xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “บิ๊กตู่” แก้วิกฤตการศึกษา ม.ปลายโดดเรียน-เด็กซิ่วยอดพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง “อุ๊เคมี” สะท้อนคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งเป็นผลจากนโยบายรัฐบาลในการปรับช่วงเวลาเปิด-ปิดของภาคการศึกษา รวมไปถึงการจัดสอบ GAT/PAT และการสอบแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็ก เกิดสภาวะเด็กโดดเรียนในระบบ บางโรงเรียนเด็ก ม.6 หายทั้งชั้น ครูนั่งตบยุง เด็กอยู่แต่โรงเรียนกวดวิชา และที่แย่สุดสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ก็ไม่เรียนหรือเรียนไม่ได้ จนต้องหยุดเรียนออกมาซิ่วนับหมื่นราย ชี้เด็กสายวิทยาศาสตร์กระทบมากสุด วอนรัฐบาล “บิ๊กตู่” แก้วิกฤตในระบบการศึกษาด่วน

การที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดเวลาในการเปิด-ปิดภาคเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษาเป็นภาคเรียนที่ 1 วันเปิดภาคเรียน 16 พฤษภาคม และปิดภาคเรียน 11 ตุลาคม ขณะที่ภาคเรียนที่ 2 วันเปิดภาคเรียน 1 พฤศจิกายน และปิดภาคเรียน 1 เมษายนของทุกๆ ปีนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนและการสอนของเด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กกำลังจะเตรียมตัวสอบ GAT/PAT คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ในวันนี้เด็ก ผู้ปกครองและครูในโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาได้ออกมาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการควรจะดำเนินการปรับกำหนดการเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง
        
โดยเฉพาะหลังจากที่โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ หรือที่รู้จักกันคือ “เคมี อ.อุ๊” ได้ออกมาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊ก และบรรดาคนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความเห็นถึงระบบการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ที่จัดเวลาให้เด็กเข้าสอบตั้งแต่ยังไม่จบหลักสูตร ม.6 นั้นได้ก่อให้เปิดปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย
อาจารย์อนุสรณ์ ศิวะกุล ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ หรือเคมี อ.อุ๊
เด็ก ม.ปลายหายจากชั้นเรียน

อาจารย์อนุสรณ์ ศิวะกุล ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์บอกกับ Special Scoop ว่า ปัจจุบันนี้เด็กมีความเครียดในการสอบ GAT/PAT เพราะในช่วงปลายเดือนตุลาคม - ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่เพิ่งเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 ซึ่งโรงเรียนมักจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดแข่งขันกีฬาสี ซึ่งเด็กบางส่วนจะทุ่มเทกับกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่เพราะรู้สึกว่าได้ผ่อนคลายกับชีวิตในโรงเรียนอีกเพียง 1 ปีจึงต้องการแสดงศักยภาพให้เต็มที่         

ขณะเดียวกันนั้นเด็กมัธยมปลายส่วนใหญ่เลือกที่จะโดดเรียนเพื่อเตรียมตัวอ่านหนังสือ หรือไปเรียนติวที่โรงเรียนกวดวิชา เพราะต้องการมีคะแนนสูงๆ ให้ได้เรียนในคณะที่คาดหวัง ซึ่งสร้างปัญหาตามมา คือ เด็กไม่สนใจการเรียนหนังสือที่อยู่ในระบบโรงเรียน อัตราการขาดเรียนของเด็ก ม.6 มีมากขึ้น ขณะที่อาจารย์ผู้สอนเตรียมการสอนมาแต่ไม่มีเด็กในชั้นเรียน
        
“อาจารย์ ม.ปลายท่านหนึ่งยอมรับว่า ตั้งใจพิมพ์ชีตแจกเด็กในห้องมีคนเข้าเรียนไม่ถึง 6 คนที่เหลือไม่มาเรียน โรงเรียนบางแห่งไม่มีเด็กมาเรียนเลย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาประมาณ 3 ปีแล้ว”
        
