xs
xsm
sm
md
lg

ค้นหาพื้นที่ “ไข่ขาว” กระจายพื้นที่ “ไข่แดง” : อีกหนึ่งทฤษฎีปฏิรูปการศึกษาคนถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ปัญหาที่แต่ละภาคส่วนยึดติดอยู่กับอาณาจักรของตนเองตามภารกิจหน้าที่ ทำงานแบบแยกส่วน ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถเดินไปสู่เป้าหมาย

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ย้ำใน “เวทีปฏิรูปการเรียนรู้การศึกษาเพื่อคนทั้งมวลครั้งที่ 30” ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ทำให้เกิดแรงบีบคั้นหลายด้าน เพราะคนเพียงบางกลุ่ม กลับเป็นเจ้าของทรัพยากรเกือบทั้งหมด จึงเกิดความจะเป็นในการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมลงสู่ท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลกลางทำหน้าที่สนับสนุนบประมาณเท่านั้น

การศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศ และเพื่อให้การปฏิรูปศึกษาขับเคลื่อนไปได้ จึงต้องไม่ทำแบบแยกส่วน และต้องไม่ใช่เป็นเรื่องของครู นักเรียน ให้เป็นเรื่องของทุกหน่วยงานและองค์กร และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของทุกๆ องค์กร ทั้งรัฐ ภาคธุรกิจ ท้องถิ่น

ครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา ได้หยิบยกทฤษฎี “ไข่ขาว - ไข่แดง” ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล เร่งกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาการศึกษาจากเดิมที่กระจุกตัวแต่พื้นที่ไข่แดง หรือพื้นที่ในเมืองเท่านั้น

“ล้านนาสไตล์” ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกโมเดลของการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น ที่กำลังขับเคลื่อนการทำงานอย่างได้ผล ด้วยการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจาก 113 ภาคีเครือข่าย โดยนำวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนล้านนาที่คนเชียงใหม่ภูมิใจมาเป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษา มีแนวทาง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนในเชียงใหม่เป็นเป้าหมายหลัก กว่า 346,148 คน 2) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ปฏิรูป 3) คนเชียงใหม่ร่วมรับผิดชอบและร่วมแก้ไขปัญหาการศึกษาของเชียงใหม่ และ 4) การกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางสู่พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายไพรัช ใหม่ชมภู ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า หลังจากทุกคนเห็นความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการศึกษา อบจ. ได้เริ่มเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมหารือเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ทั้งผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลการศึกษาของจังหวัด ซึ่งมีกว่า 22 หน่วยงาน สถานประกอบการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แรงงานจังหวัด ครูผู้สอน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อให้เกิดภาคีเครือข่ายการศึกษาเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน ก็มีเครือข่ายเข้าร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพิ่มเติม รวมกว่า 2,000 - 3,000 คนแล้ว

“แนวทางที่ทำให้เป็นรูปธรรมนั้น มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกของความเป็นคนเชียงใหม่ โดยให้ทุกคนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัด พร้อมกับการเรียนรู้เท่าทันโลก รวมถึงการศึกษาเพื่อการมีงานทำของนักเรียนเชียงใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยอบรมประวัติศาสตร์เชียงใหม่ฟรีกับทุกๆ คนที่สนใจ”

สำหรับการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมนั้น จะมีการหารือครั้งใหญ่ของภาคีเครือข่ายการศึกษาเชียงใหม่ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เพื่อร่างแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของเชียงใหม่ไปสู่การปฏิบัติ

ขณะที่ “ย่าโมสไตล์” ของจังหวัดนครราชสีมา มุ่งเน้นการเรียนรู้คู่การทำงาน เพื่อเป็นกลไกแก้ปัญหาเด็กยากจนที่มีกว่า 193,709 คน หรือ 60.4% และปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่กลายเป็นเด็กเร่ร่อนในจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ถึงปัญหานักศึกษาจบใหม่ไม่มีศักยภาพในการทำงานมากพอ

หลักสูตรสหกิจศึกษา” จึงเกิดขึ้น โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นแห่งแรกของประเทศที่จัดทำหลักสูตรนี้ ด้วยความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานใน 2 ภาคการศึกษา และขยายผลต่อไปถึงสถาบันอุดมศึกษาอีก 108 แห่ง จากการติดตามผล พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ได้งานทำในปีแรกจำนวน 100,000 คน เป็นนักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรสหกิจศึกษากว่า 35%

รวมถึงสร้างระบบการศึกษาทางเลือกให้กับเยาวชน ด้วยการศึกษามัธยมสัมมาชีพ หรือมัธยมแบบประสมให้นักเรียนได้เรียนคู่กันระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การทำงาน เพราะปัจจุบันมีนักเรียนเพียง 40% ที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ส่วนอีกกว่า 60% ออกจากระบบการศึกษาในช่วงมัธยมปลาย หรือต่ำกว่า ขณะเดียวกัน เยาวชนและผู้ปกครองไม่นิยมเลือกเรียนสายอาชีพ ดังนั้น เมื่อเยาวชนออกจากระบบแล้วจึงไม่มีวิชาชีพติดตัว เกิดปัญหาทางสังคมตามมา

รศ.ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า การปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดนครราชสีมาเริ่มต้นมาจากการมองปัญหา และสรุปหนทางแก้ไขได้ว่า โรงเรียนต้องทำมากกว่าสอนหนังสือ และดึงโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนมากในจังหวัดเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย ผ่านหลักสูตรสหกิจศึกษา และการศึกษาผสมผสานระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ ทำให้นักเรียนมีโอกาสฝึกปฏิบัติจริง และเรียนรู้โลกแห่งการทำงาน ซึ่งปัจจุบันแนวทางนี้กำลังขยายผลไปสู่โรงเรียน และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั้งจังหวัด โดยมีการนำร่องผ่านโครงการบูรณาการการเรียนกับการทำงาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลพณิชยการนครราชสีมา เรียกว่า “WIL” (Work Integrated Leaning)

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับการปฏิรูปการศึกษาที่ อบจ.นครราชสีมา ต้องขยายผลบูรณาการร่วมไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั้งในและนอกสังกัดด้วย มิใช่มองเพียงในส่วน 58 โรงที่ดูแลรับผิดชอบ เพราะ อบจ. มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ส่วนที่เชียงใหม่ต้องเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารและครูด้วยการปฏิรูปการศึกษาจึงจะเห็นผล ขณะเดียวกัน ต้องทำให้ทุกภาคส่วนในภาคีเครือข่ายที่มาประชุมตื่นตัว และร่วมทำงานอย่างแท้จริง

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ สรุปในตอนท้ายว่า การปฏิรูปการศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของจังหวัดจัดการตนเอง และเริ่มทำจากเรื่องเล็กๆ ก่อนขยายไปเรื่องใหญ่ ใช้การศึกษาเป็นตัวนำ และดึงวัฒนธรรมท้องถิ่น และศีลธรรมมาสนับสนุน เป็นการใช้อัตลักษณ์ที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เชียงใหม่เป็นเหมือนกรุงเทพ ซึ่งปัญหาจะตามมามากมาย ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นตัวอย่างของการนำสัมมาชีพมาแก้ปัญหา ทำให้ทางเลือกของเยาวชนกว้างขึ้น
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น