xs
xsm
sm
md
lg

เผยร่างยุทธศาสตร์จัดการน้ำใกล้เสร็จ คาดอีก 2 สัปดาห์เข้า ครม.แจงครอบคลุมทุกกลุ่มน้ำ-กู้น้อยกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ (ภาพจากแฟ้ม)
คสช. เผยร่างยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเกือบสมบูรณ์ 100% คาด 2 สัปดาห์เข้าที่ประชุม ครม. แจงแตกต่างจากแผนของรัฐบาลชุดที่แล้ว 3.5 แสนล้าน ระบุครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ ขั้นตอนละเอียดกว่า ไม่ได้กู้แบบทั้งก้อน ตั้งเป้าปี 2560 ต้องมีน้ำกินน้ำใช้ทุกหมู่บ้าน พร้อมเห็นชอบยุทธศาสตร์เชิงรุก แก้น้ำประปา น้ำแล้ง น้ำท่วม จัดการคุณภาพน้ำ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 17.00 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองผู้บัญชาการทหารบก และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า ร่างยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเกือบสมบูรณ์ 100% ยังต้องปรับแก้อีกเล็กน้อย คงใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยระยะที่ 1 อาจจะใช้งบประมาณที่จะได้รับประจำปีของแต่ละหน่วยงานเพื่อจัดทำเป็นงานเร่งด่วน และมุ่มหวังในการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคและบริโภค และน้ำในภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักที่จะทำในยุทธศาสตร์ขั้นต้น

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ความแตกต่างระหว่างโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลชุดที่แล้ว กับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนี้ ข้อที่ 1 แผนของรัฐบาลที่แล้วจะเน้นการป้องกันน้ำท่วม แต่รัฐบาลชุดนี้มีความคลอบคลุมทุกลุ่มน้ำ ตลอดจนมีแผนงานครบ 6 มิติด้วยกัน คือ น้ำอุปโภค บริโภค ภาคการเกษตร การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำรวมถึงการบริหารจัดการ ข้อที่ 2 คือการจัดทำแผนงานและโครงการ โดยโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทจะคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้าย และมอบหมายให้บริษัทที่ได้รับงานดำเนินการเองทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และเข้าสู่กระบวนการทั้งหมดแบบเหมาเข่งรวม 5 ปี แต่รัฐบาลนี้จะดำเนินการตามขั้นตอนที่สำคัญ คือ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การสำรวจออกแบบ รับฟังความเห็นทำประชาพิจารณ์ และถึงขั้นทำรายละเอียดของโครงการในการออกแบบ และได้แบบแปลนก่อสร้าง จากนั้นจะหาหน่วยงานหรือบริษัทเข้ามาดำเนินการจึงจะเห็นความแตกต่าง

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณปี 2558 - 2559 จะอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาผลกระทบ โดยการใช้จ่ายงบประมาณนั้น ปี 2557 ทาง คสช. ได้นำเงินจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขปัญหาระยะแรกของยุทธศาสตร์ มีวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ดำเนินการ 5,218 โครงการ ดำเนินการเสร็จแล้ว 4,163 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการ 155 โครงการ จากเดิมในงบประมาณปี 2558 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 6 หมื่นล้านบาททุกปี และในปี 2559 นี้ยังใช้แนวทางเดิมคือนำเงินก้อนนี้มารวมกัน เพื่อจัดทำโครงการ 10,848 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ จะมี 111 โครงการที่จะเริ่มเดือน เม.ย. นี้ แบ่งงานเป็นสองประเภท คือ การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซ่อมและก่อสร้าง

นอกจากนั้น ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมของปี 2558 โดใช้งบกลาง 9,697 ล้านบาท และอนุมัติเงินกู้ให้อีก 36,700 ล้านบาท โดยงบกลาง และเงินกู้นี้จะนำมาใช้ดำเนินโครงการเพิ่มเติมอีก 3,000 โครงการ สำหรับปัญหาเรื่องน้ำที่ต้องแก้ไขน้ำบริโภค อุปโภค โดยตั้งเป้าไว้ในปี 2560 ต้องมีน้ำกินน้ำใช้ทุกหมู่บ้าน ทั้งนี้ ถ้าดูในเรื่องของวงเงินกู้ ในแผนเดิม 3.5 แสนล้านบาท จะต้องกู้ทั้งหมด แต่ของรัฐบาลชุดนี้ยังกู้เพียง 3 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นต้องศึกษา ออกแบบ ทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นในปี 2558 ต่อไป และสามารถทำโครงการขนาดใหญ่ได้ในปี 2560 ส่วนวงเงินที่จะใช้ตามแผน 10 ปีนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยวงเงินได้ ต้องรอการออกแบบ วางแผน ประชาพิจารณ์เรียบร้อยก่อน ถึงจะสามารถบอกวงเงินได้ และเมื่อตีราคากลางได้แล้ว ถึงจะเปิดโอกาสให้บริษัทเข้ามาดำเนินการได้