แนะเลื่อนสอบ GAT/PAT เพื่อให้เด็กเรียนเทอมสองอย่างครบถ้วน
       
อาจารย์อนุสรณ์ กล่าวว่า ข้อดีของการเปิดให้สอบ GAT/PAT 2 รอบนั้น เพื่อให้เด็กได้กลับไปทบทวนมีโอกาสแก้ตัว และมีทางเลือกเมื่อพร้อมตอนไหนก็เลือกสอบตอนนั้น และถ้าเด็กรู้ว่าคะแนนไม่ดีก็เรียนอยู่ในระบบโรงเรียนต่อไป
        
ทั้งนี้อยากให้มีการทำวิจัยกับเด็กว่าการสอบในรอบที่ 1 หากไม่มีความพร้อมแล้วจะสอบหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าเกินร้อยละ 70 เลือกที่จะสอบ เพราะเห็นว่าเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ขั้นตอนการสอบว่าเป็นอย่างไร และเพื่อจะหาข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไขในการทำข้อสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตามการขยับปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการสอบ GAT/PAT นั้นจะก่อให้เกิดผลดี ทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีเวลาเรียนเทอม 2 อย่างมีเนื้อหาสาระที่ครบถ้วน มีเวลาอ่านหนังสือทบทวน และได้ร่วมกิจกรรมผ่อนคลายด้วย สำหรับการปรับช่วงเวลาใหม่นั้นทำได้ คือ เลื่อนถอยหลังไป 2 เดือน โดยปรับเวลาการสอบ GAT/PAT รอบแรกเป็นเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ และเว้นอีก 2 เดือนจึงเริ่มสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2 เพื่อให้เด็กไม่มีช่วงเวลาว่างมากเกินไปและเข้าเรียนในระบบได้อย่างเต็มที่ เพราะทุกวันนี้เมื่อมีเวลาว่างเด็กที่ผู้ปกครองมีความพร้อม มีฐานะ ก็จะหาทางส่งลูกหลานไปเรียนคอร์สภาษาที่ต่างประเทศ เป็นต้น

3 สาเหตุที่ทำให้เด็กสอบได้คณะที่ไม่ชอบ เกิดปัญหาเด็กซิ่ว

ปัญหาที่ตามมาอีกประการคือเด็กสอบได้ แต่เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเรียนไม่ได้ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าสอบติดในคณะที่ไม่ชอบ ซึ่งอาจารย์อนุสรณ์กล่าวถึงที่มาว่า มีสาเหตุมาจาก ข้อแรก การออกแบบระบบการศึกษา แบบระบบสอบกลาง (Admission) เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยนั้น ไม่มีการวางแผน ตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีเวลาเพียงพอให้เด็กเลือกเรียนในสิ่งที่ตรงกับความชอบ และความถนัด เป็นเป้าหมาย เช่น เด็ก ม.3 จะต้องรู้ว่าตนเองมีความถนัดในสาขาวิชาไหน และในอนาคตอยากทำสายอาชีพอะไร หรือเมื่อจบ ม.6 อยากศึกษาในคณะอะไร และมหาวิทยาลัยใด

สาเหตุที่สอง คือ เด็กบางคนไม่รู้จักตนเอง หรือยังไม่ค้นพบตนเอง จึงเลือกที่จะตามกระแส หรือบางคนเห็นว่าตัวเองเป็นคนเรียนดีก็สอบเข้าศึกษาในคณะที่เป็นที่นิยมตามเพื่อนไป เช่น แพทยศาสตร์ แต่เมื่อเรียนเแพทย์ไปสักระยะก็เปลี่ยนความคิด ออกมาสอบคณะวิศวะ หรือในทางกลับกันเรียนวิศวะก็ออกมาเรียนแพทย์ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เป็นเด็กเก่งจะเรียนอะไรก็ได้แต่ในวันที่เลือกนั้นยังไม่ค้นพบตนเอง

