xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาผลสอบโอเน็ตต่ำ

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เมื่อกลางสัปดาห์เดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่ไปเป็นวิทยากรในนามมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมครู สู่ประชาคมอาเซียน” โดยมีคุณครูเข้าร่วมอบรมเกือบ 100 คน ซึ่งสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 สาระสำคัญของหัวข้อที่ผู้เขียน ได้ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครู มีอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่ 1. คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลกและอาเซียน 2. ครูในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร 3. ความเป็นมาและเป็นไปของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน และ 4. การนำความรู้เรื่องอาเซียนไปสู่หลักสูตรสถานศึกษา

ผู้เขียน ยอมรับว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง มีข้อจำกัดมากทั้งสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครู ผู้เรียนและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานต้นสังกัดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน “ความไม่มั่นใจในความปลอดภัยต่อชีวิต” แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนได้สัมผัสความจริงข้อหนึ่งที่ว่า คุณครูในพื้นที่มีกำลังใจเกิน 100 ที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ และปัญหาหนึ่งที่ผู้เขียน เห็นว่า เป็นโจทย์สำคัญ ที่สถานศึกษาในพื้นที่ได้รับไม่แตกต่างจากที่อื่น คือ การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการสอบโอเน็ต (O-NET) ให้สูงขึ้น ซึ่งโจทย์นี้ผู้เขียนกลับมองว่า ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะสถานศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั้งประเทศ

ข้อมูลผลการจัดอันดับด้านการศึกษาของ IMD ในปี 2556 จัดอันดับประเทศไทยในด้านการศึกษาให้อยู่ในอันดับ 51 จากจำนวน 60 ประเทศที่ถูกประเมิน ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนจากผลการทดสอบการอ่านออกเขียนได้ของ สพฐ. ของชั้น ป.3 และ ป.6 (ก.ย. 2556) จากเขตพื้นที่การศึกษา 80 เขต ทั้งหมด 183 เขต พบว่า

จากข้อมูลดังกล่าว บ่งชี้ให้เห็นว่า ทั้งประเทศ มีผู้เรียนที่อ่านไม่ได้ในระดับ ป. 3 คิดเป็นร้อย 8 จาก 8 แสนคน และระดับ ป. 6 คิดเป็นร้อยละ 4 จาก 8 แสนคน ซึ่งหากดูปริมาณจำนวนคน พบว่า ยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก คิดอย่างง่ายคือ เป็นหลักหมื่น ในหลักแสน

ส่วนข้อมูลผลการสอบโอเน็ตในรอบ 5 ปีการศึกษาย้อนหลัง ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ในภาพรวมมีผลการสอบได้คะแนนทั้งประเทศไม่ถึงร้อยละ 50 แต่พบข้อมูลในกลุ่มสาระสุขศึกษา การงานอาชีพฯ และศิลปะ ที่ผู้เรียนทั้งประเทศมีผลทดสอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 คือในปี 2552-2555 ในกลุ่มสาระสุขศึกษา ในปี 2555 ในกลุ่มสาระศิลปะและในปี 2552-2555 รวมทั้งภาษาไทย ในปี 2553 ร้อยละ 50.04 คณิตศาสต์ในปี 2553 ร้อยละ 52.40 วิทยาศาสตร์ในปี 2551 ร้อยละ 51.68 และสังคมศึกษาฯ ในปี 2554 ร้อยละ 52.22

ตัวอย่างข้อมูลผลสอบโอเน็ตในระดับชั้น ป. 6 จำนวน 5 ปีย้อนหลัง ยังมีความเหมือนกับตัวเลขผลสอบโอเน็ตในระดับ ม. 3 และ ม.6 เช่นกัน คือทั้งสองระดับมีผลสอบโอเน็ต ในภาพรวมทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ ไม่เกินร้อยละ 50 นั่นแสดงให้เห็นว่า ผลการสอบโอเน็ต 5 ปีย้อนหลัง ไม่ได้แตกต่างกันและมีแนวโน้มลดลง จากตัวอย่างข้อมูลเหล่านี้ จึงกลายเป็นที่มาของนโยบายการศึกษา ว่า ปี 2557 เป็นปีแห่งการปราศจากผู้เรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และเป็นที่มาของนโยบายการยกระดับผลสอบโอเน็ตให้สูงขึ้น

ปัญหาที่ผูกพันตามมาหลังจากนโยบายการยกระดับผลสอบโอเน็ตให้สูงขึ้นทั่วประเทศ จึงทำให้ครูต้องทำการเรียนเสริม เรียนเพิ่มและติวเข้ม ข้อสอบโอเน็ต จนกลายเป็นภาระผูกพันเพิ่มเติมต่อเนื่องจากการจัดการเรียนการสอนตามปกติ

ผู้เขียนคิดเห็นว่า การบ้านชิ้นใหญ่ ในการยกระดับผลสอบโอเน็ตให้สูงขึ้น ควรพิจารณาและทบทวนระบบและกลไกต่างๆ ทางการจัดการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

1. การใช้หลักสูตรสถานศึกษา ของครูผู้สอนได้รับการแปลงจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มาใช้อย่างเหมาะสมกับสถานศึกษาแล้วหรือไม่

