xs
xsm
sm
md
lg

"ฉัตรชัย"เปิดเผนจัดการน้ำ10ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (19มี.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ แถลงภายหลังการประชุมว่า ร่างยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเกือบสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องปรับแก้อีกเล็กน้อย คงใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยระยะที่ 1 อาจจะใช้งบประมาณที่จะได้รับประจำปีของแต่ละหน่วยงานเพื่อจัดทำเป็นงานเร่งด่วน และมุ่มหวังในการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคและบริโภค และน้ำในภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นเรื่องหลัก ที่จะทำในยุทธศาสตร์ขั้นต้น
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า มีความแตกต่างระหว่างโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลชุดที่แล้วกับ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนี้ ข้อที่ 1 แผนของรัฐบาลที่แล้วจะเน้นการป้องกันน้ำท่วม แต่รัฐบาลชุดนี้มีความคลอบคลุมทุกลุ่มน้ำตลอดจนมีแผนงานครบ 6 มิติด้วยกันคือ น้ำอุปโภค บริโภค ภาคการเกษตร การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการ ข้อที่ 2 คือ การจัดทำแผนงานและโครงการ โดยโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้าย และมอบหมายให้บริษัทที่ได้รับงานดำเนินการเอง ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และเข้าสู่กระบวนการทั้งหมดแบบเหมาเข่งรวม 5 ปี แต่รัฐบาลนี้จะดำเนินการตามขั้นตอนที่สำคัญ คือ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การสำรวจออกแบบ รับฟังความเห็นทำประชาพิจารณ์ และถึงขั้นทำรายละเอียดของโครงการในการออกแบบและได้แบบแปลนก่อสร้าง จากนั้นจะหาหน่วยงานหรือบริษัท เข้ามาดำเนินการจึงจะเห็นความแตกต่าง
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณปี 2558-2559 จะอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาผลกระทบ โดยการใช้จ่ายงบประมาณนั้น ปี 2557 ทาง คสช.ได้นำเงินจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขปัญหาระยะแรกของยุทธศาสตร์ มีวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ดำเนินการ 5,218 โครงการ ดำเนินการเสร็จแล้ว 4,163 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการ 155 โครงการ จากเดิมในงบฯ ปี 58 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 6 หมื่นล้านบาททุกปี และในปี 59 นี้ ยังใช้แนวทางเดิม คือ นำเงินก้อนนี้มารวมกัน เพื่อจัดทำโครงการ 10,848 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ จะมี 111 โครงการ ที่จะเริ่มเดือนเม.ย.นี้ แบ่งงานเป็น 2 ประเภท คือ การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซ่อมและก่อสร้าง นอกจากนั้น ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ เพิ่มเติมของปี 2558 โดยใช้งบกลาง 9,697 ล้านบาท และอนุมัติเงินกู้ให้อีก 36,700 ล้านบาท โดยงบกลาง และเงินกู้นี้จะนำมาใช้ดำเนินโครงการเพิ่มเติมอีก 3,000 โครงการ สำหรับปัญหาเรื่องน้ำที่ต้องแก้ไขน้ำบริโภค อุปโภค โดยตั้งเป้าไว้ในปี 60 ต้องมีน้ำกินน้ำใช้ทุกหมู่บ้าน
ทั้งนี้ ถ้าดูในเรื่องของวงเงินกู้ ในแผนเดิม 3.5 แสนล้านบาท จะต้องกู้ทั้งหมด แต่ของรัฐบาลชุดนี้ยังกู้เพียง 3 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการขนาดใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นต้องศึกษา ออกแบบ ทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในปี 58 ต่อไป และสามารถทำโครงการขนาดใหญ่ได้ในปี 2560
ส่วนวงเงินที่จะใช้ตามแผน 10 ปีนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยวงเงินได้ ต้องรอการออกแบบ วางแผน ประชาพิจารณ์ เรียบร้อยก่อนถึงจะสามารถบอกวงเงินได้ และเมื่อตีราคากลางได้แล้ว ถึงจะเปิดโอกาสให้บริษัทเข้ามาดำเนินการได้
ด้านนาย สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า คณะกรรมการฯเห็นชอบยุทธศาสตร์ใน 6 ด้าน ที่เน้นการทำงานเชิงรุก ได้แก่
1. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำ พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำประปา เน้นการมีส่วนร่วมในพื้นที่ของทุกฝ่าย
2. การสร้างความมั่นคงทั้งในด้านการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยภาคเกษตรแบ่งพื้นที่เป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่ชลประทาน 30.2 ล้านไร่ เป็นการเพิ่มเติมและปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการที่มีอยู่เดิม การปรับปรุงระบบการปลูกพืชที่ประหยัดน้ำ และปรับปรุงระบบเก็บกักน้ำในพื้นที่ที่เป็นปัญหา นอกจากนั้น ยังมีการประเมินพื้นที่เกษตรที่ยังมีศักยภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำเพิ่มขึ้นอีก 13 ล้านไร่
3. ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยได้กำหนดพื้นที่อย่างชัดเจนว่า มีพื้นที่ใดที่มีปัญหา เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่ม
น้ำยม บริเวณ จ.สุโขทัย อ.หาดใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช สำหรับกลยุทธ์ในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ได้มีการจำกัดเรื่องการบุกรุกพื้นที่ที่เข้า
ไปอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนการฟื้นฟูทางน้ำในพื้นที่รอบโบราณสถานในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ เน้นในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเสีย และน้ำเค็มของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีการเฝ้าระวังปัญหาน้ำเค็มในจำนวน 8 ลุ่มน้ำ ตลอดจนปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม 9 ลุ่มน้ำ ที่มีการกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจน
5. ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม และการป้องกันการพังทลายของดิน ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทป่าไม้ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันในระยะ10 ปีข้างหน้า
6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญในการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ สร้างจิตสำนึก และต้องการความร่วมมือของทุกฝ่ายในการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วย เน้น 3 ส่วนใหญ่ได้แก่ 1. การจัดทำระบบฐานข้อมูลโดยให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนการแจ้งเตือนข่าวสารให้พื้นที่ 2 .การกำหนดองค์กรในการบริหารจัดการน้ำที่ให้ความสำคัญของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งมีความสำคัญกับสำนักงานเลขานุการ เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และให้ความรู้กับชุมชน 3. การสร้างความเข้าใจกับคนในลุ่มน้ำให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดกรอบไว้กว้างๆ คือ จำนวนหมู่บ้านที่จะมีการใช้น้ำให้ครบถ้วนทุกแห่ง ตลอดจนพื้นที่เกษตรและกำหนดพื้นที่ที่จะต้องดำรงรักษาไว้ เช่นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ คณะรัฐมนตรีประกาศไว้ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.สะเดา จ.สงขลา รวมถึง จ.ตราด เพราะฉะนั้น น้ำที่จะต้องเข้าไปสนับสนุนพื้นที่เหล่านี้ ทางคณะกรรมการจะดูว่าจะมีการพัฒนาอย่างไรบ้าง โดยให้ความสำคัญในเรื่องการจัดเตรียมน้ำไว้ในอนาคต ซึ่งเป็นการสร้างความคิดและกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เบื้องต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น