ข่าวร้อนๆ ล่าสุดในแวดวงการศึกษาสำหรับระดับอุดมศึกษา ที่สร้างความฮือฮาให้กับบรรดาเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างมาก โดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ส่งผลโดยตรงต่อพวกเขา เพราะนโยบายร้อนๆ จะเริ่มในปีการศึกษา 2559
นโยบายร้อนๆ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แจ้งว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปีการศึกษา 2559 มีการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยปรับรับตรงและแอดมิชชัน ให้สอบร่วมกันและสอบเพียงครั้งเดียวหลังเด็กเรียนจบ ม.6
ทั้งนี้ ระบบรับตรงที่ใช้ผลการสอบ ให้ใช้ข้อสอบวิชาสามัญร่วมกัน และจัดสอบเพียงครั้งเดียว โดยจัดสอบภายหลังนักเรียนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว ในส่วนสาขาวิชาที่ต้องสอบวิชาเฉพาะ เช่น กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะ ฯลฯ ให้แต่ละกลุ่มสาขาวิชาจัดสอบร่วมกัน และให้สอบเพียงครั้งเดียว ขณะที่การสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการสอบวิชาความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT ให้จัดสอบพร้อมกันปีละ 2 ครั้งเพื่อให้เด็กเลือกคะแนนที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับเวลาการสอบวิชาเฉพาะ และการสอบ GAT/PAT นั้นจะจัดสอบเมื่อไรก็ได้เนื่องจากเป็นการวัดความถนัดและวัดศักยภาพที่ติดตัวมาของเด็ก
ส่วนระบบแอดมิชชันกลาง ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือคะแนนผลการเรียนซึ่งติดตัวเด็ก ได้แก่ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GPAX และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนที่สอง คือ องค์ประกอบที่ได้มาจากคะแนนสอบ ซึ่งเดิมจะมี GAT/PAT ก็อยู่ระหว่างการหารือว่าอาจจะเพิ่มคะแนนสอบวิชาสามัญเข้าไปด้วย โดยแอดมิชัชชันปีการศึกษา 2559 นั้นจะปรับข้อสอบ GAT/PAT ให้มีความเข้มข้นขึ้น เพื่อให้สามารถวัดความสามารถของเด็กได้ตรงตามสาขาวิชาจริงๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบการคัดเลือกทั้งรับตรงและแอดมิชชันกลาง ปีการศึกษา 2558 ยังเหมือนเดิม
………………………
ดิฉันผ่านการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยด้วยระบบเอนทรานซ์ สอบครั้งเดียวแต่ให้เลือก 6 อันดับ แต่พอมาเข้าสู่ยุคการปฏิรูปการศึกษา หลังจากเราได้พระราชบัญญัติการศึกษา ปี 2542 ก็มีการหยิบยกเอาเรื่องการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย โดยปรับเปลี่ยนวิธี และเรียกว่าระบบแอดมิชชัน โดยนำคะแนนเรียนหรือเกรด (GPA) มารวมด้วย เพื่อหวังว่าจะแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของระบบเอนทรานซ์ เพราะพบว่าทำให้เด็กจำนวนไม่น้อย หันไปพึ่งติวเตอร์มากกว่าเรียนในชั้นเรียน
การหันมาใช้ระบบแอดมิชชั่นเริ่มเมื่อปี 2544 ก็เพื่อหวังว่าจะช่วยลดการเรียนกวดวิชาของนักเรียน และหวังจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ อีกทั้งก็มีข้อดี เพราะระบบนี้ เด็กนักเรียนได้เห็นคะแนนของตัวเองก่อนที่จะได้เลือกคณะที่ต้องการเรียน
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การณ์ไม่เป็นไปตามหวัง เพราะปัญหาเดิมก็ยังมีอยู่ เด็กก็ยังเรียนกวดวิชากันมากอยู่ดี และปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมาอีก อันเนื่องมาจากโรงเรียนหลายแห่งก็ปล่อยเกรด เพราะอยากให้ลูกศิษย์ของตนเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้
สุดท้าย ก็ทำให้มาเกิดการจัดการสอบ O-Net และ A-Net เพื่อหวังจะแก้ปัญหาการปล่อยเกรด โดยการสร้างมาตราฐานข้อสอบให้เหมือนกันทั้งประเทศ
เรื่องยังไม่จบ เมื่อทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ไปเห็นการทดสอบมาตรฐานการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ สทศ.มีการปรับจากการสอบ A-Net มาเป็นสอบ GAT และ PAT จนกระทั่งนำมาสู่การสอบรับตรงและสอบแอดมิชชัน
พอมาถึงยุคนี้ ล่าสุดจะเรียกว่ายุบรวบการรับตรงและแอดมิชชันเข้าด้วยกัน หรือจะเรียกว่ายกเลิกการรับตรงก็ตามที ไม่ทราบว่าได้ทำการศึกษาดีแล้วหรือยัง ?
