xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ครบ 3 เดือนการบ้าน “บริหารจัดการน้ำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ครบ 3 เดือนพอดีที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการน้ำ ขีดเส้นไว้ให้หน่วยงานต่างๆ รายงานแผนการบริหารจัดการน้ำที่ได้จัดทำขึ้นมาใหม่

แถมคณะที่ปรึกษา อาทิ นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายอาณัติ อาภาภิรมย์ นายทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ นายชวลิต จันทรรัตน์ และคณะอนุกรรมการ 5 กลุ่ม ที่ รับผิดชอบลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รับผิดชอบลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รับผิดชอบระบบฐานข้อมูล รับผิดชอบการจัดองค์กร ข้อกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบด้านการสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อประชาชน

ได้สรุปและนำเสนอแผนงานและผลสรุปด้านต่าง ๆมายัง คณะกรรมการฯ โดยเฉพาะจาก “เวทีรับฟังสภาพปัญหาของลุ่มน้ำ”ทั่วประเทศใหม่ทั้งหมดเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นผู้ที่ได้ผลกระทบโดยตรง มีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอปัญหาอย่างแท้จริง

แถมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 57 ระหว่างที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 20 จังหวัด เพื่อติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล และเตรียมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง

นายกฯได้ย้ำถึง การบริหารจัดการน้ำ โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเข้าไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ โดยเน้นย้ำให้ทำโครงการเร่งด่วนก่อน และให้โครงการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคตอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน

ได้ฤกษ์เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการน้ำ ชงรายงานแผนการบริหารจัดการน้ำที่ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาเห็นชอบ

วันนั้น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ประธาน พล.อ.ฉัตรชัย ได้ให้หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน รายงานแผนการบริหารจัดการน้ำที่ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ยุติบทบาทของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเดิมของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งหลังจากที่รับฟังแผนงาน นายกฯและครม.หลายคนมีความเห็นร่วมกันว่าขอให้กลับไปจัดกลุ่มแผนงานบริหารจัดการน้ำใหม่ให้ชัดเจน เนื่องจากแผนที่เสนอมายังไม่กลมกล่อม โดยแผนดังกล่าวต้องให้เริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2558

“ในที่ประชุม ครม.รัฐมนตรีหลายคนรู้สึกสับสน เมื่อหน่วยงานต่างๆ รายงานเรื่องบริหารจัดการน้ำ และระบุตัวเลขงบประมาณของโครงการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังไม่ได้มีการจัดกลุ่มงานและกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขที่อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เหมือนโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่รัฐบาลเดิมกำหนดไว้ 2.2 ล้านล้านบาท แต่พูดกันไปมาจนกลายเป็นรัฐบาลนี้จะทำใหม่วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท จึงให้ไปจัดกลุ่มงานแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, การกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงที่เกิดภัยแล้ง, มาตรการป้องกันน้ำท่วม, การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อความง่ายที่จะอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจ เพราะถ้าไม่เข้าใจประชาชนก็จะมองแต่ตัวเลขวงเงินงบประมาณที่ใช้แล้ววิพากษ์วิจารณ์”

ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเดิมที่จัดประมูล 9 โมดูลนั้น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณให้ความเห็นใน ครม.ว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วยังไม่มีผลผูกพัน เพราะยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญากับบริษัทเอกชน ทุกอย่างที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้จึงสามารถยกเลิกได้หมด ที่ประชุม ครม.จึงเห็นร่วมกันว่าให้ยกเลิกที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด แต่ในส่วนของวงเงินกู้ 350,000 ล้านบาท ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 นั้น แม้บางส่วนจะใช้ไปแล้ว แต่ในส่วนที่เหลือยังให้คงไว้เพื่อรอดูแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ว่ามีความสอดคล้องที่จะใช้วงเงินในส่วนนี้หรือไม่ หากมีส่วนใดที่ใช้วงเงินดังกล่าวได้ก็จะใช้ส่วนนี้ แต่จะเน้นการใช้งบประมาณรายปีเป็นหลักก่อน ขณะที่บริษัทที่เคยชนะการประมูลในแต่ละโมดูลตามโครงการเดิม ก็ยังมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการที่จะจัดทำใหม่นี้อยู่ หากมีความสอดคล้องกับแผนงานฉบับใหม่

วันรุ่งขึ้นสื่อพาดหัวข่าวใหญ่ “ล้มประมูล 9 โมดูล "ยิ่งลักษณ์" ครม.สั่ง "ฉัตรชัย" จัดทำ "แผนน้ำฉบับใหม่" ให้ชัด

ทำเอา พล.อ.ฉัตรชัย ต้องออกมาให้ความเห็นว่า ครม. ไม่ได้เป็นการขอความเห็นชอบ หรือสั่งให้ปรับปรุงแผนบริหารจัดการน้ำ แต่เป็นการเสนอให้ทราบว่าแผนงานจะมีอะไร โดยกำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปี ครอบคลุม 5 ด้าน คือ ภัยแล้ง น้ำท่วม น้ำเพื่อการบริโภค เก็บข้อมูล และป่าต้นน้ำ

ซึ่งนายกฯอยากเห็นว่าในปีแรกจะทำอะไรได้บ้างให้เร็วกว่ากำหนดปี 2561 เพราะต้องทำประชาพิจารณ์และศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ต้องใช้เวลาเป็นปี รวมถึงได้กำหนดทำเป็นแผนระยะยาว 10 ปี ต้องใช้งบประมาณมากกว่าแผนบริหารจัดการน้ำเดิม 3.5 แสนล้านบาท ที่มุ่งเน้นเรื่องป้องกันน้ำท่วมเท่านั้น จึงต้องไปกำหนดว่าจะใช้งบประมาณต่อปีและแต่ละโครงการอย่างไร ซึ่งในส่วนของปี 2558 ก็ใช้งบประมาณที่มีไปก่อน

"เรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคให้เพียงพอทั้งประเทศ ในแผนระบุปี 2561 นั้น นายกฯเห็นว่ายาวไป จะเร่งรัดให้เสร็จในปี 2558 ได้หรือเปล่า จึงต้องนำลงรายละเอียดและนำเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้" พล.อ.ฉัตรชัยระบุเอาไว้

แถมตลอดทั้งวันนั้น มีการแชร์ข้อมูลในโลกโซเชียลในหมู่นักลงทุน

“ข่าวยกเลิกโครงการเป็นปัจจัยลบทางจิตวิทยาในการเก็งกำไรหุ้น ITD”หรือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรืออิตัลไทย หนึ่งในผู้ชนะการประกวดราคาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

“สำหรับการประมูลโครงการจัดการน้ำ ITD ประมูลในนาม ITD-Power China ได้คะแนนสูงสุดโมดูล A1 A2 A4 B1 และ B3 วงเงินรวม 1.1 แสนล้านบาท และคิดมูลค่างานเฉพาะส่วนของ ITD ที่ 5.34 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทยังไม่ได้รวมใน Backlog ที่มีอยู่ ณ สิ้น 3Q14 ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท” 

ส่วน ผู้บริหารอิตัลไทย ก็ เชื่อว่าแผนบริหารจัดการน้ำแบบใหม่ที่หน่วยงานรัฐอยู่ระหว่างดำเนินการ จะมีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทอยู่บ้าง แต่อาจไม่เหมือนเดิมทั้งหมด และแม้รัฐบาลจะคิดโครงการใหม่ บริษัทยังยินดีจะเข้าร่วมโครงการเช่นเดิม

กลับมาที่การประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ก่อน 2 ธ.ค.57 ภายหลังการประชุมที่ให้ความสำคัญกับโครงการแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ มากกว่าการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท 9 โมดูลไปแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาบอกว่า รัฐบาลกำลังเร่งหางบประมาณมาทำแผนบริหารจัดการน้ำเร่งด่วนปี2558 “หนึ่งแสนล้าน” โดยจะดูพื้นที่ ที่ผ่านประชาพิจารณ์ก่อน เป็นอันดับต้นๆ 

“โครงการแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท แต่ในขั้นแรกจำเป็นต้องใช้งบประมาณแสนกว่าล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ไว้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท ยังขาดอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท จึงต้องมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาว่าจะจัดหางบประมาณจากส่วนใดมาใช้ในโครงการ การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลจะดูแลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค การเข้าถึงน้ำประปาของแหล่งชุมชน และจัดสรรสำหรับพื้นที่ที่ทำการเกษตร

ส่วนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท 9 โมดูล ของรัฐบาลที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังฟังชัดว่า “เลิกพูดแล้ว”

ตรงนี้ก็น่าจะหมายความว่า “ล้มประมูล 9 โมดูล "ยิ่งลักษณ์"แล้ว!!

หากย้อนกลับไปแผนงานของ “กรมชลประทาน”กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพบว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศยกเลิกแผนบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศของรัฐบาลชุดที่แล้วที่เน้นการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ วงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท และมีการตั้งสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ขึ้นมาดูแลทั้งงบประมาณและโครงการ แต่คสช.ให้หน่วยงานราชการดูแลเช่นเดิมและลงทุนโดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี

ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดการลงทุน โดยประชาชนจะได้ประโยชน์โดยตรงและเกิดการจ้างงาน ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (แอ็คชั่นแพลน) บริหารจัดการน้ำของประเทศให้เป็นเอกภาพในทุกมิติ ภายใต้งบปี 2558 วงเงินประมาณ 45,972.75 ล้านบาท

“อยู่ระหว่างการเสนอสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นชอบ"

เป็นแผนปฏิบัติการภายใต้การดำเนินการของ 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมฝนหลวง ภายใต้งบประมาณของกรมชลประทาน 44,972.75 ล้านบาท งบประมาณเพื่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานของกรมพัฒนาที่ดิน ภายใต้งบประมาณ 972.86 ล้านบาท และ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวงภายใต้งบประมาณ 1,563.43 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) เพื่อเพิ่มลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ และเพิ่มขึ้นที่ชลประทาน รมถึงการซ่อมบำรุง-ปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีโครงการขุดบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5หมื่นแห่ง

ล่าสุด กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ไฟเขียวจากนายกรัฐมนตรี ศึกษา “โครงการผันแม่น้ำโขง”แก้ไขปัญหาแล้งและปัญหาน้ำใต้ดินเค็มในพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะยาว ก่อนที่หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์  เห็นด้วยกับแผนงานเบื้องต้น ที่จะนำเสนอเป็นแผนระยะ 10 ปี แต่ยังไม่ระบุวงเงินงบประมาณ

มีการรายงานต่อที่ประชุมว่าโครงการนี้จะสามารถผันน้ำเข้าสู่ภาคอีสานได้ประมาณ 40,000 ล้านลบ.ม./ปี เพียงพอสำหรับพื้นที่เกษตร 30 ล้านไร่ แต่เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ จะต้องมีขั้นตอนเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้รับทราบการดำเนินโครงการของไทย

ให้ไปศึกษาการผันน้ำเข้าสู่ภาคอีสาน ซึ่งต้องไม่ไปซ้ำกับกับแผนโครงการผันน้ำด้วยการสร้างท่อขนาดยักษ์พาดผ่านภาคอีสาน ของรัฐบาลก่อนๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น