xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดี คพ.ฟันธงไม่หนุนตั้งโรงไฟฟ้าขยะลำปาง ชี้พื้นที่ไม่เหมาะ-มีขยะข้ามถิ่นแน่ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษแจงยิบไม่สนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะลำปาง และภาคเหนือ แม้รัฐบาลหนุนใช้ขยะทำพลังงานทดแทน แต่สภาพพื้นที่มีข้อจำกัด เฉพาะลำปางทั้งจังหวัดมีขยะมากสุด 800 ตัน/วัน หากสร้างจริงมีขนขยะข้ามถิ่นแน่ แถมคนลำปางเจอประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน พูดเรื่องโรงไฟฟ้ามีแต่ทำแตกแยกอีก

นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนกรณีที่มีชาวบ้านกว่า 8 หมู่บ้านเขต ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง และ ต.หนองหล่ม อ.ห้างฉัตร ออกมาต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน ว่า การจัดการ “ขยะ” ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทางกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถึงการบริหารจัดการขยะให้เป็นระบบ โดยมีการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนลงทุนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะเพื่อทำเป็นพลังงานทดแทนไปหลายแห่ง แต่จนถึงขณะนี้พบว่าทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าที่รัฐให้การสนับสนุนถึง 10 แห่งที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ยินยอม และบางแห่งก็ยังเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่

ส่วน จ.ลำปาง ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการและทำแผนแม่บทเกี่ยวกับการจัดการขยะของจังหวัดแล้ว โดยแบ่งการจัดเก็บขยะออกเป็น 3 โซน คือ โซนเหนือ โซนกลาง โซนใต้ ซึ่งปริมาณขยะมากที่สุดนั้นจะอยู่ที่โซนกลาง คือเขต อ.เมือง อ.แม่เมาะ อ.เสริมงาม อ.เกาะคา อ.แม่ทะ

ขณะที่บ่อขยะในลำปางที่ถือว่าถูกต้องมีแห่งเดียวคือ ศูนย์กำจัดขยะบ้านกล้วยแพะ จะกำจัดขยะของเทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ประมาณ 100-120 ตัน/วัน ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ค่อยถูกสุขลักษณะเท่าไหร่คือ พื้นที่ตำบลต้นธงชัย ซึ่งก็จะมีขยะจาก อปท.ต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงมีการลักลอบขยะจากต่างถิ่นเข้ามาทิ้งในช่วงที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรฯ ได้สนับสนุนงบประมาณให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางเพื่อสร้างบ่อกำจัดขยะขนาดใหญ่ที่ ต.ต้นธงชัย และจะเปิดใช้งานภายใน 4-5 เดือนนี้ นั่นหมายความว่า เมื่อบ่อขยะที่ถูกต้องเปิดให้บริการบ่อที่ไม่ถูกสุขลักษณะแห่งอื่นๆ ก็จะต้องหยุดการดำเนินงานทั้งหมด

โดยขยะทั้งหมดก็จะต้องนำมาเข้ากำจัดที่บ่อขยะแห่งใหม่ ซึ่งก็สามารถรองรับได้อย่างเหลือเฟือคือมากกว่า 500 ตันต่อวัน ขณะที่ทั้งจังหวัดก็จะประมาณ 600-700 ตันต่อวัน และเมื่อตัดส่วนของเทศบาลนคร และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ก็จะเหลือขยะที่จะส่งเข้าบ่อขยะของ อบจ.ลำปางในช่วงแรกก็จะมีเพียงประมาณ 100 ตัน/วันเท่านั้น รวมถึงบ่อขยะของ อ.เกาะคาที่จะแปรสภาพเป็นสถานีขนถ่ายขยะแทน ซึ่งก็จะสามารถนำขยะเข้าที่บ่อบ้านกล่วยแพะ หรือบ่อขยะของ อบจ.ก็ได้

