ที่มีคะแนน O-Net สูงและต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยรวม เข้าสู่กระบวนการยกระดับโดยจับคู่พัฒนา ตามแนวทางภายในระยะ 2 เดือนก่อนจัดสอบ O-Net ปีการศึกษา 58 โดย สทศ. จะดำเนินการ ระบุส่งข้อสอบ Pre O-Net เน้นทดสอบทักษะการคิดขั้นสูง ยันไม่มีการนำคะแนนมาใช้แน่นอน

วันนี้ (18 พ.ย.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คัดเลือกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่มีผลการประเมินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ที่มีคะแนนสูงและต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมระดับประเทศเรียบร้อยแล้ว รวม 135 เขต จากนี้จะจัดกลุ่มให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ เข้าสู่กระบวนการยกระดับคุณภาพที่มุ่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในรูปแบบกัลยาณมิตร อาทิ ให้จับคู่เขตพื้นที่ฯที่มีคะแนน O-Net สูงกับเขตพื้นที่ที่มีคะแนน O-Net ต่ำ การใช้ระบบ Coaching เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ จัดค่ายวิชาการแบบเข้มข้นทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก สร้างความตระหนักและแรงจูงใจกับผู้บริหารและครูให้ความสำคัญในการสอบ O-Net เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังได้คัดเลือกเขตพื้นที่ฯ ที่มีการดำเนินการพัฒนายกระดับมาตรฐานคะแนน O-Net ได้ดีจำนวน 4 เขตพื้นที่ฯจาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ สพป. แพร่ เขต 1, สพป. จันทบุรี เขต 1, สพป. สกลนคร เขต 3 และ สพม. 14 (ภูเก็ต ระนอง และ พังงา) เพื่อเป็นต้นแบบและช่วยเหลือเขตพื้นที่ฯ ในการยกระดับคะแนน O-Net ด้วย อย่างไรก็ตาม สพฐ. จะกำกับติดตามผลการทำงานของเขตพื้นที่ฯ ว่าดำเนินการตามแผน ร่วมกันพัฒนาผู้เรียน โดยให้ระยะเวลา 2 เดือนจากนี้ก่อนที่จะมีการสอบ O-Net ในปีการศึกษา 2558 ส่วนความคืบหน้าในการจัดสอบ Pre O-Net นั้น ทางสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. จะจัดส่งข้อสอบไปทางชั้นความลับผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการจะเปิดสอบข้อสอบ Pre O-Net จะต้องมีรหัสเปิดเพื่อทำการดาวน์โหลดข้อสอบออกมา โดยรูปแบบข้อสอบจะเน้นวัดทักษะการคิดขั้นสูง แต่ไม่ได้นำมาคิดคะแนนเพียงต้องการให้ได้ฝึกการทำข้อสอบเท่านั้น

“สพฐ. ตั้งเป้าการยกระดับ O-Net ไว้ 2 เรื่อง คือ เขตพื้นที่ฯ ที่คะแนนดีอยู่แล้วขอให้รักษาระดับไว้ให้ดีที่สุด ส่วนเขตพื้นที่ฯ ที่อยู่ในกลุ่มคะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมทั้งประเทศก็อยากให้เร่งพัฒนาเพื่อได้คะแนนเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องเพิ่ม 3% 5% แต่หวังแค่ว่าหากคะแนนเพิ่มทุกเขตก็จะดึงคะแนนเฉลี่ยรวมทั้งประเทศให้เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าเมื่อ สพฐ. ทุ่มกำลังขนาดนี้รวมถึงยังมีการนำโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กก็น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง” นายกมล กล่าวและว่า ทั้งนี้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้แจ้งกำหนดวันสอบ O-Net ปีการศึกษา 2558 เรียบร้อยแล้วโดยระดับประถมศึกษาปีที่ 6 สอบวันที่ 31 มกราคม 2558 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 สอบวันที่ 31 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2558 และ ม.6 สอบวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ 2558
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น