xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมมลพิษประชุมจัดการขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย หน.ขรก.11 จังหวัดภาคกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สระบุรี - กรมควบคุมมลพิษ จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคกลาง ที่ห้องประชุมอาคารประมณฑ์ พลาสินธุ์ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี

วันนี้ (24 ก.ย.) ที่ห้องประชุมอาคารประมณฑ์ พลาสินธุ์ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 5, ภาค 6 และภาค 7 ร่วมจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายและการแก้ไขปัญหากำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องและตกค้างสะสมในพื้นที่วิกฤต ภายใต้โรดแมป (ROADMAP) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท ทั้งนี้ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมต้อนรับ และรับฟังการสัมมนา

นางสุณี ปิยะพันธ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เห็นความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศที่จะต้องแก้ไขโยเร่งด่วน และกำหนดให้เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ ได้ประชุมชี้แจงการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา

และได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำกำหนดมาตรการ แนวทางการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เห็นชอบต่อโรดแมป (ROADMAP) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย อันมีหลักการสำคัญ 4 ขั้นตอน คือ

1.การกำจัดขยะมูลฝอยเก่าตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤต 6 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี และสมุทรปราการ

2.สร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เหมาะสมเพื่อรองรับขยะใหม่ โดยเน้นการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง การจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม และการกำจัดโดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบผสมผสาน เน้นการแปรรูปเป็นพลังงาน หรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนมาลงทุน หรือร่วมลงทุน

3.วางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

4.การสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืนโดยการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน เยาวชน นักเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางจนถึงการกำจัดครั้งสุดท้าย ซึ่งกำหนดระยะเวลาดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ภายใน 6 เดือน (ปี 2557) ระยะปานกลาง ภายใน 1 ปี (ปี 2558) และยะยะยาว 1 ปีขึ้นไป (ปี 2559)

โดยการประชุมในวันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อชี้แจงรายละเอียดแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศให้แก่จังหวัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคกลาง ดำเนินการตามโรดแมป การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลทันที และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอย พร้อมจัดทำแผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในภาพรวมของจังหวัด เสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น