“วันนี้กระแสของแพทย์มาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 80% เด็กเก่งมีความพร้อมสูง จะมุ่งไปที่การเรียนแพทย์เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ส่วนที่พุ่งเป้าไปที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบันนั้นกระแสลดลง เป็นเพราะตลาดงานวิศวะเริ่มแคบ และจำกัด คนที่เก่งจริงจึงจะได้งาน ในขณะที่แพทย์เรียนจบไม่มีคำว่าตกงาน และยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากรอยู่มาก ซึ่งมีสถิติและงานวิจัยชี้ว่า คณะที่มีเด็กซิ่วเป็นอันดับหนึ่ง คือ คณะวิทยาศาสตร์ เพราะเมื่อสอบเข้าแพทย์ไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะย้อนกลับไปซิ่วใหม่เพื่อเรียนแพทย์ให้ได้”

สาเหตุที่สาม คือ ผู้ปกครองเป็นผู้กำหนด สิ่งที่เด็กอยากเรียนกับสิ่งที่พ่อแม่อยากได้คนละเรื่องกัน จะพบในกรณีเช่น เด็กสอบเข้าวิศวะคะแนนดีได้เป็นเบอร์ต้นๆ ของคณะ แต่ในปีต่อมาก็ลาออก ซิ่วไปสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ได้อันดับ 1 จนเรียนจบได้เกียรตินิยมเหรียญทอง ทราบที่มาว่าปีที่แล้วสอบให้พ่อแม่ ปีนี้จึงสอบที่ตัวเองอยากเรียน

“หลักสูตรการเรียนการสอนในบ้านเราไม่มีการฝึกเด็กให้ใช้ดุลพินิจ วิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เด็กไปตามกระแส ก่อนหน้านี้คณะวิศวะดัง ปัจจุบันเป็นกระแสของแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องของวิชาชีพ รายได้ที่ดี และการยอมรับในสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไม่ได้ค้นพบตัวเองว่าต้องการอะไร จึงเป็นหน้าที่ของระบบและครูที่ต้องแนะแนวให้เด็กมีความพร้อม เพื่อค้นพบตัวเองตั้งแต่ ม.3” อาจารย์อนุสรณ์กล่าว

กรณีศึกษาแอดมิชชั่นของประเทศอังกฤษ

อาจารย์อนุสรณ์กล่าวถึงโมเดลที่ประสบความสำเร็จ คือ ระบบกลางคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศอังกฤษ ซึ่งเด็กไม่ต้องสอบคัดเลือกใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นหน้าที่ของโรงเรียนระดับไฮสคูลที่จะต้องสอนและวัดผลการศึกษาของเด็ก ด้วยศักยภาพที่มีทำให้โรงเรียนที่มีคุณภาพในการสอนสูงจะมีการจัดอันดับ และยังสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า เมื่อถึงเวลาที่เด็กจะต้องทำข้อสอบส่วนกลางนั้นเด็กจะได้รับเกรดอะไร และโดยทั่วไปโรงเรียนที่มีคุณภาพในการสอนสูงจะได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับท็อป ซึ่งทุกอย่างชัดเจนด้วยสถิติ

ส่วนมหาวิทยาลัยนั้น จะมีบทบาทในการสอบแอดมิชชั่น โดยหลังจากผ่านขั้นตอนที่เด็กส่งประวัติ ที่ประกอบด้วยคะแนนของโรงเรียน คอมเมนต์ความประพฤติ ความเด่นในแต่ละวิชา และการร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร ไปยื่นต่อมหาวิทยาลัยที่ต้องการจะเข้าเรียนต่อแล้ว มหาวิทยาลัยจะคัดเลือกจากข้อมูลแล้วเรียกสัมภาษณ์

ซึ่งที่อังกฤษจะให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์มาก และหากผลลัพธ์การสัมภาษณ์สรุปความเห็นว่าหน่วยก้านดีพูดจาโต้ตอบฉะฉาน มีไหวพริบก็จะตกลงรับ ดังนั้นแต้มต่อจะอยู่ที่การสอบสัมภาษณ์ ซึ่งมาจากโรงเรียนเกรดใด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญประการแรก

ที่ผ่านมามีเด็กไทยหลายคนผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์ของมหาวิทยาลัยแล้วได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ออกซ์ฟอร์ด โดยเมื่อสัมภาษณ์เสร็จแล้วก่อนจะตกลงรับเข้าเรียน ต้องผ่านการสอบวัดผลข้อสอบกลาง ซึ่งมี 2 มาตรฐาน คือ ข้อสอบออกซ์บริดจ์ที่สอบโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ขึ้นอยู่กับแต่ละโซนของประเทศจะเลือก หากสอบได้เกรด A 3 ตัวก็จะได้รับเลือกให้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยทันที

สำหรับคนที่จะเรียนต่อแพทย์ ผลการเรียนด้านวิชาชีวะและวิชาเคมีต้องอยู่ในระดับ Excellence เด็กต้องมีการเรียนวิชาพื้นฐานหลักมาก่อน หรือคนที่เรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ ต้องเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ขั้นสูง และได้คะแนนระดับเกรด A เด็กที่จะเรียนต่อทางด้านไหนจึงต้องมีการเตรียมตัวเรียนวิชาพื้นฐานสำหรับระดับมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเองจะเรียกสัมภาษณ์ โดยคัดเลือกจากประวัติ

รวมทั้งผลการเรียนที่สำคัญๆ แล้วเขียนเป็นเรียงความ ซึ่งเมื่อมหาวิทยาลัยได้ข้อมูลและผ่านการกลั่นกรองเป็นตัวหลักได้แล้ว เมื่อจะสอบเข้าคณะไหนก็ต้องสอบ SAT ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานอย่างหนึ่งที่คนทั่วโลกยอมรับและนำส่งคะแนน SAT ไปที่ส่วนกลาง หลังจากนั้นจึงจะได้การตอบรับเข้าเรียนจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งโมเดลนี้มองว่าจะทำให้เด็กไม่เครียด และวางแผนพุ่งเป้าไปข้างหน้าได้

ทั้งนี้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องนำโมเดลของประเทศอังกฤษมาใช้ทั้ง 100% แต่อาจจะนำบางแนวทางมาปรับใช้ เพราะถ้าใช้ทั้งหมดอาจไม่เหมาะกับประเทศไทย แอดมิชชั่นของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะไม่ได้เด็กตามคุณสมบัติที่ต้องการ จึงทำให้บางมหาวิทยาลัยมีการเปิดคัดเลือกเพิ่มเติมขึ้นมาเองด้วย

“ระบบการศึกษาของประเทศไทย ที่เกิดจากความไม่ลงตัว การเหลื่อมล้ำของเวลากันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการเรียนนั้น ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กให้ด้อยลงไป เพราะนำไปสู่ปัญหาที่เมื่อเด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้แล้ว ก็เรียนไม่ได้ต้องออกมาซิ่ว ขณะที่คนที่มีความพร้อมสูงกว่าจะมีโอกาสในการเตรียมตัวได้ดีกว่า

ที่ผ่านมานั้น นโยบายทางการศึกษาในทุกสมัยของไทย ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กำหนด และออกมาเป็นกึ่งๆ ประชานิยมด้วยแนวคิดที่บอกว่า “ผู้เรียนประสงค์จะเรียนอะไรต้องได้เรียน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารต้องให้เด็กเรียนต่อทั้งๆ ที่เด็กเรียนต่อทางสายสามัญไม่ไหว จากผลผลิตนี้มาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า คนที่เรียนสายสามัญจนจบปริญญาตรีออกมาแล้วไม่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโดยรื้อการศึกษาใหม่ทั้งระบบ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ ในยุครัฐบาลนี้ที่มีอำนาจเต็มมือจึงไม่ใช่เรื่องยาก สามารถเปลี่ยนได้ทันที” อาจารย์อนุสรณ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น