2. การวิเคราะห์หลักสูตร ตามตารางการวิเคราะห์หลักสูตรในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งกระทำอย่างละเอียดตามตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้กระทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่

3. กิจกรรมการเรียนการสอนมีความผูกพันและเป็นไปตามตัวชี้วัดในหลักสูตรของกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือไม่

4. การวัดผลและประเมินผล ได้ทำการออกข้อสอบที่สะท้อนความรู้ 6 ระดับตามคุณภาพของตัวชี้วัดหรือไม่ กล่าวคือ มีการวัดผลเพื่อทดสอบความรู้จำ ความเข้าใจ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์และการประเมินคุณค่าหรือไม่

5. การบริหารเวลาเรียนตามโครงสร้างเวลาเรียนแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้ใช้เวลาเรียนเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ เช่น สาระการเรียนรู้ภาษาไทยในชั้น ป.1 มีเวลาเรียน 200/ปี ได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ครบหรือไม่ กล่าวคือมีการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ตามแผนปฏิบัติงานประจำปีของสถานศึกษาโดยใช้เวลาเรียนในรายวิชาไป โดยมีการชดเชยเวลาเรียนให้หรือไม่

6. การปฏิบัติหน้าที่งานอื่นของครูผู้สอน มีผลกระทบต่อการเรียนการสอนหรือไม่ เช่น การทำเอกสารวิชาการ การประชุม/อบรม/สัมมนา การทำงานธุรการ เป็นต้น

7. การสอนในชั่วโมงเรียนของครูผู้สอน ได้สอนตามหลักสูตรสถานศึกษาที่ออกแบบและวิเคราะห์มาอย่างถูกต้องหรือแบบเรียนที่รัฐจัดสรรให้

8. ส่วนการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหาร ทำการบริหารสิ่งใด ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

อนึ่ง ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า การใช้วิธีการติวข้อสอบโอเน็ต โดยใช้เวลาเรียนเพิ่มเติม หรือเรียนเพิ่มจากวันปกติ เป็นความผิดปกติของการจัดการศึกษาในเวลาปกติ ที่ควรให้น้ำหนักกับการเรียนการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตัวชี้วัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระนั้น อีกทั้งการติวข้อสอบโอเน็ต เพื่อให้ผู้เรียนมีคะแนนโอเน็ตสูงขึ้น เป็นการให้ผู้เรียนเกิดความจำข้อสอบ มากกว่าการคิดวิเคราะห์ข้อสอบ เพราะในกระบวนการสอนติวนั้น เกิดจากการใช้ข้อสอบเก่า เพื่อให้ผู้เรียนดูตัวอย่างแนวข้อสอบเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปอย่างง่าย คือว่า วิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาโอเน็ตตกต่ำ สิ่งที่ควรตระหนักและควรทบทวนเป็นอันดับแรก คือ การใช้หลักสูตรสถานศึกษาในแต่ละกลุ่มสาระ ว่าเป็นไปตามตารางการวิเคราะห์หลักสูตรอย่างเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ ก่อนจะไปเน้นว่า ระดับชั้นไหน ควรเรียนสาระอะไร ให้เข้มข้นกว่าอะไร เช่น ป.1-ป3 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ควรให้น้ำหนักภาษาไทยและคณิตศาสตร์ให้มากกว่าปกติ เพราะใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนกลุ่มสาระอื่นๆ เป็นต้น

ดังนั้น การแก้ปัญหาผลสอบโอเน็ตต่ำ อาจเป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขา ซึ่งสาเหตุสำคัญหนึ่งอาจอยู่ที่การใช้หลักสูตรสถานศึกษาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยไม่ได้ทำการวิเคราะห์หลักสูตรตามตัวชี้วัดอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีหลักสูตรอยู่บนหิ้ง แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักสูตรสถานศึกษาจริง เพราะมัวแต่สอนตามหนังสือและแบบเรียนสำเร็จรูปกันอยู่
จี้ “บิ๊กตู่” แก้วิกฤตการศึกษา ม.ปลายโดดเรียน-เด็กซิ่วยอดพุ่ง
จี้ “บิ๊กตู่” แก้วิกฤตการศึกษา ม.ปลายโดดเรียน-เด็กซิ่วยอดพุ่ง
นักการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง “อุ๊เคมี” สะท้อนคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งเป็นผลจากนโยบายรัฐบาลในการปรับช่วงเวลาเปิด-ปิดของภาคการศึกษา รวมไปถึงการจัดสอบ GAT/PAT และการสอบแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็ก เกิดสภาวะเด็กโดดเรียนในระบบ บางโรงเรียนเด็ก ม.6 หายทั้งชั้น ครูนั่งตบยุง เด็กอยู่แต่โรงเรียนกวดวิชา และที่แย่สุดสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ก็ไม่เรียนหรือเรียนไม่ได้ จนต้องหยุดเรียนออกมาซิ่วนับหมื่นราย ชี้เด็กสายวิทยาศาสตร์กระทบมากสุด วอนรัฐบาล “บิ๊กตู่” แก้วิกฤตในระบบการศึกษาด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น