xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลระดมทุกหน่วยบูรณาการทำงานรับมือภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐบาลบูรณาการหน่วยราชการรับมือภัยแล้ง มหาดไทยจัดงบช่วยเหลือต่อเนื่อง กรมชลฯ เตรียมน้ำรับฤดูกาลเพาะปลูก กระทรวงเกษตรฯ เล็งโปรยฝนเทียมช่วย ขณะที่กลาโหมแบ่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานในสังกัดรับผิดชอบบรรเทาภัยแล้ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาลระดมกำลังจัดจุดแจกจ่ายน้ำ

รัฐบาลบูรณาการหน่วยราชการรับมือภัยแล้ว มหาดไทยจัดงบช่วยเหลือต่อเนื่อง กรมชลฯ เตรียมน้ำรับฤดูกาลเพาะปลูก กระทรวงเกษตรฯ เล็งโปรยฝนเทียมช่วย ขณะที่กลาโหมแบ่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานในสังกัดรับผิดชอบบรรเทาภัยแล้ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระดมกำลังจัดจุดแจกจ่ายน้ำ ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (5 ก.พ.) จัดแถลงข่าวการป้องกันและรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงกลาโหม โดยนายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีการประเมินสถานการณ์ในปี 2558 จากสถิติของพื้นที่ที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) และปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปี 2558 ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าปี 2557 ประมาณ 5,432 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงคาดว่าในเดือน ก.พ. 2558 จะมีจังหวัดที่ประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างๆ ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เดือน ต.ค. 2557 - 27 ม.ค. 2558 รวมทั้งสิ้น 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ ลพบุรี มหาสารคาม สุโขทัย และนครสวรรค์ รวม 30 อําเภอ 200 ตําบล 2,091 หมู่บ้าน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำบริโภค (ประปาหมู่บ้าน) ปี 2558 จำนวน 1,700 โครงการ งบประมาณ 6,800 ล้านบาท โอนจัดสรรแล้ว 4,819 ล้านบาท และจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ปี 2558 จำนวน 649 โครงการ งบประมาณจำนวน 950 ล้านบาท โอนจัดสรรหมดแล้ว

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การวางแผนการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภคซึ่งจะต้องใช้ตลอดฤดูแล้ง แม้กระทั่งในช่วงต้นฤดูฝน ในบางครั้งฝนอาจจะมาช้าหรือขาดช่วง รวมถึงการเตรียมน้ำในฤดูกาลเพาะปลูก การเพาะปลูกต้องไม่มีความเสียหาย ถ้าบริเวณไหนที่มีปริมาณน้ำเหลือจะนำมาสนับสนุนในฤดูแล้ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ในปัจจุบัน มีน้ำใช้ 19,740 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้น้ำตามแผนวันละ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมความเค็มของน้ำตลอดฤดูแล้งในเขตพื้นที่ควบคุมบริเวณแม่น้ำทุกสายที่ไหลลงอ่าวไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน อำเภอสามพราน แม่น้ำแม่กลอง คลองดำเนินสะดวก แม่น้ำบางปะกง และอำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี

นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2557-2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนจัดสรรน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เพียงพอในฤดูแล้ง และเพียงพอต่อการเพาะปลูกไปจนถึงฤดูฝน นอกจากนี้ได้มีมาตรการป้องกัน โดยการวิเคราะห์และรายงานสถานการณ์ เพื่อประเมินความรุนแรงของผลกระทบ ทั้งในระดับจังหวัด ลุ่มน้ำ และชุมชน นำมาจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและการเกษตรกรรม และเตรียมการรับมือ

1. ชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ วิธีการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบแก่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำและนอกเขตชลประทาน 2. วางแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ และงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 3. การขุดลอกคูคลองนอกเขตชลประทาน 4. เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,900 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 295 คัน และ 5. เตรียมปฏิบัติการฝนหลวง โดยจะเริ่มในวันที่ 27 ก.พ. 58 ทั้งนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรขณะประสบภัย โดยเร่งรัดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2557-2558 เช่น การจ้างแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ มีการขับเคลื่อนโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน และสนับสนุนเงินทุนให้สหกรณ์กู้ยืมให้แก่สมาชิกที่ประสบภัยแล้ง โดยไม่คิดดอกเบี้ย วงเงิน 65 ล้านบาท

กห.ทำแอปพลิเคชันไลน์ ให้ประชาชนร่วมแก้ภัยแล้ง

พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม ได้จัดทำแผนบรรเทาสาธารณภัย โดยแบ่งมอบความรับผิดชอบให้แก่หน่วยขึ้นตรงจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย และแบ่งพื้นที่รับผิดชอบตามที่ตั้งหน่วย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในเชิงป้องกันและเฉพาะหน้า เช่น โครงการพลิกฟื้นผืนป่าด้วยพระบารมี การขุดลอกคูคลอง สนับสนุนการทำฝนหลวง วางเป้าหมายนำร่องเรื่องการปลูกป่า ขณะที่ในปีนี้ได้มีโครงการราษฎร์-รัฐร่วมใจช่วยภัยแล้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนประมาณ 27 ล้านลิตร สำหรับการสนับสนุนด้านอื่นๆ ได้ใช้เครือข่ายวิทยุสร้างความรู้กับประชาชนเรื่องภัยแล้ง รวมถึงรณรงค์ให้ประหยัดน้ำ มีการประสานกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปช่วยเหลือประชาชนเรื่องโรคที่เกิดขึ้นในภัยแล้ง นอกจากนี้ ได้ประสานศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้จัดทำแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งกับส่วนราชการ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อน สามารถประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยทหารในพื้นที่ได้ฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลช่วย

นายประณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมความพร้อม โดยระดมกำลังบุคลากร เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง และเตรียมจุดจ่ายน้ำถาวร และจุดจ่ายน้ำสะอาด ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือทันที่เมื่อเกิดภัยพิบัติ 2,631 แห่ง ทั่วประเทศ สำหรับงบประมาณปี 2558 เรามี 3 โครงการสำคัญ คือ 1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 305 แห่ง 2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้โรงเรียนทั่วประเทศ 323 แห่ง และ 3. โครงการพัฒนาแห่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 693 แห่ง เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบภัยแล้ง สามารถขอความช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคบริโภคได้ที่ศูนย์บริการประชาชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทร 1310 หรือศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โทรศัพท์ 0-2793-1000 ผลักดันโครงการสร้างแหล่งเก็บน้ำ

นายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สำหรับกรมทรัพยากรน้ำ ได้วางแผนการช่วยเหลือประชาชน โดยแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558 คือ 1. แผนก่อสร้างแหล่งน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง เช่น โครงการคืนคลองให้น้ำไหล คืนความใสให้แม่น้ำทั่วประเทศ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ โครงการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. แผนงานเผชิญเหตุ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนประชาชน เช่น การจัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งในส่วนกลางและสำนักทรัพยากรน้ำภาค 1-11 3. แผนงานรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งโครงการเตรียมความพร้อมระบบประปาเพื่อเผชิญปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งเหตุหรือข้อร้องเรียนได้ที่ 0-2298-6631 รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1-11 ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และศูนย์เมขลาที่ดูแลวิกฤตน้ำอยู่ในขณะนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น