ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจาก “วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วทส.)” ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนาวิชาการเพื่อพูดคุย ระดมความคิดต่อแนวทางการผลักดันพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ...ขึ้นมา ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง
ตามที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 85/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแม้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย เมื่อปี 2554 มีความพยายามในการร่างกฎหมายแม่บท ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ขึ้นมาในปี 2555-2556 รัฐบาลพยายามให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอกฎหมาย มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ฉบับปัจจุบันนี้เข้าไป
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 ได้มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำปัจจุบัน ที่มีการปรับปรุงแก้ไขทบทวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรียบร้อย โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….”ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
มีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ดังนี้
1. กำหนดให้รัฐมีอำนาจพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยเปลี่ยนรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำ
2. กำหนดให้บุคคลมีสิทธิใช้น้ำได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน หรือเก็บกักน้ำได้เท่าที่ไม่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กนช.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง ปลัดกระทรวงและอธิบดี ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคเอกชน เป็นกรรมการ โดยให้ กนช. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่กำหนด และให้กรมทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ กนช.
4. กำหนดให้การกำหนดลุ่มน้ำให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้ กนช. แต่งตั้ง “คณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำ” ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำนั้น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
5. กำหนดให้บุคคลซึ่งใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงและอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันมีสิทธิรวมตัวก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อประโยชน์ในการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
6. กำหนดให้การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1 เพื่อการดำรงชีพฯ ประเภทที่ 2 เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมฯ ประเภทที่ 3 เพื่อกิจการขนาดใหญ่ฯ และให้การอนุญาตการใช้น้ำเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด
7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งเกี่ยวกับการประกาศกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งหรือภาวะน้ำแล้งฉุกเฉิน การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขภาวะดังกล่าว เป็นต้น
8. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม การจัดทำระบบเตือนภัย และกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขภาวะดังกล่าว เป็นต้น
9. กำหนดให้มีการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยการกำหนดให้แหล่งต้นน้ำลำธารเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อการอนุรักษ์ การคุ้มครอง หรือพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ การห้ามทิ้ง หรือระบายสิ่งใด ๆ ที่ส่งผลเสียต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ
10. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้ามีอำนาจในการควบคุมและการตรวจตราทรัพยากรน้ำ และกำหนดความรับผิดทางอาญาและความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ
เมื่อมาเปรียบเทียบกับเนื้อหลักร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 3 ฉบับของ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ทั้ง 3 ร่าง จาก กรมทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร (แฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์) http://www.facebook.com/tcijthai (ตามภาพตาราง)
คราวนี้ มาอ่านบทสัมภาษณ์ของฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ เช่น “นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ” อธิบดีกรมชลประทาน ที่ออกมาพูดถึงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 9.8 แสนล้านบาท ซึ่งกล่าวหาว่า กรมชลฯพยายามทำงบให้สูงเกินจริงทั้งที่เป็นโครงการเก่านำมาปัดฝุ่นใหม่ เท่านั้น
“ตนยืนยันว่า เป็นแผนวางไว้เป็นยุทธศาสตร์น้ำในระยะ 10 ปี กำหนดยุทธศาสตร์เดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ที่เน้นการแก้ไขปัญหาครบทุกมติ ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาต้องเดินตามนี้ ซึ่งโดยปกติใช้งบพัฒนาพื้นที่ชลประทานปีละ 6 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว หากแผน 10 ปีเป็นเงิน 6 แสนล้านบาท เมื่อเพิ่มอีก 3 แสนล้านบาท จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 18 .8 ล้านไร่ พร้อมกับปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการเดิม ในพื้นที่ชลประทาน 29.8 ล้านไร่ จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 5 พันกว่าล้านลบ.ม.”
ในแผนน้ำแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วนการใช้น้ำกระจายไปตามภูมิภาค โดยแยกเป็น แผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำจะใช้งบในวงเงิน 23,001 ล้านบาท แผนการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้วงเงิน 657,871 ล้านบาท แผนการแก้ปัญหาอุทกภัย วงเงิน 215,204 ล้านบาท แผนการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำใช้งบในวงเงิน 58,403 ล้านบาท และแผนการระบบบริหารจัดการน้ำวงเงิน 30,037 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างจากแผนบูรณาการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่ผ่านมาที่เน้นแก้ปัญหาอุทกภัยเพียงมติเดียว และใช้วงเงินถึง 3 แสนล้านบาท โดยงบกระจุกตัวเฉพาะแก้ปัญหาอุทกภัยในระบบชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งมีโครงการกระจายไปยังภาคอื่น ๆ เพียง 5 หมื่นกว่าล้านบาท และยังไม่มีผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมาก่อน
จะเดินหน้าโครงการน้ำสำคัญ ๆในปี2560 เมื่อภาครัฐดำเนินการแล้วเสร็จนำแบบก่อสร้างไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมกับไปดูพื้นที่ เวนคืนที่ดิน จึงออกมาเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะแก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้น้ำเพื่อการเกษตร ในสามปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นผลชัดเจน ถามว่า การบริหารจัดการน้ำต้องมานั่งแก้ปัญหารายวันหรือไม่ถ้ามีการจัดการเทคนิคและการบริหารที่ดีควบคู่กับการเดินตามแผนที่ชัดเจน ให้แผนเดินไปตามนี้ไม่สะดุดจะได้ระบบน้ำที่สมบูรณ์ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ
"ผมไม่อยากให้พูดว่าเอาโครงการเดิมมาปัดฝุ่น แต่มันมีไม่กี่โครงการ ที่แก้เรื่องอุทกภัย เรื่องขาดแคลนน้ำ สร้างอ่างเก็บ ทำแนวทางผันน้ำ แก้มลิง แต่พอจะทำก็ว่าแพง แต่ตอนนี้พอถึงหน้าฝนก็วิตกกลัวน้ำจะท่วม น้ำแล้งกลัวน้ำเค็มลุกล้ำประปา "
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการแก้ปัญหาลุ่มน้ำยม ต้องเดินหน้าแน่นอนไม่ว่าเขื่อนใหญ่หรือขนาดกลางต้องมี จะเห็นในขณะนี้สภาพแม่น้ำยม แห้งแล้งลงไปเตะบอลได้ ไม่ทราบทนดูกันได้อย่างไร เวลาท่วมเกิดความเสียหายมากมายทุกปี ตนไปรวบรวมตัวเลขมา การสร้างเขื่อนมาร้อยกว่าปี สูญเสียป่าไป 5 แสนไร่ แต่ทุกวันนี้สูญเสียป่าปีละ 10-20 ล้านไร่ ประเทศชาติได้อะไรที่เกิดผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่หรือไม่ แต่คนในขบวนการโค่นป่า ไม่เกิน 100 คน ได้ประโยชน์ แต่ไม่เคยมีขบวนการต่อต้านคนตัดไม้คนโค่นป่า แต่มีขบวนการต้านเขื่อน ตนมองว่า การพัฒนาหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องแก้ไขปัญหาให้ผู้รับผลกระทบและชดเชยให้เหมาะสมเพราะถือเป็นผู้เสียสละให้พื้นที่สร้างเขื่อน
ล่าสุดนี้คือ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….”ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ที่จะนำเข้า สนช. ในไม่ช้านี้ รวมถึงแนวคิดของฝ่ายปฏิบัติการเฉกเช่น “กรมชลประทาน”