xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.แจงยังไม่สรุปใช้ “พาสปอร์ตความดี” หลังชาวเน็ตถล่มยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ. ระบุพาสปอร์ตความดีเข้ามหา’ลัย ยังไม่สรุปชัดเจน แจงเป็นเพียงแนวคิดต้องฟังความเห็นรอบด้าน “สุทธศรี” ชี้ เจตนาต้องการปลูกฝังคุณธรรมฝังลึกในใจเด็ก ขณะที่ “กำจร” ยันคะแนนความดีใช้ไม่ได้กับทุกวิชา ยังต้องยึดความรู้ทางวิชาการเด็ก ระบุขอดูแนวทางประเมินว่าสะท้อนผลแท้จริงหรือไม่ค่อยหารือ ทปอ.
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้นักเรียนทุกระดับชั้นในสังกัด ศธ. จัดทำพาสปอร์ตความดี เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้น สอดรับกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยรับนักเรียนที่มีพฤติกรรมดีเข้าเรียนต่อ แต่ยอมรับว่าในการคัดคนเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาสิ่งที่ห้ามไม่ได้คือการสอบแข่งขัน แต่ตนอยากให้สนับสนุนเด็กที่มีจิตอาสา หรือเด็กที่มีพฤติกรรมที่ดีต่อสังคม และสร้างสรรค์สังคมได้มีโอกาสเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วยเพื่อพัฒนาให้เด็กเป็นเยาวชนที่ดี และเป็นผู้ใหญ่ที่คิดถึงสังคมมากขึ้นในอนาคต ไม่ใช่มุ่งแต่เรียนกวดวิชา


อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พูดถึงการดำเนินการตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ได้เสนอว่าทำกิจกรรมใดบ้าง เช่น อาชีวศึกษาก็เล่าว่าได้ทำพาสปอร์ตความดี รวมถึงลูกเสือก็ระบุว่าทุกคนต้องมีพาสปอร์ตความดีบันทึกกิจกรรมประจำตัว ซึ่งตนเห็นว่าการจะสร้างให้เด็กทุกคนเป็นเด็กดี มีศีลธรรมก็ต้องเริ่มผลักดันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาเพื่อให้วางรากฐานการเป็นพลเมืองที่ดีที่ประชุมจึงหารือกันและมีแนวคิดว่าน่าจะขยายผลการทำพาสปอร์ตความดีให้เข้มแข็ง และขอให้หารือกับทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นำพาสปอร์ตความดีไปพิจารณาในการเข้าเรียน


“ผมได้เน้นย้ำกับที่ประชุมว่าก่อนจะให้ไปหารือ ทปอ. เราต้องกำหนดให้ชัดว่าวิธีการวัดความดีที่เหมาะสมเป็นเช่นไร และต้องเป็นเกณฑ์ซึ่งนักเรียนและสังคมให้การยอมรับและเชื่อมั่นว่าจะไม่ได้เป็นช่องทางให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกเข้ามหาวิทยาลัยได้ ที่สำคัญต้องไม่ทำให้เกิดการแข่งขันทำความดีเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือเข้าร่วมเพราะอยากบันทึกความดี แต่ต้องส่งเสริมให้เด็กทำจนเป็นนิสัยและเต็มใจทำ ที่สำคัญผมคิดคะแนนความดีเอามาใช้เป็นส่วนหนึ่งได้แต่คงไม่ใช่ทั้งหมดอาจจะต้องใช้พิจารณาเป็นพิเศษในบางคณะ แต่เฉพาะบางสาขาที่แข่งขันสูงยังจำเป็นต้องวัดความรู้ทางวิชาการเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น จะรอดูข้อเสนอรูปแบบวัดประเมินผลความดีที่สำนักลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน สำนักงานปลัด ศธ. จะมาเสนอก่อน หากสะท้อนพฤติกรรมแท้จริงก็จะไปหารือกับ ทปอ. ส่วนจะวิธีการใดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น อาจใช้เป็นคะแนนบวกเพิ่มให้ หรือใช้เป็นโควตาเช่นเดียวกับโควตานักกีฬา” เลขาธิการ กกอ. กล่าวและว่า ส่วนที่มีกระแสคัดค้านการใช้พาสปอร์ตความดีในสังคมออนไลน์นั้น ยังเป็นการสรุปที่เร็วเกินไป เพราะยังเป็นเพียงแนวคิด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำดีจะเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย ต้องอยู่ที่ความสามารถทางวิชาการของเด็กด้วย ไม่เช่นนั้นเมื่อเด็กเข้าไปเรียนแล้วสอบตก ก็จะเป็นการทำบาปต่อเด็ก



ด้าน นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักไปพิจารณารูปแบบการจดบันทึกความดีของนักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนัก และคิดที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคม มีจิตอาสาได้อย่างไร และจะนำผลจากการทำความดีนั้นไปใช้ประโยชน์หรือส่งเสริมให้เด็กทำความดีต่อไปได้อย่างไร ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้เสนอแนวทางที่ทำกันไปแล้ว ดังนั้น กรณีที่เด็กออกมาคัดค้านกรณีที่จะเสนอให้นำแบบบันทึกความดีต่างๆ ทั้งพาสปอร์ตความดีหรือสมุดพกความดีไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อในระดับต่างๆ นั้น เรื่องนี้เป็นเพียงการพูดคุยในที่ประชุมเท่านั้นยังไม่เป็นข้อยุติ เพราะต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายก่อน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีข้อคิดเห็นที่หลากหลาย จึงขอให้ทุกหน่วยงานนำไปเป็นข้อคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เรื่องการส่งเสริมให้เด็กทำความดีอย่างยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม จนหยั่งรากลงไปในจิตใจของเด็ก




ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น