ศธ.สังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวข้องกับธุรกิจกวดวิชาตั้งแต่ปี 45-57 ระบุข้อมูลปี 55 พบไทยมี ร.ร. กวดวิชากว่า 2 พันแห่งเป็น นร. ระดับมัธยมสูงกว่า 4 แสนคนที่กวดวิชา ขณะที่มูลค่าการตลาดเติบโตเฉลี่ย 5.4 ต่อปี คาดในปี 58 จะสูงถึง 8 พันกว่าล้านบาท จากการเพิ่มค่าเรียนและจำนวน นร. ที่เข้าสู่วงจรกวดวิชา ส่วนสาเหตุที่กวดวิชาเพื่อผลการเรียนดีขึ้น โอกาสการสอบ เตรียมตัวเข้ามหา’ลัย แม้ค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นปัญหามากที่สุด องค์กรหลัก ศธ. มอบ สนย. ไปทำวิจัยเชิงลึกโดยรวมประเด็น ร.ร. เปิดสอนกวดวิชา หรือสอนพิเศษตอนเย็นด้วยและนำมาเสนอก่อนนำไปสู่กำหนดแผนแก้ปัญหากวดวิชาในต้นเดือน ก.ย. นี้
วันนี้ (19 ส.ค.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานศึกษาวิจัยเรื่อง “ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการกวดวิชา” ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัด ศธ. โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นการสังเคราะห์รายงานวิจัย ปริญญานิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ ในช่วงปี 2545 - 2557 ซึ่งเผยแพร่ในหนังสือวิชาการ บทความ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 27 เรื่อง ผลการสังเคราะห์ พบว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชา ทั้งโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา 2,005 แห่ง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนที่เรียนกวดวิชา 453,881 คน คิดเป็น 12% ของจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด
นอกจากนี้ เมื่อดูมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชา พบว่า ในปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และจะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท ในปี 2558 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกวดวิชา เช่น ผู้เรียนคาดว่าจะทำให้ผลการเรียนดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบได้ ใช้เตรียมตัวสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ต้องการเทคนิคการทำข้อสอบ และไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา ส่วนผลกระทบจากการกวดวิชา เช่น ค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาต่อเทอมค่อนข้างสูง ผู้เรียนต้องออกนอกบ้าน และสถาบันกวดวิชาไม่เน้นสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหากวดวิชา เช่น ต้องพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาให้เท่าเทียมกัน สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียน และปรับระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นต่างๆ
“จากข้อมูลที่ดังกล่าวที่ประชุมได้มอบให้ สนย. ไปศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าวในเชิงลึกอีกครั้ง รวมทั้งให้ไปศึกษากรณีโรงเรียนที่เปิดสอนกวดวิชา หรือสอนพิเศษในช่วงเย็น หรือเสาร์ - อาทิตย์ ให้แก่นักเรียนด้วยว่าสอนอะไร อย่างไร และครูมีการกั๊กวิชาในห้องเรียนหรือไม่ โดยให้เร่งสรุปผลเสนอในการประชุมปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดเห็นกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการกวดวิชาต้นเดือนกันยายนนี้” นายชัยพฤกษ์ กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่