ส่วนอีกสองแห่ง ซึ่งพื้นที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย จะต้องจัดทำเฉพาะพื้นที่คือ อ.งาว และ อ.เถิน ขณะนี้ได้ให้เอกชนเข้าดำเนินการรื้อร่อนเอาเศษขยะที่ฝังกลบ ที่เรียกว่า (RDF) ส่งเข้าโรงงานปูนซีเมนต์ หรือเข้าโรงไฟฟ้า เพื่อเป็นเชื้อเพลิงได้

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชนรายนี้ไม่มีอยู่ในแผนแม่บทของจังหวัดลำปาง และทางกรมควบคุมมลพิษเองก็ไม่สนับสนุนให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะใน จ.ลำปาง ด้วยเหตุผลคือสภาพพื้นที่ของจังหวัดลำปางไม่เหมือนจังหวัดอื่น

การที่จะเอาการตั้งโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดภูเก็ตมาเปรียบเทียบทำไม่ได้ เพราะภูเก็ต ลักษณะพื้นที่เป็นเกาะ และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ท้ายเกาะ เมื่อปล่อยมลพิษขึ้นมาลมทะเลก็พัดไปหมดจนแทบจับ หรือวัดค่าไม่ได้ แต่จังหวัดลำปางมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ หากตั้งโรงไฟฟ้าก็จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น และ จ.ลำปางมีโรงไฟฟ้าของ กฟผ.แม่เมาะอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ลำปางเพิ่มอีก

อีกทั้งพื้นที่ ต.บ่อแฮ้วก็มีปริมาณขยะไม่ถึง 10 ตันต่อวัน ขณะที่โรงไฟฟ้าหากมีการสร้างขึ้นขั้นต่ำต้องใช้ขยะวันละกว่า 100 ตันขึ้นไป กล่าวคือ ขยะสด 300 ตันจะผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ หากโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นนั้นมีขนาด 6.5 เมกกะวัตต์ ก็จะต้องใช้ปริมาณขยะที่จะเข้ามาป้อนโรงงานแห่งนี้ถึง 1,800 กว่าตัน/วัน ซึ่งเมื่อดูปริมาณขยะรวมกันทั้ง จ.ลำปางแล้วมากสุดจะมีเพียงประมาณ 800 ตัน/วันเท่านั้น
 
ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นอีก และที่สำคัญการพูดเรื่องโรงไฟฟ้ากับคนลำปาง ซึ่งเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีก็จะสร้างแต่ความแตกแยก ดังนั้นคงไม่มีใครอยากสร้างความแตกแยกขึ้น

นายสุวิทย์ยังได้ฝากไปถึงผู้บริหาร อปท.ในพื้นที่ว่า ขอให้ดูอำนาจหน้าที่ของตนเองด้วยว่ามีอำนาจอนุญาตแค่ไหน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกท่านไม่มีอำนาจมากขนาดนั้น หากมีการอนุญาตไปแล้วเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ เพราะปัจจุบันรัฐบาลให้ประชาชนเป็นใหญ่

“ทางกรมควบคุมมลพิษก็ไม่สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่ภาคเหนือ และไม่สนับสนุนให้ขนขยะข้ามถิ่น ขยะบ้านใครคนนั้นต้องจัดการ เพราะมลพิษบ้านอื่น ก็คงไม่สนับสนุนให้มาจัดการ เรื่องของไม่ดีจะโยนให้คนอื่นรับผิดชอบแทนไม่ได้”

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะลำปางเกิดขึ้นหลังบริษัทวีพีเอ็น แอนด์ ไซมีสทริค จำกัด มีแผนจะเข้ามาซื้อที่นักการเมืองท้องถิ่น 120 ไร่ ห่างหมู่บ้านป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว ราว 300 เมตร โดยใช้ชื่อว่า “โรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังไอน้ำจากของเหลือใช้ ขนาด 6.5 เมกะวัตต์”

กำลังโหลดความคิดเห็น