xs
xsm
sm
md
lg

ชั่วโมงเรียน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวน-อยู่ที่คุณภาพ/ สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้นโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ มีออกมาเป็นระลอก มีทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ และเรื่องซ้ำๆ ที่เคยนำมาถกเถียงกันในสังคมหลายเรื่อง

เรื่องการลดจำนวนชั่วโมงเรียนในห้องเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ ขานรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เคยมีการโยนนโยบายเรื่องนี้มาถกกันในสังคมหลายครั้งแล้ว

ดิฉันเองก็ยังจำได้ว่า ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เมื่อครั้งทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร และตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จะต้องปรับเรื่องการลดชั่วโมงเรียนในชั้นของนักเรียนแต่ระดับชั้นลง เนื่องจากพบว่าเวลาเรียนของเด็กไทยในแต่ละช่วงชั้นต่อปีมากเกินไป เช่น ประถมศึกษาเรียน ประมาณ 1,000 ชั่วโมง มัธยมศึกษาเรียนประมาณ 1,200 ชั่วโมง แต่เมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงเรียนของนักเรียนไทยกับประเทศอื่น พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศในแถบแอฟริกา ซึ่งเรียนประมาณ 1,400 ชั่วโมงต่อปี แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของไทยเด็กกลับต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์สูง อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีชั่วโมงเรียนต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี โดยเฉพาะฮ่องกง ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก มีชั่วโมงเรียนต่อปีแค่ 790 ชั่วโมง

ในขณะที่ยูเนสโกกำหนดชั่วโมงเรียนของนักเรียนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 800 ชั่วโมงต่อปี

การที่ ศธ. จะปรับลดชั่วโมงเรียนลงเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู และเด็กเองก็พอใจ เพราะทุกวันนี้เด็กไทยเรียนมากเกินไป และเมื่อเด็กต้องเรียนในชั้นเรียนมาก จึงไม่มีเวลาไปเรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ เด็กบางคนเรียนมากแต่กลับคิดวิเคราะห์ไม่เป็น หรือไม่มีทักษะด้านอื่นเลย

นี่ยังไม่นับรวมเด็กนักเรียนที่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมอย่างบ้าระห่ำอีกนะ เรียกว่าเรียนทั้งวันและยังต่อเสาร์อาทิตย์อีกก็มี เป็นภาพที่เราเคยชินกับเด็กเรียนพิเศษในห้างก็จำนวนมาก

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกที่หรือเปล่า หรือมันจะไปสร้างปัญหาใหม่ด้วยหรือเปล่า เพราะเมื่อส่องเข้าไปถึงรายละเอียดของการปรับลดจำนวนชั่วโมงก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนนอกจากคำกล่าวของ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่บอกว่าเบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลง เช่น วิชาสังคมศึกษา ที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมแทน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปรับลดชั่วโมงเรียนได้ช่วงภาคเรียน 2 ปีการศึกษา 2557 เพราะ สพฐ. ยังไม่อยากปรับลดใหญ่ทั้งหมด เนื่องจากมีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก อีกทั้งการปรับลดชั่วโมงเรียนต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยกิต และการเรียนจบการศึกษา ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนก่อน

สรุปก็คือขานรับนโยบาย คสช. แต่ยังไม่มีแนวทาง และการวางแผนที่ชัดเจนในเรื่องนี้แต่ประการใด !

จริงๆ ประเด็นเรื่องการลดจำนวนชั่วโมงลง ไม่สำคัญเท่ากับเวลาที่มีอยู่ เด็กได้เรียนรู้อะไรและอย่างไร ?

ในเมื่อแนวทางและรูปแบบยังไม่ชัดเจน ถ้าเพียงการลดจำนวนชั่วโมงลง แต่ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาทั้งระบบ เด็กยังคงต้องเรียนเพื่อสอบและสอบ การแข่งขันก็ยังสูง มีสารพัดการสอบเพื่อวัดผล สุดท้ายเด็กก็แห่หันไปเรียนพิเศษอยู่ดี

ฉะนั้น การจะปรับลดจำนวนชั่วโมงการเรียนลง ก็ต้องมีแนวทางและรูปแบบที่ชัดเสียก่อนว่าจะเอาอย่างไร ลดวิชาอะไร มีวิธีการอย่างไร มีแนวทางและกระบวนการอย่างไร เอาให้ชัด โดยชี้ให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กได้เห็นภาพว่า การลดจำนวนชั่วโมงเรียนลง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของตัวเด็ก

การลดชั่วโมงเรียนที่ว่านั้น ไม่ใช่จะทำให้เวลาเรียนของเด็กลดลง แต่ลดการเรียนในชั้นเรียนเท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียน อาทิ การให้นักเรียนทำกิจกรรม ซึ่งครูต้องมีส่วนสำคัญ จะต้องช่วยเสนอแนะด้วย และต้องมีการปฎิรูปหลักสูตร ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเรียนการสอน ปฏิรูปครู และปฎิรูปโครงสร้างด้วย

จำนวนชั่วโมงมาก เด็กเรียนหนัก กับจำนวนชั่วโมงน้อย แต่การเรียนการสอนก็ยังมีปัญหา เราควรจะเลือกแบบไหน แล้วมีสิทธิเลือกไหม !

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณภาพต่างหาก !!
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น