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า คณะกรรมการเห็นชอบยุทธศาสตร์ใน 6 ด้านที่เน้นการทำงานเชิงรุก ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำ พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำประปา เน้นการมีส่วนร่วมในพื้นที่ของทุกฝ่าย 2. การสร้างความมั่นคงทั้งในด้านการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยภาคเกษตรแบ่งพื้นที่เป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่ชลประทาน 30.2 ล้านไร่ เป็นการเพิ่มเติมและปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการที่มีอยู่เดิม การปรับปรุงระบบการปลูกพืชที่ประหยัดน้ำ และปรับปรุงระบบเก็บกักน้ำในพื้นที่ที่เป็นปัญหา นอกจากนั้น ยังมีการประเมินพื้นที่เกษตรที่ยังมีศักยภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำเพิ่มขึ้นอีก 13 ล้านไร่

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า 3. ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยได้กำหนดพื้นที่อย่างชัดเจนว่ามีพื้นที่ใดที่มีปัญหา เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำยม บริเวณจังหวัดสุโขทัย อ.หาดใหญ่ และ จ.นครศรีธรรมราช สำหรับกลยุทธ์ในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ได้มีการจำกัดเรื่องการบุกรุกพื้นที่ที่เข้าไปอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนการฟื้นฟูทางน้ำในพื้นที่รอบโบราณสถานในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ เน้นในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเสีย และน้ำเค็มของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีการเฝ้าระวังปัญหาน้ำเค็มในจำนวน 8 ลุ่มน้ำ ตลอดจนปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม 9 ลุ่มน้ำที่มีการกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจนและมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ คือ การลดน้ำเสียในแหล่งกำเนิดโดยการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียและใช้น้ำดีผลักดันน้ำเค็มที่กำหนดจุดควบคุมเอาไว้ ซึ่งน้ำเหล่านี้มีการจัดสรร 2.7 พันล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นน้ำต้นทุน ที่สามารถประหยัดและใช้ในกิจกรรมอื่นได้หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวต่อไปว่า 5. ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม และการป้องกันการพังทลายของดินที่สอดคล้องกับแผนแม่บทป่าไม้ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กันในระยะ10 ปีข้างหน้า 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความสำคัญในการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ สร้างจิตสำนึก และต้องการความร่วมมือของทุกฝ่ายในการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วย เน้น 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ 1. การจัดทำระบบฐานข้อมูลโดยให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนการแจ้งเตือนข่าวสารให้พื้นที่ 2 .การกำหนดองค์กรในการบริหารจัดการน้ำที่ให้ความสำคัญของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งมีความสำคัญกับสำนักงานเลขานุการ เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และให้ความรู้กับชุมชน 3. การสร้างความเข้าใจกับคนในลุ่มน้ำให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดกรอบไว้กว้างๆ คือ จำนวนหมู่บ้านที่จะมีการใช้น้ำให้ครบถ้วนทุกแห่ง ตลอดจนพื้นที่เกษตรและกำหนดพื้นที่ที่จะต้องดำรงรักษาไว้ เช่นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ คณะรัฐมนตรีประกาศไว้ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.สะเดา จ.สงขลา รวมถึง จ.ตราด เพราะฉะนั้น น้ำที่จะต้องเข้าไปสนับสนุนพื้นที่เหล่านี้ ทางคณะกรรมการจะดูว่าจะมีการพัฒนาอย่างไรบ้าง โดยให้ความสำคัญในเรื่องการจัดเตรียมน้ำไว้ในอนาคต ซึ่งเป็นการสร้างความคิดและกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เบื้องต้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับลุ่มน้ำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแผนดังกล่าวจะใช้เป็นกรอบที่จะใช้ทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งตรงนั้นจะมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยต้องชัดเจนในช่วงแผนระยะกลาง หลังปี 2560 เป็นต้นไป

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการบริหารจัดการน้ำนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์นี้ระบุว่า ต้องมีพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้น 18.8 ล้านไร่ ส่วนการกระจายโครงการขนาดใหญ่ กลาง ลงไปพื้นที่และจังหวัดใดนั้น จะนำปัญหาพื้นที่เป็นที่ตั้งที่เกิดน้ำท่วม เช่น พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งมีน้ำส่วนเกินอยู่ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเรากำลังเร่งศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยการนำฐานปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 เป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ ยังมีปัญหารับน้ำนอง หรือ ระบบระบางน้ำ ตลอดจนแหล่งเก็บน้ำ การบริหารจัดการน้ำหลากที่ลงในพื้นที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามาตรการใดดำเนินการได้


กำลังโหลดความคิดเห็น