สช. ฟุ้งเด็กเอกชนตื่นตัวรับเออีซีแห่เรียนภาษาของประเทศเพื่อนบ้านทั้ง เขมร - เวียดนาม - มาเลย์ - พม่า มากขึ้น “บัณฑิตย์” เผยเล็งทำหลักสูตรต้นแบบให้ ร.ร. ใช้เป็นมาตรฐานการสอน ชูเป้าหมายเรียนแล้วต้องพูดได้ ขณะที่ภาษาอังกฤษ - จีน ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม พร้อมเผยเห็นด้วยกับ คสช. ลดจำนวนเด็กกวดวิชา แต่ย้ำต้องปฏิรูปทั้งระบบ แจงทั่วประเทศมี ร.ร. กวดวิชา 2,040 แห่ง
นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการเลือเรียนภาษาต่างประเทศของนักเรียนในโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า ขณะนี้เวลาที่เราจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใกล้เข้ามาทุกที ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองให้ความสนใจเรียนเสริมในวิชาภาษาต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะจำเป็นที่ใช้ในการสื่อสาร โดยภาษาที่เด็กนิยมเรียนอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นวิชาภาษาอังกฤษ รองลงมาคือภาษาจีน เพราะฉะนั้น สช. จึงพยายามควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนภาษาในสถาบันต่างๆ เน้นให้เด็กเรียนแล้วสามารถสื่อสารได้ โดยเข้าไปดูแลในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน อาทิ ในส่วนของภาษาจีน สช. เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสำนักส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ หรือ ฮั่นปั้น มาร่วมออกแบบหลักสูตรว่า หากจะเรียนภาษาจีนให้สามารถสื่อสารได้จริงๆ ควรจะมีลักษณะอะไร และต้องเรียนอย่างไรบ้าง
“นอกจากนั้น ขณะนี้ยังพบว่า นักเรียน ผู้ปกครอง ให้ความสนใจเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทั้งประเทศกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมาร์ ดังนั้น ผมจึงมอบหมายให้กลุ่มงานนอกระบบของสช. ไปดำเนินการจัดทำหลักสูตรภาษาเพื่อนบ้าน ให้โรงเรียนต่างๆ นำไปเป็นต้นแบบในการเรียนการสอนได้มาตรฐาน เด็กสามารถสื่อสารได้จริง เพื่อประโยชน์ในการเรียนและทำงาน เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตด้วย”นายบัณฑิตย์ กล่าว
นายบัณฑิตย์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับระบบการเรียนการสอน เน้นให้เด็กเรียนในห้องเรียนเพิ่มขึ้น กวดวิชาน้อยลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองนั้น ตนเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวซึ่งการจะแก้ปัญหากวดวิชานั้นนี้ต้องปฏิรูปที่ระบบใหญ่ ทั้งปฏิรูปครู การเรียนการสอนในห้องเรียน หลักสูตร รวมถึงปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม สถิติจำนวนโรงเรียนกวดวิชาในปี 2557 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปี 2556 ที่ผ่านมา เพราะมีทั้งที่ขออนุญาตเปิดใหม่และที่ปิดตัว ปัจจุบันสถาบันกวดวิชาที่อยู่ในกำกับดูแลของ สช. ทั่วประเทศมีจำนวน 2,040 แห่ง แบ่งเป็น ในกรุงเทพมหานคร 640 แห่ง และ ต่างจังหวัด จำนวน 1,400 แห่ง ซึ่งการเปิดสถาบันกวดวิชา หรือสถาบันสอนภาษานั้นจะต้องขออนุญาตจาก สช. จึงจะเปิดได้หากไม่ขออนุญาตแล้วจะถือว่าเป็นสถาบันเถื่อนโดยเราจะพิจารณาคำนึงถึงมาตรฐานหลักสูตรการสอนและความปลอดภัยของสถานที่ที่จะมีผลต่อผู้เรียนเป็นหลัก
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่