หรือได้มีการสอบถามเด็กนักเรียนที่เขาเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ ?
ลองหยุดคิดแล้วไล่เรียงปัญหาตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการศึกษาปี 2542 ก็ได้ สิ่งที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องการสอบเข้าระดับอุดมศึกษา
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ปัญหามันเพิ่มมากขึ้น หรือลดลงกันแน่ !
ลองตอบคำถามเหล่านี้ก็ได้
หนึ่งเด็กนักเรียนยังเรียนกวดวิชาหรือเปล่า
คำตอบขอบอกว่าไม่ใช่แค่เรียน แต่เขาเรียกว่าบ้าเรียน ระห่ำเรียน เรียนเพื่อสอบ จากแค่สอบในชั้นเรียน ตอนนี้ต้องเรียนเพื่อสอบ O-Net เรียนเพื่อสอบ GAT ,สอบ PAT , สอบแอดมิชชัน ฯลฯ
สองเด็กนักเรียนสอบเข้าคณะที่ตรงกับความถนัดไหม
คำตอบขอบอกว่าทุกวันนี้เด็กที่สอบเข้าระดับมหาวิทยาลัย มีจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถนัดอะไร ต้องการจะเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพอะไร พวกเขาหวังเพียงขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ไว้ก่อนเท่านั้นใช่หรือไม่
สามเด็กนักเรียนเรียนดีขึ้นไหม
คำตอบขอบอกว่าการพยายามให้เด็กเรียนในชั้นเรียน โดยใช้เกรดเป็นส่วนหนึ่งของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลยทำให้เด็กสนใจแต่เกรดเฉลี่ย ไม่สนใจเรื่องอื่น กิจกรรมอื่นๆ กิจกรรมเพื่อสังคม ทักษะชีวิตด้านอื่น หรือแม้แต่เรื่องความรู้รอบตัว เด็กยุคนี้จึงรู้แต่เรื่องของตัวเอง สนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจเรื่องส่วนรวม
ยอมรับซะเถอะค่ะว่าที่ผ่านมา เราล้มเหลวเรื่องระบบการศึกษา เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ปวดหัวใจแล้ว ความจริง สทศ. ที่ตั้งขึ้นมาในครั้งแรกก็เพื่อประเมินและวัดผลทางการศึกษา แต่พอทำไปทำมา กลับสนุกกับการจัดการสอบ ออกข้อสอบกันเหลือเกิน
เราอยู่ในวังวนที่สร้างปัญหาให้กับเด็กยุคต่อไปมามากแล้ว
ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมทาง ทปอ. ต้องรีบออกมาแถลงถึงนโยบายนี้ แม้จะรับลูกต่อจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนล่าสุดที่เคยออกมาแถลงเรื่องนี้ไว้ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร
ทำไมไม่ถือโอกาสที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ด้วยการตั้งโจทย์ให้ชัดว่าเราต้องการเด็กและเยาวชนในยุคหน้าแบบไหน และกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธิวิธีให้ชัดซะก่อน แล้วเรื่องนี้ก็ให้เป็นส่วนหนึ่งที่สอดรับกัน
เพราะกลัวใจจริงๆ ว่า ผ่านไปอีกไม่กี่ปีก็อาจต้องเปลี่ยนระบบรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัยกันใหม่อีก
ถามจริงๆ สนุกมากหรือไงที่เปลี่ยนกันบ่อยๆ !!!
ไม่อยากจะจบลงด้วยการฝาก คสช. แต่ยุคนี้ไม่ฝากคสช.แล้วจะฝากใคร ?
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่