xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.ติดตามปัญหาขยะยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอโอกาสมีส่วนร่วมจัดทำแผนบริหารจัดการในทุกขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เครือข่ายประชาชนศึกษา และติดตามปัญหาขยะ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอโอกาสประชาชนมีส่วนร่วมจัดทำแผนบริหารจัดการในทุกขั้นตอน

วันนี้ (18 พ.ย.) ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จากจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว สมุทรปราการ ราชบุรี และสระบุรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้มีตัวแทนจากพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ

โดยที่ผ่านมา พวกเราได้ติดตาม และเห็นด้วยต่อโรดแมป (Roadmap) การจัดการขยะของประเทศไทยโดยภาครัฐ ซึ่งภาครัฐนั้นได้เล็งเห็นเรื่องขยะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องลงมาแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคประชาชน ทางคณะ คสช.ยังได้ทำการอนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการในเรื่องของการกำจัดขยะนำร่องในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศ

โดยคิดว่าในช่วงเวลานี้เป็นระยะสำคัญของการออกแบบกลไก และกระบวนการปฏิรูปประเทศ เครือข่ายประชาชนฯ ได้ให้ความสำคัญในการเดินหน้าปฏิรูป จึงได้จัดทำข้อเสนอหารือต่อสาธารณะ ทั้งในเชิงหลักการ กลไก กระบวนการปฏิรูป และเนื้อหาการปฏิรูป เพื่อให้การปฏิรูป ที่ภาครัฐตั้งใจให้เกิดขึ้นนั้นสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

สาระสำคัญของข้อเสนอหารือมีดังนี้ คือ หลักการสำคัญของการปฏิรูปในเรื่องการจำกัดขยะอย่างยังยืน เนื่องจากปัญหาขยะได้เกิดขึ้นมา และสร้างปัญหาในการจัดการอย่างไม่มีระบบ ถึงแม้ภาครัฐในอดีตก็ได้หาแนวทางมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ กลับเป็นการย้ายปัญหาเท่านั้นเอง

ประกอบกับในการแก้ปัญหานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของผู้ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดขยะ เช่น ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม โดยคิดว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ของตนเอง แต่กลับมองว่าเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น เป็นหน้าที่ของรัฐ ปัญหาขยะในประเทศจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ดังนั้น เครือข่ายประชาชนฯ จึงเห็นสมควรที่ต้องให้ผู้ก่อกำเนิดขยะ หรือต้นเหตุของการมีขยะ เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูป เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะ และควรนำเสนอให้เป็นเจ้าของวาระการปฏิรูปร่วมกัน ไม่ควรให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีบทบาทในเชิงรับเหมา ขาดการเข้าร่วม และการตรวจสอบจากภาคส่วนอื่นๆ

โดยเฉพาะภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นทีี่่ที่ได้รับผลกระทบ และเห็นควรให้ขยายพื้นที่การมีส่วนร่วม ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีบทบาท และร่วมในภารกิจขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลไกการกำจัด โดยการสร้างโรงเผา และผลิตเป็นไฟฟ้านั้นเป็นข้อเสนอที่ดีประการหนึ่ง แต่ควรที่จะต้องมีกลไกในการควบคุมดูแลการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่น และต้องสามารถเข้าตรวจสอบได้โดยง่ายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการตรวจสอบจากภาคประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่

นอกจากนี้ กลไกการทำงานจะต้องมีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน และสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะมีขึ้นได้ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ไม่เกิดปัญหาของการจัดการขยะแบบเดิมๆ ในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ หากจะต้องมีการสร้างโรงเผาขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้าจริง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมรอบๆ โครงการมากน้อยเพียงใด ทางออกที่มีโอกาสเป็นไปได้ซึ่งเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชนสู่ภาครัฐ คือ การให้ภาครัฐจัดให้มีโครงการทดลองนำร่องเพียงภาคละ 1 แห่งก่อน ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้
 
โดยแต่ละพื้นที่รัฐจะต้องจัดหาพื้นที่ดินแปลงใหญ่ขนาด 1,000 ไร่ขึ้นไป เพื่อเป็นสถานที่จัดการขยะอย่างครบวงจร และต้องเป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลชุมชน และไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม โรงเผาขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้าจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องไม่เกิดผลกระทบเชิงลบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของคนที่อยู่รอบๆ พื้นที่ จัดให้มีบ่อฝังกลบขยะภายในพื้นที่ สำหรับฝังกลบขี้เถ้าที่เกิดจากการเผา และสำหรับฝังกลบขยะที่ไม่สามารถเผาได้ จัดให้มีแหล่งน้ำต้นทุนแบบหมุนเวียนเป็นของโครงการเอง อยู่ภายในพื้นที่ โดยไ่ม่ต้องแย่งน้ำกับแหล่งน้ำสาธารณะภายนอกพื้นที่

รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ร่วมในการสำรวจแหล่งที่ก่อเกิดขยะและบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และหลักวิชาการ ตลอดจนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมกับรัฐในการจัดทำแผนบริหารจัดการขยะในระดับจังหวัด และจัดทำแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศในทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการบริหารบ้านเมืองแบบการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น