xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเสนอตั้ง คกก.กลางวิเคราะห์หลักสูตรทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลัด ศธ. เล็งเสนอตั้ง คกก. หลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ ทำหน้าที่วิเคราะห์หลักสูตรพื้นฐาน - อาชีวะ - อุดมศึกษา รับลูกหัวหน้า คสช. เตรียมมอบให้แต่ละองค์กรไปวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาเร่งด่วนบูรณาการค่านิยมหลัก 12 ประการไปสู่การปฏิบัติ

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างโรดแมป (Road Map) ปฏิรูปการศึกษา (ปี พ.ศ. 2558 - 2564) ว่า ก่อนหน้านั้น ศธ. ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายจนนำมาสู่การวางกรอบแนวทางไว้ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. ปฏิรูปครู 2. เพิ่ม - กระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม 3. ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ 4. การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน 5. ปฏิรูปการเรียนรู้ และ 6. ปรับระบบการใช้ ICT เพื่อการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มอบหมายให้คณะเลขานุการไปรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นรอบด้านอีกครั้งเพื่อนำมาเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ของ ศธ. ที่มีตนเป็นประธานและมีผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. เป็นรองประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าวตนจะหยิบยกข้อสั่งการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และข้อห่วงใยในการจัดการเรียนการสอนซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อยากให้เร่งแก้ไข เบื้องต้นจะระดมแนวคิดว่าในเรื่องใดบ้างที่แต่ละองค์กรหลักสามารถไปบูรณการกับการทำงานเพื่อให้เกิดผลได้ทันที เช่น การลดเวลาเรียน การพัฒนาทัษะชีวิตของผู้เรียนในระดับพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เป็นต้น ที่สำคัญต้องมีคุณลักษณะตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการของ คสช.

หัวหน้า คสช. ห่วงใยเรื่องการศึกษาของเด็กทั้งการเรียนที่มากเกินไป เด็กกวดวิชา ปัญหาขาดแคลนผู้เรียนสายอาชีพและยังยกตัวอย่างด้วยว่ามีเด็กที่จบอุดมศึกษาจำนวนมากแต่มีถึง 53% ที่ตกงาน จึงอยากให้ ศธ. ไปแก้ไขวางระบบให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขอให้แต่ละองค์กรหลักไปดำเนินการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดูแลเรื่องการปรับลดเวลาเรียน หลักสูตรรวมถึงกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมควรเป็นแบบใด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดให้มีวิชาเลือกมากขึ้นกว่าที่มีเพื่อให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนถนัดและสนใจซึ่งจะช่วยต่อยอดพัฒนาตัวได้ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอให้ไปดูการสร้างสุภาพบุรุษอาชีวศึกษาจะมีมาตรการอย่างไร รวมทั้งการส่งเสริมให้คนมาเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นจะจูงใจได้อย่างไรซึ่งตรงนี้จะเร่งผลักดันระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นซึ่งจะช่วยการันตีความสามารถในทักษะวิชาชีพไม่ใช่การรับรองปริญญา ส่วนคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะขอให้ไปดูการส่งเสริมให้มีผู้เรียนในสาขาที่ประเทศต้องการจบไปแล้วมีงานทำ ทั้งนี้ อาชีวศึกษาเป็นการเรียนเพื่อการมีอาชีพ ส่วนอุดมศึกษาเรียนเพื่อการศึกษาและมีงานทำซึ่งทั้งสองระดับมีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมคนสู่ตลาดแรงงาน” นางสุทธศรี กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ารัฐต้องเข้ามาช่วยโดยใช้กลไกของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนได้เรียนโดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งปัจจุบัน กรอ. แม้จะให้กู้ในสาขาที่ขาดแคลนแต่ก็พบว่ามีผู้กู้ยืมน้อย เพราะฉะนั้น ควรจะต้องมาทบทวนข้อดีข้อเสียทั้ง 2 กองทุนและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ

นางสุทธศรี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนมีแนวคิดว่าการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจะต้องทำในภาพรวมซึ่งควรมีคณะกรรมการกลางที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น ในการประชุมวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ตนจะหารือกับที่ประชุมและเสนอให้ตั้งคณะกรรมการหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หลักสูตรพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนในแต่ละระดับตามเป้าหมายที่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม แนวทางการปฏิรูปการศึกษาไม่ได้สิ้นสุดที่ ศธ. เพราะจะสรุปเสนอ คสช. ต่อไป
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น