บอร์ดปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. เห็นชอบโรดแมปเตรียมชงฝ่ายสังคมฯ พร้อมชู 9 ข้อเร่งเดินหน้าในปี 58-59 แยกอุดมฯ ปรับหลักสูตร ลดเวลาเรียนซ้ำซ้อน ปรับรายหัวทุกระดับให้เป็นธรรม
วันนี้ (14 ส.ค.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ของ ศธ. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอและโรดแม็ปการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน ตามกรอบแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปได้นำเสนอ มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2558 - 2564 โดยข้อเสนอระยะต้น ในปี 2558 - 2559 ที่จะต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้ 1. ปรับหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต รวมทั้งลดเวลาเรียนที่ซ้ำซ้อน ปัญหากวดวิชาเพื่อให้เด็กได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น 2. ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ จูงใจสร้างค่านิยม ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น พัฒนาระบบค่าตอบแทน สมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา และผลิตและพัฒนาอาจารย์ระดับปริญญาเอก
3. ปรับโครงสร้าง ศธ. ให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจ โดยให้ส่วนกลางดูแลนโยบาย แผน มาตรฐาน ติดตามประเมินผล ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ กระจายอำนาจให้สถานศึกษาบริหารแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากขึ้น นอกจากนั้นยังเสนอให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อกจาก ศธ. เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัว 4. พัฒนาครูดี ครูเก่ง 5. พัฒนาระบบและกระบวนการได้มาของผู้แทนและองค์กรครูต่างๆ 6.ปรับระบบการเข้าศึกษาต่อต้องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย 7. ส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกล 8. ปรับระบบอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภท ให้เป็นธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง และ 9. ทำแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พัฒนากองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งรัด พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีฯ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ทั้งนี้ จะสรุปผลการประชุมเพื่อเสนอให้ที่ประชุมองค์กรหลักของ ศธ. พิจารณาเห็นชอบ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ก่อนเสนอให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา พิจารณา เพื่อนำแผนดังกล่าวรองรับการปฏิรูปประเทศต่อไป
“ในส่วนของข้อเสนอให้แยก สกอ. ออกจาก ศธ. นั้น เป็นแนวคิดจากหลายๆ ภาคส่วน ที่เห็นว่าปรัชญาการจัดการศึกษาของอุดมศึกษา กับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น จึงน่าจะสามารถแยกออกจากกันได้ เพื่อการบริหารจัดการที่คล่องตัว ส่วนรายละเอียดว่าจะแยกออกมาแป็นกระทรวงใหม่ หรือเป็นทบวงภายใต้ ศธ. นั้น ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดคือ สกอ. เป็นผู้เสนอ เพราะมีเรื่องของกฎหมายต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” ปลัด ศธ. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่