xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องจัดการน้ำ 3.5แสนล้าน อ้างแค่คิดยังไม่บังคับใช้ แนะฟ้องรายโครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องคดีจัดการทรัพยากรน้ำยุค "ยิ่งลักษณ์" 3.5 แสนล้าน อ้างเป็นแค่แผนงาน กรอบความคิด ยังไม่มีผลบังคับใช้ โยนผู้เสียหายถ้าให้ฟ้องเป็นรายโครงการ บอกเอกชนทำประชาพิจารณ์เองไม่ทำให้กระบวนการไม่น่าเชื่อถือ ชี้ประมูลเบ็ดเสร็จรัฐทำได้ ส่วน ม.157 ก็นอกอำนาจศาล ด้าน "ศรีสุวรรณ" เสียใจ พร้อมติง "ฉัตรชัย" ฟังความเห็นชาวบ้านในโครงการจัดการน้ำครั้งใหม่ด้วย ลั่นกัดไม่ปล่อยไม่ว่าหน้าไหน



วันนี้ (31 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ยกฟ้องในคดีที่ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 45 คน ฟ้อง นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการนโยบายน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 4 กับ ในการออกแผนแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท 9 แผนงาน

โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากยังเป็นเพียงแผนงานที่จะทำในอนาคต หลายโครงการยังเป็นเพียงกรอบความคิด ที่ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่มีผลบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม และยังไม่มีลักษณะเป็นการวาง หรือจัดทำให้เป็นไปตามผังเมืองรวม หรือเป็นการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ไม่ใช่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน จึงไม่มีลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 มาตรา 57 วรรค 2 และ มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้รัฐต้องจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนดำเนินโครงการแต่อย่างใด และแม้จะเล็งเห็นได้ในเบื้องต้นว่า หากมีการกำหนดโครงการหรือกิจกรรมตามที่ระบุไว้ในแผนแม่บทฯได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน บางโครงการบางกิจกรรม น่าจะมีผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งถ้าหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นเรื่องที่ผู้เดือดร้อนเสียหายจะไปฟ้องศาลให้เพิกถอนเป็นรายโครงการไป

ส่วนที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานรัฐให้คู่สัญญาเป็นผู้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน อาจมีการเบี่ยงเบนผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ศาลเห็นว่า การให้เอกชนดำเนินการดังกล่าวย่อมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว หากมีข้อบกพร่อง ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล ก็ต้องให้เอกชนกลับไปทำให้ครบถ้วน จึงจะเซ็นตรวจรับงานและเบิกจ่ายค่าจ้างทำงาน ดังนั้นการให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นเหตุชวนให้เกิดความลังเลสงสัยว่าผลการศึกษาและการจัดให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่น่าเชื่อถือ

สำหรับที่ฟ้องว่ารัฐใช้วิธีการประมูลในลักษณะเหมาเบ็ดเสร็จ คือผู้รับจ้างผู้ประมูลได้ต้องรับโครงการไปจัดการทั้งระบบ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การที่รัฐกำหนดจะใช้วิธีการใดในการดำเนินโครงการ เป็นดุลพินิจภายในโดยแท้ของฝ่ายบริหาร และไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใด ก็ไม่เป็นเหตุให้แผนบริหารจัดการน้ำไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ขณะที่ประเด็นที่อ้างว่าการดำเนินโครงการของรัฐในเรื่องนี้ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 และส่อทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. นั้น ศาลเห็นว่า เป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของศาล และไม่ได้มีการฟ้องตั้งแต่ในศาลชั้นต้น จึงไม่รับพิจารณาในประเด็นนี้

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยอมรับว่าเสียใจกับผลคำพิพากษาที่ออกมา แต่ภาคประชาชนยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการและนโยบายของรัฐ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนต่อไป โดยแม้โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะถูกยกเลิกไปแล้ว โดยรัฐบาลปัจจุบัน แต่รัฐบาล โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบ ก็ได้มีการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสีย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำเช่นกัน โดยขณะนี้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว แต่ไม่ครบทุกจังหวัด ทางสมาคมจึงทำหนังสือท้วงติงไปถึง พล.อ.ฉัตรชัย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งข้อพิพาทของสมาคมแล้ว หากไม่มีการดำเนินการ สมาคมก็จะฟ้องร้องต่อศาล

“คำพิพากษาศาลที่ออกมาในวันนี้ มีการวางแนวปฏิบัติหลายเรื่อง ซึ่งถือว่าทำให้ภาคประชาชน ต้องเหนื่อยมากขึ้น และศาลก็อาจต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะต่อไปหากเป็นเรื่องของแผนงานโครงการที่จะมีการดำเนินโครงการ การมาฟ้องศาลก็อาจมองว่าเรื่องยังไม่เกิด ชาวบ้านต้องรอให้ตนเองเดือดร้อนจากโครงการก่อน แล้วมาฟ้อง ซึ่งก็ต้องติดตามเป็นรายโครงการ ขณะเดียวกันศาลก็ต้องรับฟ้องเป็นรายโครงการ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ แต่ภาคประชาชนจะติดตามและกัดไม่ปล่อย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน หากทำให้ประชาชนเดือดร้อน”นายศรีสุวรรณ กล่าว









กำลังโหลดความคิดเห็น